ศอตช. สางปมทุจริตติดตั้งเครื่องบรรจุนมไฮสปีด ของ อ.ส.ค. มวกเหล็ก สระบุรี ผู้ร้องเรียนชี้กำลังการผลิตปัจจุบัน สวนทางกับแนวคิดเพิ่มกำลังการผลิต และเครื่องจักรเดิมรองรับได้อีกอยู่แล้ว ชี้ชัดมุ่งหาผลประโยชน์จากการเช่า ด้าน ผอ.อ.ส.ค. แจงเครื่องจักรใกล้จะเต็มศักยภาพ น้ำนมดิบเพิ่มขึ้น 10% ย้ำไม่ได้ทุจริต รวบรัดตัดตอนผิดปกติ จ่อชี้แจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
วันนี้ (12 พ.ค.) ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ศอตช. ได้ตรวจสอบโครงการติดตั้งเครื่องบรรจุไฮสปีด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตนมขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) มวกเหล็ก จ.สระบุรี และได้เชิญ นายโรจน์ สุมงคลกุล ผู้ร้องเรียนเรื่องดังกล่าวมาให้ข้อมูล
โดย นายโรจน์ ระบุว่า อ.ส.ค. ริเริ่มโครงการเช่าเครื่องผลิตนมยูเอชที เพิ่มกำลังผลิตไม่น้อยกว่า 23,000 กล่องต่อชั่วโมง จำนวน 3 เครื่อง รวม 69,000 กล่องต่อชั่วโมง มีผลให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 80 เปอร์เซ็นต์ ด้วยข้ออ้างกับบอร์ด อ.ส.ค. ว่า ปี 2560 จะมีน้ำนมดิบ 320 ตันต่อวัน ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะนมดิบปัจจุบัน มีเพียง 250 ตันต่อวัน ปริมาณการเติบโตนมดิบเพิ่มขึ้นปีละ 6 - 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
อีกทั้งเครื่องจักรที่ผลิตอยู่ในปัจจุบันมีการใช้งานเพียง 70 - 80 เปอร์เซ็นต์ ยังสามารถรองรับปริมาณนมดิบได้อีก 20 เปอร์เซนต์ จึงขัดกับข้อเท็จจริง และแสดงให้เห็นว่าโครงการนี้ มุ่งแสวงหาผลประโยชน์จากการเช่าเครื่องจักร มากกว่าความจำเป็น และไม่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณนมดิบ และเอกชนเสนอเพิ่มกำลังผลิตเป็น 180,000 กล่องต่อชั่วโมง โดย นายนพดล ตันวิเชียร รักษาการ ผอ.อ.ส.ค. อนุมัติเห็นชอบแล้ว ต่อมามีความพยายามให้บอร์ด อ.ส.ค. กลับมาพิจารณาโครงการนี้อีกครั้ง จนกระทั่งเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา บอร์ด อ.ส.ค. ได้อนุมัติเช่าเครื่องจักร ผูกพันเป็นระยะเวลา 7 ปี วงเงิน 420 ล้านบาท ค่ากระดาษผลิตกล่องปีละกว่า 300 ล้านบาท ทำให้โครงการนี้มีมูลค่าสูงกว่า 3,000 ล้านบาท
นายโรจน์ กล่าวว่า กระบวนการมีการรวบรัดเริ่มจาก 19 มี.ค. ทาง อ.ส.ค. เซ็นสัญญาอนุมัติข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง (ทีโออาร์) และเชิญบริษัทจำหน่ายเครื่องจักร 2 ราย มารับเอกสารทีโออาร์ วันที่ 23 มี.ค. โดยกำหนดกรอบเวลา คือ วันที่ 25 มี.ค. ดูสถานที่ตั้งเครื่องจักร 10 วัน คือ วันที่ 4 เม.ย. ให้ทำการยื่นเสนอราคา พร้อมประกาศผลในวันเดียวกัน และต่อมาวันที่ 27 เม.ย. มีการลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง กำหนดส่งมอบเครื่องจักรใน 270 วัน ส่วนเอกชนคู่สัญญาเดิม ได้มีหนังสือจากหัวหน้าสำนักงาน อ.ส.ค. ภาคกลาง ให้ชะลอแผนขยายกำลังการผลิตที่ได้รับความเห็นชอบไปก่อนหน้านี้แล้ว
ด้าน นายณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผอ. อ.ส.ค. ชี้แจงกับสื่อมวลชน ว่า ในแต่ละปีปริมาณน้ำนมดิบจากฟาร์มของ อ.ส.ค. และจากสมาชิกสหกรณ์ จะเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เครื่องจักรที่มีอยู่ ผลิตได้ในประมาณที่ใกล้จะเต็มศักยภาพ จึงจำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงไม่ให้น้ำนมดิบของสมาชิกตกค้าง อีกทั้งโครงการดังกล่าวทาง บอร์ด อ.ส.ค. รับทราบมาทุกยุคทุกสมัย แต่ไม่มีชุดไหนตัดสินใจ กระทั่งตนเข้ามาดำรงตำแหน่งจึงได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง จนบอร์ดชุดปัจจุบันเห็นชอบให้ดำเนินการเช่าเครื่องจักรได้ และโครงการนี้ อ.ส.ค. ไม่ได้จ่ายเงินเพื่อการลงทุนติดตั้งเครื่องจักร 420 ล้านบาท ไม่ใช่งบลงทุน แต่เป็นการเช่าเครื่องจักร ดังนั้น จึงไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบ
“ยุคนี้ไม่มีใครกล้าทำเรื่องทุจริต และได้ย้ำกับเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ว่า ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างโปร่งใส การจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ได้รวบรัดขั้นตอนอย่างผิดปกติ การลงนาม และการเปิดทีโออาร์ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับใคร มีเจตนาให้แข่งขันโดยเสรี โดยการประมูลในครั้งนี้ กว่าจะติดตั้งเครื่องแล้วเสร็จต้องใช้เวลาเป็นปี” นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าวและว่า ตนได้เตรียมเอกสารทั้งหมดเพื่อเข้าชี้แจงต่อ ป.ป.ท. และดีเอสไอแล้ว รวมถึงจะเข้าชี้แจงต่อ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ด้วย