xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” พร้อมคุย “เสรี” บอกพร้อมรับฟังประเด็นสร้างความปรองดอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ พร้อมคุย “เสรี” มาตรการรอการกำหนดโทษ บอกอะไรที่สร้างความปรองดองพร้อมรับฟัง ส่วนความเป็นไปได้ต้องดูรายละเอียด และเป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ พร้อมปฏิเสธไม่ให้ใช้ ม.44 พักงาน “สุขุมพันธุ์”

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นัดหารือเรื่องมาตรการรอการกำหนดโทษว่า ยังไม่ได้มีการประสานมา ส่วนแนวทางดังกล่าวยังตอบไม่ถูกว่าคืออะไร แล้วจะทำอะไรกัน แต่เคยเจอนายเสรีที่งานเลี้ยงได้มีการเล่าให้ตนฟังย่อๆ ตนบอกว่าลองศึกษาและเสนอมา อะไรเป็นแนวทางการสร้างความปรองดองรัฐบาลยินดีรับฟังทั้งนั้น เพราะเป็นนโยบายหนึ่งของรัฐบาลที่จะต้องดำเนินการอยู่แล้ว ในส่วนของรัฐบาลเองคิดอยู่ว่าอยากจะฟังของ สปท. เมื่อนายเสรีเป็นประธาน กมธ.ด้านนี้ ถ้าศึกษาได้ดีแล้ว ตกผลึกแล้ว ชัดเจนแล้วให้เสนอมา แต่ข้อสำคัญคือจะต้องได้รับการยอมรับพอสมควรด้วย เพราะเมื่อคิดจะปรองดองแต่วิธีคิดยังไม่ทันได้ จะเป็นความแตกแยกใหม่ต่อไปซึ่งไม่สมควร แต่เท่าที่ทราบ ขณะนี้ทาง กมธ. ยังอยู่ในช่วงที่พยายามระดมความเห็น ขนาดสมาชิก สปท.ที่เป็น กมธ.คณะเดียวกันแท้ๆ ยังไม่ได้มีการคุยกันเป็นเรื่องเป็นราว ดังนั้นรัฐบาลยิ่งไม่สามารถพูดอะไรได้ตอนนี้

นายวิษณุกล่าวว่า ถ้านายเสรีนัดมายินดีให้มาพบ แต่ส่วนใหญ่เป็นการรับฟังแนวทาง ช่วยกันคิดแนวทางถึงความเป็นไปได้ แต่ถ้าเป็นไม่ได้ตนคงต้องบอกให้เขาทราบ เพราะในส่วนรัฐบาลนั้นจะติดอยู่ 3 ข้อ คือ 1. กระบวนการและวิธีการ 2. เวลาที่เหมาะสม และ 3. การยอมรับจากประชาชนมีมากเพียงพอหรือไม่ พักนี้จะโยนหินถามทางอะไรก็ทำไปเถอะ ไม่เป็นไร เพราะเป็นหลักการที่ดีที่จะสร้างความปรองดอง แต่เท่าที่ฟังดูยังมีคนเห็นแย้งอยู่ และไม่แน่ใจว่าวิธีการที่นำเสนอออกมาเป็นเรื่องที่ตั้งใจจะเอาจริงหรือเป็นแค่ถามสุ่มๆ ไปอย่างนั้น เพราะปัญหาจะติดอยู่ตั้งแต่ว่าจะดำเนินการโดยให้คดีใดเข้ามาอยู่ในข่ายบ้าง ให้บุคคลกระทำผิดประเภทใดบ้าง และรายละเอียดกระบวนการเป็นอย่างไร เนื่องจากพอใช้คำว่าชะลอการกำหนดโทษ หรือพักลงโทษ ตรงนี้ความหมายจะต่างจากอภัยโทษหรือนิรโทษกรรม ที่หมายความว่าการที่เคยทำไปแล้วไม่เป็นความผิดหรือผิดแต่ไม่มีโทษ ไม่ต้องไปศาล ซึ่งเป็นแนวคิดที่คนคัดค้านกันอยู่ ทำมาแล้วไม่สำเร็จ

“วันนี้นายเสรีเลยมาคิดแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้ไปถึงศาล ให้ไปยืนสารภาพต่อศาลว่าผิดไปแล้ว และกำหนดเงื่อนไขว่าอย่าทำผิดซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีมา แต่พอพูดว่าต้องไปศาลก็มีปัญหาแล้ว เพราะถ้าถามรัฐก็ชอบ แต่ถามอีกฝ่ายเขาอาจไม่ชอบ หรือเมื่อพูดถึงจะต้องให้มาสารภาพผิดในแง่ของรัฐก็ชอบ แต่ในแง่ของอีกฝ่ายถ้าเขาถือว่าเขาบริสุทธิ์ก็ไม่ชอบ ดังนั้นคงจะให้ทางฝ่ายผู้เสนอคิดให้หมดครบทั้งกระบวนการ แต่ถ้าจะคุยกับตนก่อนก็ไม่ขัดข้อง”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามกฎหมายเรื่องการพักโทษขึ้นอยู่กับศาลอยู่แล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ทราบว่ากฎหมาย กมธ.จะเขียนอย่างไร อาจจะเขียนว่าถ้าทำแบบนี้แล้วศาลต้องพักโทษเสมอไปหรือไม่ ถ้าเขียนอย่างนั้นจะเป็นการบังคับศาลหรือไม่ เรื่องดุลยพินิจของศาลก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าศาลไม่ยอมคือไม่ยอม เมื่อนายเสรีใช้คำว่ารอการกำหนดโทษ คำนี้นักกฎหมายเข้าใจ เป็นสองคำฝาแฝดคู่กันกับคำว่ารอการลงโทษ โดยคำว่ารอการลงโทษหมายความว่าผิดแล้วสั่งว่าจำคุกกี่ปี โดยรอลงอาญา ส่วนคำว่ารอการกำหนดโทษในกฎหมายมี ศาลจะตัดสินว่าผิดแต่ยังไม่ได้กำหนดว่าโทษเท่าไร แต่กลับไปบ้านอย่าทำผิดอีก ถ้าทำผิดอีกศาลจะเรียกกลับมา และจะกำหนดโทษเก่าบวกสมทบไปกับกำหนดโทษใหม่ ปัจจุบันมีการทำกันอยู่ แต่ทำเป็นรายคดี ไม่ได้เป็นหมู่ ซึ่งนายเสรีจะเอามาทำเป็นหมู่เพื่อสร้างความปรองดอง แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นไปได้หรือไม่ ให้เขาพูดกันให้ตกผลึกก่อน

เมื่อถามถึงการใช้มาตรา 44 นายวิษณุกล่าวว่า วันนี้อย่าเพิ่งพูดถึงมาตรา 44 เพราะมาตรดังกล่าวเป็นวิธีการ เอาไว้ค่อยพูดกันทีหลัง จะมาตราไหน จะเป็น พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. เอาไว้ว่ากันเมื่อหลักมันจบเสียก่อน เมื่อถามว่า มองดูแล้ว รอบนี้จะแท้งอีกหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ

นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีที่มีการเสนอให้ใช้มาตรา 44 พักงาน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สรุปว่าโครงการประดับไฟลานคนเมืองมูลค่า 39 ล้านบาทส่อทุจริตว่า การที่ตนพูดว่ายังไม่ถึงเวลาจะใช้มาตรา 44 ไม่ใช่แปลว่าจะไม่ใช้ แต่ความหมายคือ มาตรา 44 เป็นเรื่องของวิธีการ อย่าเพิ่งเอาวิธีการมาพูด แต่ต้องพูดกันเสียก่อนว่าเขาผิดหรือไม่ เข้าข่ายหรือไม่ น่าจะหรือไม่ เสร็จแล้วไม่มีทางอื่นค่อยมาพูดกันถึงมาตรา 44 เรื่องอย่างนี้ไม่ใช่สองมาตรฐาน ที่ผ่านมาที่มีการพักงานหรือย้ายงานไม่ใช่เป็นเรื่องที่พอเกิดขึ้นแล้วลงมือเลย แต่ต้องว่ากันไปให้ได้ความเสียก่อน ดังนั้น ที่มีการย้ายงานหรือพักงานที่ผ่านมาเขากล่าวหากันมาหลายปีแล้วทั้งนั้น เพียงแต่นั่งทับตำแหน่งอยู่โดยไม่ขยับเขยื้อน ไม่มีการตรวจสอบ กระทั่งหน่วยงานตรวจสอบไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว จึงใช้มาตรา 44 แต่วันนี้มันอยู่ในลักษณะที่พอเริ่มตีระนาดแล้วถามว่าเมื่อไรจะเอามารำเสียที ซึ่งยังไม่ถึงเวลานั้น ไม่ใช่จะไม่ทำ ถ้าจำเป็นก็ทำ


กำลังโหลดความคิดเห็น