สมาคมโรงเรียนเอกชนสงขลาฯ ร้อง กกต.ดำเนินคดีโฆษกรัฐบาล ผิด กม.ประชามติ แถลงบิดเบือน เข้าข่ายชี้นำ แถลงรัฐบาลช่วยเด็กให้เรียนได้เกิน 12 ปี ขณะเดียวกัน กกต.เปิดโครงพิมพ์ร่าง รธน. เอกสารประกอบ เตรียมส่ง กรธ.-สนช.ล็อตแรกแสนชุด 25 พ.ค.นี้ ผอ.กองอาสาฯ มั่นใจศักยภาพโรงพิมพ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (23 พ.ค.) นายมังโสด มะเต๊ะ ที่ปรึกษาสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จ.สงขลา พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสมาคม ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผ่านนายพลวัฒน์ พิรติชัย ผอ.สำนักเลขานุการ สำนักงาน กกต. ว่า พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กระทำการผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 61 ที่เผยข้อความผิดไปจากข้อเท็จจริง และเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้เพื่อจูงใจให้ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ จากกรณีที่ พล.ต.สรรเสริญแถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่าภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐสามารถดำเนินการให้เด็กได้รับการศึกษาภาคบังคับเกินกว่าเวลา 12 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้
รวมทั้งยังได้แถลงว่านายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการไปจัดทำกฎหมายให้ชัดเจนเพื่อให้สังคมสบายใจและเชื่อมั่นว่ารัฐบาลนี้ต้องการสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาภาคบังคับตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 พร้อมกับดูแลการศึกษาระดับอนุบาล และยังระบุว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสมัยก่อนเป็นการประกาศนโยบายของพรรคการเมืองที่ไม่มีอะไรรองรับ
นายมังโสดกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 54 ได้บัญญัติว่ารัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งหมายความว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้จัดการด้านการศึกษาเป็นเวลา 12 ปีตายตัว แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 ที่บัญญัติว่าที่มีถ้อยคำว่า ไม่น้อยกว่า 12 ปี ดังนั้นในร่างรัฐธรรมนูญใหม่รัฐจะไม่สามารถขยายเวลาในการช่วยเหลือด้านการศึกษาเกินกว่า 12 ปี ได้ การแถลงว่าเป็นการประกาศนโยบายของพรรคการที่ไม่มีอะไรรองรับ ก็ไม่เป็นความจริง เพราะที่ผ่านมา พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติก็มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 มาโดยตลอด
การที่ พล.ต.สรรเสริญระบุว่าหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติก็สามารถไปแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติให้เพิ่มการศึกษาภาคบังคับจากมัธยมศึกษาปีที่ 3 ไปจนถึง ม.6 แต่จะแก้ไขได้อย่างไรเพราะจะเป็นการขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายแม่
“การมายื่นร้องครั้งนี้ไม่ใช่การตำหนิ แต่อยากให้รัฐชี้แจงข้อเท็จจริงแก่ประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญบอกอย่างไรก็ควรชี้แจงตามนั้น เพราะขณะนี้การทำความเข้าใจเนื้อหาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ จึงอยากให้ กกต.พิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายผิดกฎหมายประชามติที่เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือชี้นำให้ประชาชนออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ หากพบว่ามีความผิดขอให้ กกต.ใช้อำนาจตามกฎหมายดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีต่อ พล.ต.สรรเสริญ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน นายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้นำสื่อมวลชนเดินทางไปตรวจเยี่ยมการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารที่เกี่ยวข้องสำหรับการเผยแพร่ ที่โรงพิมพ์อาสารักษาดินแดน กรมการปกครอง อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี โดยมีนายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน กรมการปกครองให้การต้อนรับ
นายธนิศร์กล่าวว่า โรงพิมพ์ดังกล่าว กกต.ใช้วิธีกรณีพิเศษในการจัดจ้างสำหรับจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารที่เกี่ยวข้องที่ใช้งบประมาณ 58 ล้านบาท ต่ำกว่างบประมาณที่ กกต.ตั้งไว้ 30 ล้านบาท โดยจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ 1 ล้านเล่ม สรุปสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญทั้งเล่ม 1 เล่ม 2 อย่างละ 4 ล้านเล่ม และคำอธิบายคำถามพ่วงประชามติอีก 4 ล้านเล่ม ซึ่งจะมีการจัดเป็นชุด โดย 1 ชุด ประกอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญ 1 เล่ม สรุปสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญทั้งเล่ม 1 เล่ม 2 และคำอธิบายคำถามพ่วงประชามติอย่างละ 4 เล่ม ส่วนการส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารประกอบล็อตแรกในวันที่ 25 พ.ค. ซึ่งเป็นวันที่ กกต.จัดงาน “kick off 7 สิงหา ประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง” มีการเชิญปลัดกระทรวงทุกกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และภาคประชาชน เข้าร่วมงามกว่า 1,000 คน และจะมีการเปิดตัวมาสคอตที่เป็นหนุมาน และเพลงที่ใช้ในการรณรงค์ประชามติด้วย
“ล็อตแรกจะจัดส่ง 100,000 ชุด ขณะนี้จัดพิมพ์แล้วเสร็จและพร้อมที่จะจัดส่งให้กับ กรธ. และ สนช.อย่างละ 50,000 ชุด ส่วนที่เหลืออีก 900,000 ชุดและจะมีการจัดพิมพ์เพิ่มจนแล้วเสร็จในวันที่ 22 มิ.ย. และไปรษณีย์ก็จะจัดส่งไปยังส่วนราชการ สถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์ศึกษาประชาธิปไตยระดับตำบลของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 26 มิ.ย. ยืนยันว่าประชาชนจะมีเวลาศึกษาร่างรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 1 เดือนเศษ”
ทั้งนี้ ส่วนของบุ๊กเล็ต หรือจุลสาร ที่จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการขั้นตอนการทำประชามติ สรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง รวมทั้งวิธีการใช้แอพพลิเคชั่น ที่ กกต.จะจัดพิมพ์จำนวน 12 หน้า 4 สี จำนวน 17 ล้านฉบับ เพื่อแจกจ่ายไปยังครัวเรือนต่างๆ พร้อมกับหนังสือแจ้งเจ้าบ้านก่อนวันออกเสียงประชามติ 15 วันนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการจัดหาโรงพิมพ์ ขณะที่บัตรออกเสียงนั้นยังอยู่ระหว่างการยื่นซองประกวดราคา
ด้านนายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน กล่าวว่า ในส่วนของโรงพิมพ์ได้มีการร่วมมือกับทาง กกต.ในการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ทะเบียนรายชื่อ และบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาโดยตลอด ทั้งนี้ มั่นใจว่าโรงพิมพ์อาสารักษาดินแดนสามารถจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารประกอบ นำไปสู่การทำประชามติตามเป้าหมายที่รัฐบาลและ กกต.กำหนดไว้ ดังนั้นจะไม่ทำให้ผู้รับมอบหมายผิดหวังแน่นอน