เมืองไทย 360 องศา
ต้องเรียกว่าน่าจับตาทีเดียวกับความเคลื่อนไหวของ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่รับลูกรับพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของ 4 จำเลยคนสำคัญในคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดยให้ถอนฟ้องจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดที่แล้ว ฟ้องเอาไว้ และศาลฎีกาฯได้รับฟ้อง และเริ่มไต่สวนกันไปแล้ว
สำหรับ 4 จำเลย ดังกล่าวประกอบด้วย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
ล่าสุด เมื่อวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้ส่งคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาคดีดังกล่าว และ ส่งให้ ประธาน ป.ป.ช. คือ พล.ต.อ.วัชรพล ลงนามแต่งตั้งแล้ว โดยคณะทำงานชุดนี้จะมีจำนวนประมาณ 14 - 15 คน จะมาจากที่ปรึกษาด้านคดีของกรรมการ ป.ป.ช. และผู้บริหารระดับสูงของ ป.ป.ช. ซึ่งขั้นตอนหลังจากที่ ประธาน ป.ป.ช. ลงนามแต่งตั้งแล้วก็จะเริ่มพิจารณาให้ทันตามกรอบเวลาภายในเดือนพฤษภาคมนี้
นั่นก็หมายความว่า เริ่มมีความเคลื่อนไหวแบบคืบหน้าสำหรับคดีที่สร้างความเจ็บปวด กระทบกับความรู้สึกของบรรดาญาติ ๆ และชาวบ้านที่ร่วมชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่ใช้อำนาจมิชอบในตอนนั้น ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวก็ย่อมได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิดจากผู้ที่ติดตามการเมือง และย่อมมองออกว่า “มันมีพิรุธ” แน่นอน ส่วนเหตุจูงใจ หรือที่มาที่ไปของความเคลื่อนไหวแบบนี้มาจากใครกันแน่ก็น่าจะพอคาดเดากันได้
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากขั้นตอนของคดีนั้นถือว่า “ไปไกล” แล้ว เนื่องจากคดีอยู่ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และกำลังอยู่ในขั้นตอนการไต่สวน หลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดก่อนมีมติส่งฟ้องทั้งสี่คนดังกล่าวต่อศาล
แม้ว่า พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. คนปัจจุบัน จะอ้างว่า มีการร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากผู้ที่ถูกฟ้องทั้งสี่คน และนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จากนั้นมีมติจากคณะกรรมการที่เข้าประชุมทั้งหมด 7 คน ด้วยมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้รับเรื่องพิจารณา จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาว่าเป็นข้อเท็จจริงใหม่ และนำไปสู่การขอถอนฟ้องต่อศาลได้หรือไม่ต่อไป
ดังนั้น หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวที่เห็นในตอนนี้ หลังจากการเปิดเผยของเลขาฯ ป.ป.ช. สรรเสริญ พลเจียก ที่บอกว่าได้เสนอชื่อคณะทำงานพิจารณาคดีจำนวน 14 - 15 คนต่อ ประธาน ป.ป.ช. ให้ลงนามแต่งตั้ง จากนั้นก็จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายในเดือนนี้ตามกรอบเวลาที่ ประธาน ป.ป.ช. กำหนดเอาไว้
อย่างไรก็ดี หลายคนเริ่มมองเห็นถึงความผิดปกติดังกล่าวนี้ และยิ่งได้เห็นเส้นทางการของ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เมื่อครั้งรับราชการเป็นตำรวจ จนกระทั่งมาถึงตำแหน่งประธาน ป.ป.ช. ในปัจจุบัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมา พล.ต.อ.วัชรพล มีความใกล้ชิด หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “ลูกน้องเก่า” ของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หนึ่งในจำเลยคดีสลายการชุมนุมเมื่อ 7 ตุลาฯ 51 รวมไปถึง “ทีมงานคนสนิท” ของ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พี่ชายของ พล.ต.อ.พัชรวาท ซึ่งที่ผ่านมาเส้นทางในตำแหน่งประธาน ป.ป.ช. ของเขา ก็ถูกจับตามองว่ามีการผลักดันจาก “อำนาจบางอย่าง” อีกด้วย
แม้ว่าที่ผ่านมาหลายคนมองอย่างสงสัยเรื่อยมา และวาระในการดำรงตำแหน่งค่อนข้างยาวนานถึง 9 ปี อย่างไรก็ดี แม้ว่าจนถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะมีมติถอนฟ้อง 4 จำเลย ระดับบิ๊กดังกล่าวหรือไม่ แต่แนวโน้มมีความเป็นไปได้สูงไม่น้อย และจะทำได้หรือไม่ เพราะมีผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย ระบุว่า ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลเท่านั้น อีกทั้งตามกฎหมาย ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 บัญญัติห้ามในเรื่องการไต่สวนข้อเท็จจริงในบางเรื่อง เช่น ในเรื่องหลักฐานหรือข้อเท็จจริงที่มีการไต่สวนข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว และในมาตรา 86 ที่ห้ามไม่ให้พิจารณาหรือนำขึ้นมาพิจารณาใหม่ในคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้วินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว
อย่างไรก็ดี นาทีนี้ทุกอย่างก็เป็นไปได้ หากพิจารณารายชื่อของบุคคลที่เป็นจำเลยในคดี เพราะนี่คือ “เครือข่ายอำนาจใหม่” ที่ถือว่าทรงพลังมากที่สุดในเวลานี้ และการเคลื่อนไหวแบบนี้มองอีกมุมหนึ่งก็อาจจับทางได้ว่าพวกเขาคงมั่นใจสูงมาก ว่า ทุกอย่างอยู่ในมืออย่างเบ็ดเสร็จแล้ว อีกทั้งอาจเป็นการฉวยโอกาส “ช่วงชุลมุน” ที่แทบทุกสายตากำลังจับจ้องไปที่เรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็อาจมองแบบนั้นได้ แต่ขณะเดียวกัน หากพิจารณากันในแง่ความรู้สึกของชาวบ้าน โดยเฉพาะบรรดาญาติผู้สูญเสียในเหตุการณ์ และประชาชนทั่วไปจะรู้สึกอย่างไร รวมทั้งการบั่นทอนทำลายศรัทธาอย่างรุนแรง เป็นความเคลื่อนไหวที่มองเห็นไม่ต่างจากการ “ซ่อนรูปนิรโทษสุดซอย” ในอดีตอันอัปยศ
ขณะเดียวกัน ยังเป็นการบั่นทอนความศรัทธา กับองค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. ที่ในช่วงผ่านมาได้รับการยอมรับสูงมาก ให้พังครืน อันจะส่งผลลุกลามไปถึงรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยรวมอีกด้วย !!