กกต.ยันแจ้งความเอาผิดเฟซบุ๊กป่วนประชามติ ไม่ถือว่ากดดัน กกต.คนอื่น ชี้โทร.คุยโฆษก กรธ.แล้ว ยันไมได้พูด เตรียมนำกรณีทหารนครสวรรค์แจกใบปลิวเชิญชวนรับร่างฯ เข้าถกพรุ่งนี้ ชี้ จนท.รัฐ-คนในรัฐบาล เชิญชวนรับหรือไม่รับร่างฯ ไม่ได้ เข้าข่ายเป็นความผิด ด้าน กกต.เปิดลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขตจังหวัด 3 ทาง แจงไม่มีวิ่งเต้นจัดพิมพ์บัตรออกเสียงประชามติ
วันนี้ (28 เม.ย.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง แถลงว่าได้คุยโทรศัพท์กับนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หลังมีข่าวว่าออกมาระบุว่าตนทำผิดกฎหมายในกรณีที่ไปแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ที่โพสต์ข้อความเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ โดยนายอุดมยืนยันว่าไม่ได้พูดตามที่เป็นข่าว ทั้งนี้ การแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษนั้นสามารถแยกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มแรก การคัดค้านการออกเสียงประชามติเนื่องจากมีการทุจริต กรรมการไม่เป็นกลาง มีการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้จัดการออกเสียงใหม่ในบางพื้นที่ ซึ่งจะต้องเข้าสู่ที่ประชุม กกต. ส่วนเรื่องทำผิดอาญาไม่จำเป็นต้องเข้าสู่ที่ประชุม กกต. ดังนั้นการที่ตนไปแจ้งความจึงไม่ผิดกฎหมายอย่างที่กล่าวหา โดยประชาชนก็สามารถใช้สิทธิดำเนินคดีได้ด้วยตัวเองเช่นเดียวกัน
“ที่มีข่าวว่าผมถูก กกต.คนอื่นตำหนิว่าออฟไซด์ก็ไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีการพูดเรื่องนี้ กกต.ทุกคนเข้าใจตรงกัน และคิดว่าที่ตัวเองทำก็ไม่ได้ไปกดดัน กกต.คนอื่น ถ้าท่านเห็นก็คงไปแจ้งความ หรืออาจจะไม่เห็นก็ได้ ซึ่งแม้ กกต.จะทำงานในรูปคณะกรรมการ แต่ส่วนตัวก็ยังมองว่าเมื่อเราเป็นเจ้าพนักงานพบว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นยิ่งต้องดำเนินการ” นายสมชัยกล่าว
ส่วนการดำเนินการกรณีมีการร้องเรียนความผิดคดีอาญาในอนาคต นายสมชัยกล่าวว่า คาดว่าในการประชุม กกต.วันพรุ่งนี้ (29 เม.ย.) นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.ด้านสืบสวนวินิจฉัยจะได้ชี้แจงวิธีดำเนินการที่ชัดเจน รวมถึงประธาน กกต.ก็จะมีการแถลงประกาศ กกต.ที่เกี่ยวกับอะไรทำได้ไม่ได้ในการออกเสียงประชามติ
นายสมชัยกล่าวยังกล่าวถึงการจับกุมผู้กระทำผิดในคดีที่ตนเองไปแจ้งความว่า เมื่อมีการสารภาพก็ถือว่าจบ ซึ่งถือว่าคดีนี้เป็นตัวอย่างเป็นอุทาหรณ์แก่ประชาชนทั่วไปว่าการแสดงความเห็นรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทำได้ แต่ต้องไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย รุนแรง ที่เข้าองค์ประกอบความผิด ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าทหาร จ.นครสวรรค์ แจกใบปลิวเชิญชวนให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิพร้อมกับ “รับร่างรัฐธรรมนูญ” ตนเองทราบจากข่าว แต่จะรวบรวมข้อมูลเสนอต่อที่ประชุม กกต.พรุ่งนี้ พิจารณาว่าเป็นความผิดหรือไม่ แต่ทั้งนี้ ตามกฎหมายเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถรณรงค์ให้มีการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้ แม้จะแสดงความเห็นในนามส่วนตัว ก็ควรระมัดระวัง เพราะมีตำแหน่งหน้าที่อยู่ อย่างเช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดจะไปเชิญชวนประชาชนออกมาใช้สิทธิ โดยให้รับหรือไม่รับไม่ได้ หรือแม้แต่คนในรัฐบาลก็ด้วย
นายสมชัยปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้องค์กรต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์การลงประชามติ ว่าจะเป็นการชี้นำหรือกดดัน กกต.หรือไม่ โดยยืนยันว่า กกต.จะพิจารณาตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้มีองค์กรสังเกตการณ์นานาชาติมีหนังสือเชิญประธาน กกต.ไปบรรยายเกี่ยวกับกระบวนการออกเสียงประชามติในวันที่ 4 พ.ค.ก็จะมีการนำเข้าที่ประชุมเพื่อตัดสินใจร่วมกัน อย่างไรก็ตาม หากต่างชาติเข้ามาดูก็ถือว่าเป็นเรื่องโปร่งใส เรียนรู้ระบบงาน ไม่ถือเป็นการแทรกแซง แต่เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้ ในการแถลงข่าวนายสมชัยได้สาธิตการเข้าเว็บไซต์ http://election.dopa.go.th ที่ กกต. เปิดให้มีการลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัดผ่านทางอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก พร้อมทั้งแสดงสิ่งอำนวยความสะดวกที่ กกต.จะจัดให้กับคนพิการ ผู้สูงอายุ หรือทุพพลภาพในหน่วยเลือกตั้งพิเศษ ซึ่งนายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รักษาการเลขาธิการ กกต.ได้แถลงในประเด็นดังกล่าวว่า กกต.ได้เเห็นชอบประกาศ กกต.3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัด และการตั้งหน่วยออกเสียงพิเศษสำหรับผู้พิการ ทุพลภาพและผู้สูงอายุ
โดยในส่วนขอใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัดนั้น กกต.กำหนดไว้ 3 วิธี คือยื่นขอใช้สิทธินอกเขตจังหวัดด้วยตนเองหรือมอบอำนาจโดยยื่นกับนายทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - 7 ก.ค. ยื่นผ่านทางไปรษณีย์ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - 30 มิ.ย. และยื่นผ่านทางอินเทอร์เน็ตที่ http://election.dopa.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - 30 มิ.ย. รวมทั้งในการออกเสียงครั้งนี้สองจังหวัด คือ ลพบุรี และปราจีนบุรี จะมีการนำเครื่องอ่านบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด มานำร่องอำนวยความสะดวกให้กับผู้ออกเสียง
สำหรับการจัดหน่วยออกเสียงพิเศษสำหรับคนพิการ ทุพพลภาพ และผู้สูงอายุนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - 30 มิ.ย. สำนักงาน กกต.จังหวัดทุกแห่งจะเปิดให้องค์กรที่เกี่ยวข้องซึ่งรวบรวมคนกลุ่มดังกล่าว ทั้งที่เป็นสมาชิกหรือไม่เป็นสมาชิกได้ 100 คน ยื่นขอจัดตั้งหน่วยออกเสียงพิเศษ และเมื่อ ผอ.กต.จว.ประกาศให้มีหน่วยออกเสียงพิเศษ ก็จะมีการเปิดลงทะเบียนอีกรอบจนถึงวันที่ 7 ก.ค. เพื่อให้บุคคลกลุ่มนี้ที่ยังไมได้ลงทะเบียนมายื่นแจ้งความจำนงขอใช้สิทธิยังหน่วยออกเสียงพิเศษดังกล่าว ซึ่งจะมีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ให้ทั้งคูหา รถวีลแชร์ ไม้เท้า แว่นขยาย โดย กกต.จะมีการสาธิตการออกเสียงในหน่วยออกเสียงทั้งปกติและหน่วยพิเศษในวันที่ 16 พ.ค.
นายบุณยเกียรติยังได้ชี้แจงด้วยว่า ขณะนี้ กกต.อยู่ระหว่างการให้คณะกรรมการของไปตรวจสอบศักยภาพ ของโรงพิมพ์รัฐที่มีการเสนอราคาต่ำสุดในการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ สรุปสาระสำคัญ 2 เล่ม และประเด็นคำถามของ สนช. หากมีการจัดจ้าง คาดว่าจะเริ่มจัดพิมพ์ประมาณต้นเดือน พ.ค.นี้ และจัดส่งในงวดแรกจำนวนหนึ่งแสนชุดได้ในวันที่ 23 พ.ค. ส่วนที่มีข่าวว่ามีการวิ่งเต้นเรื่องการจัดพิมพ์บัตรออกเสียงฯ นั้น กกต.มีนโยบายให้มีการประกวดราคา แต่ชณะนี้เพิ่งอยู่ในชั้นกำหนดขอบเขตทีโออาร์ โดยบัตรที่จะจัดพิมพ์มีทั้งสิ้น 54 ล้านฉบับ เป็นการพิมพ์เกินกว่าจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงที่มี 50.5 ล้านเศษ อยู่ร้อยละ 7.94