เมืองไทย 360 องศา
ผ่านมาจนถึงวันนี้ ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็จะครบ 2 ปี ของการรัฐประหารเข้ามาควบคุมอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเมื่อถึงวันครบรอบดังกล่าวก็ถึงเวลาที่ต้องมาสรุปผลงานและความคืบหน้าต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไร เพราะพวกเขาเข้ามาทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง ก็ย่อมมีผลกระทบต่อชาวบ้านโดยรวมอยู่แล้วไม่ว่าทางบวกหรือลบ
นาทีนี้หากกล่าวกันแบบตรงไปตรงมา ก็ต้องบอกว่าผลงานโดยรวมของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภายใต้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยังถือว่าอยู่ใน “ระดับพื้น ๆ” ไม่ได้อยู่ในระดับที่เรียกว่าน่าประทับใจ หากพิจารณาจากอำนาจในมือแบบเบ็ดเสร็จ ถือว่าโดยรวมผลงานยัง “ผิดความคาดหวัง” และแนวโน้มจะห่างไกลความคาดหวังออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งกรณีหลังนี่แหละชักเริ่มอันตรายกว่าเดิม
แน่นอนว่า หากพิจารณาเฉพาะผลงานทางด้านเศรษฐกิจอาจมีตัวแปรเข้ามาจนอ้างได้ว่าเป็นสาเหตุทำให้ผลงานออกมาไม่ดี นั่นคือ ภัยแล้ง และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซาต่อเนื่อง ซึ่งด้วยความเป็นธรรมก็ต้องรับฟัง เพราะมันเป็นแบบนั้นจริง ๆ แต่มันก็ไม่ใช่ข้ออ้างว่าปัญหาดังกล่าวทำให้เป็นอุปสรรคทั้งหมด เพราะในฐานะนักบริหารต้องสามารถหาวิธีการแก้ปัญหาในภาวะวิกฤตหรือมีข้อจำกัดได้
อย่างไรก็ดี ก็ต้องยอมรับกันว่าด้วยภัยธรรมชาติ ภัยแล้งดังกล่าวมีผลกระทบต่อเรื่องปากท้อง และค่าครองชีพของชาวบ้านแบบเลี่ยงไม่ได้ แต่ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็ต้องพิจารณากันถึงประสิทธิภาพและความฉับไวในการแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงทีแค่ไหน ก็ต้องยอมรับความจริงว่ายังมีปัญหามากพอสมควร และไม่ได้ต่างจากในยุคก่อน หรือรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เพราะก่อนหน้านี้ ก็มีเสียงโวยวายออกมาจากปากของ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า การเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานราชการยังล่าช้า ทำให้การใช้เม็ดเงินจากภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แม้ว่าในระยะหลังเริ่มดีขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังมีปัญหา ทำให้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาติดตามการทำงานและประเมินผลของข้าราชการ โดยมอบหมายให้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายเป็นผู้กำหนดระเบียบและมาตรการในการกำกับดูแล โดยจะเริ่มพิจารณาประเมินผลข้าราชการทั่วประเทศให้ทันการแต่งตั้งโยกย้ายในปีงบประมาณนี้
สำหรับสาเหตุที่ต้องมีมาตรการควบคุมดังกล่าวก็มาจากการไร้ประสิทธิภาพของข้าราชการบางส่วน และที่สำคัญ ยังมีพวก “เกียร์ว่าง” จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ถึงกับทนไม่ไหวต้องออกปากเตือนว่า “ไม่ต้องรอนายเก่า”
นั่นคือ ปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้รัฐบาลและคณรักษาความสงบแห่งชาติประสบอยู่ ส่วนจะเป็นเหตุที่ทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและเรื่องปากท้องของแพงยังไม่เป็นที่พอใจของชาวบ้าน แต่อย่างไรก็ดีทุกอย่างก็วัดกันด้วยผลงานที่เห็นกันอยู่ตรงหน้า ว่าเป็นอย่างไร ก็ต้องบอกตรง ๆ ว่า ผ่านมาสองปีเต็ม ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติจนกระทั่งเป็นรัฐบาลผลงานถือว่า “ยังพื้น ๆ” ยังไม่โดดเด่นน่าประทับใจ เมื่อพิจารณาจากอำนาจสิทธิ์ขาดที่มีผลเต็มมือ และที่สำคัญ ไม่มีฝ่ายค้านคอยขัดแข้งขัดขา ให้รำคาญใจเหมือนในอดีต เมื่อออกมาอย่างเห็นแม้จะพูดว่าน่าผิดหวังไม่ได้เต็มปาก แต่ก็ทำให้ความศรัทธาและความเชื่อมั่นลดลงไปมาก
อีกด้านหนึ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่เป็นความต้องการของชาวบ้านส่วนใหญ่เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ตื่นตัวทางการเมือง มีพลังในทางสังคม คนกลุ่มนี้มักออกมาทวงถามความยุติธรรมในสังคมและการใช้อำนาจรัฐอยู่เสมอ และที่ผ่านมา สามารถสร้างแรงกดดันจนสั่นสะเทือนมาแล้วหลายรัฐบาล และครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันพวกเขาคาดหวังกับการปฏิรูปกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พวกเขาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปในเรื่องสำคัญเพียงแค่บางเรื่อง เช่น การปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปการเลือกตั้ง ปฏิรูปด้านพลังงาน แต่ความต้องการเร่งด่วนที่สุด คือ การปฏิรูปตำรวจ เนื่องจากเห็นว่าเป็นต้นตอของปัญหาในบ้านเมือง ต้นตอความวุ่นวายไร้เสถียรภาพ แต่กลายเป็นว่าไม่มีความคืบหน้า มิหนำซ้ำที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยย้ำให้เห็นว่าจะไม่ปฏิรูปตำรวจในรัฐบาลของเขา ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลหน้า แม้ว่าในระยะหลังเริ่มเปลี่ยนท่าทีบ้าง แต่ก็ไม่มีหลักประกันอะไรมากนัก สิ่งที่เห็นในวันนี้ก็คือการเปลี่ยนตัวระดับผู้บริหารในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนถูกมองว่า “เอาคนของตัวเอง"เข้าไปสวมแทนเท่านั้น ขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ของตำรวจในเวลานี้ยังถือว่า “ยังติดลบ” ถูกวิจารณ์การทำงานเป็นรายวัน ซึ่งกรณีดังกล่าวนี่แหละที่ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยรวมด้วย
ดังนั้น เมื่อพิจารณาในภาพรวม ๆ สำหรับ รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านมาครบสองปีนับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันนี้ครบสองปีเต็ม ประเมินผลงานแล้วทุกด้านก็ต้องพูดตรง ๆว่ายังไม่น่าประทับใจ ผลงานยังพื้น ๆ ไม่สมกับอำนาจที่มีอยู่ในอย่างเบ็ดเสร็จ ยังไม่สมกับความคาดหวังของชาวบ้านตั้งแต่แรก อย่างไรก็ตาม ในสภาพความเป็นจริงแม้ว่าเรตติ้งของผู้นำและรัฐบาล คสช. จะลดลง แต่ก็ถือว่ายังไม่ตกต่ำถึงขั้นวิกฤต เพียงแต่ว่าหากเป็นแบบนี้ต่อไปมันก็น่าเป็นห่วง เพราะอาจเป็นเงื่อนไขแทรกซ้อนแบบไม่คาดหมายตามมาได้เหมือนกัน !!