เมืองไทย 360 องศา
“ขอฝากประเทศไว้กับผู้ว่าฯ อย่าไปจงรักภักดีกับนายเก่า แล้วอย่าเอาเรื่องต่าง ๆ ไปรายงานเพื่อขอความเห็น มันหมดสมัยของนักการเมืองแล้ว ขอให้ถอยออกไป และถ้าผมจะไป ผมก็จะไปเมื่อหมดเวลาในการบริหารราชการแผ่นดิน และจะเอาคนไม่ดีออกไปด้วย ผมพร้อมใช้มาตรา 44 ปรับย้ายทุกวัน ผมพูดไม่ได้ขู่ แต่ทำจริง”
นั่นเป็นคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่กล่าวกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ปวิณ ชำนิประศาสน์ ระหว่างเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนโครงการหลวง (กปส.) ที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา
แม้ว่าจะมีการอ้างเป็นแหล่งข่าวที่อ้างคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่พูดแบบนั้นกลางวงข้าราชการ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากบรรยากาศในเวลานี้ก็คงจะไม่มีการผิดพลาด ขณะเดียวกัน ความหมายก็คือ ต้องการสื่อสารไปถึงบรรดาข้าราชการคนอื่น รวมไปถึงผู้ว่าราชการอื่น ๆ อีกหลายจังหวัด ทั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน ที่ต้องชี้ให้เห็นแบบนี้เชื่อว่าหลายคนที่ติดตามการเมืองก็น่าจะมองออกว่า ในพื้นที่แถบนี้ล้วนเคยเป็นฐานเสียง ฐานมวลชนอันสำคัญของ ทักษิณ ชินวัตร และคนในครอบครัวทั้งในรูปแบบของ สส.พรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดง
แน่นอนว่า ต้องได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากบรรดาข้าราชการในพื้นที่ ทั้งฝ่ายปกครอง และตำรวจ รวมไปถึง “ทหารแตงโม” ที่เคยมีการพูดถึงกันก่อนหน้านี้
คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในครั้งนี้ จับอาการได้ชัดเจนว่าต้องการสื่อสารโดยตรงไปถึงบรรดาข้าราชการโดยเฉพาะฝ่ายปกครอง ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ว่า ต้องเชื่อฟังคำสั่งของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าการขับเคลื่อนนโยบาย และที่สำคัญ ในช่วงสำคัญที่กำลังชี้อนาคตกันข้างหน้า ก็คือ การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องทำตามนโยบายที่กำหนดเอาไว้ “ห้ามเกียร์ว่าง” เด็ดขาด
ที่ผ่านมา หากจำกันได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. ได้เคยมอบหมายให้ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ไปออกระเบียบ หรือข้อกำหนดต่าง ๆเพื่อประเมินผลงาน และติดตามการทำงานของบรรดาข้าราชการ เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นว่ายังมีข้าราชการไม่น้อยที่ยังไม่สนองนโยบาย เฉื่อยงาน หรือเกียร์ว่าง เหมือนกับ “รอนายเก่า” ซึ่งระเบียบดังกล่าว วิษณุ เคยบอกว่า จะเริ่มประเมินกันตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน และจะมีผลต่อการแต่งตั้งโยกย้ายในปีงบประมาณใหม่ นั่นคือ วันที่ 1 ตุลาคม
ดังนั้น คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังกล่าวข้างต้น ก็ย่อมแสดงให้เห็นแล้วว่าที่ผ่านมายังมีข้าราชการ “เกียร์ว่าง” อยู่ไม่น้อย จึงต้องออกแอ็กชันแสดงพาวเวอร์ให้เห็นว่าเอาจริง ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากคำพูดมันก็มีความหมายบางอย่างซ่อนอยู่ นั่นคือ “ผมจะไปเมื่อหมดเวลาในการบริหารราชการแผ่นดิน”
คำถามก็คือ “จะไปเมื่อหมดเวลาบริหารราชการแผ่นดิน” ความหมายคืออะไรกันแน่ ซึ่งตามโรดแมปบอกเพียงแค่ว่าถึงยังไงก็ต้องมีการเลือกตั้งปี 60 เท่านั้น ส่วนเรื่องการลงจากอำนาจนั้นยังคลุมเครือ ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ก็ตาม เพราะในเนื้อหาบทเฉพาะกาลยังเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอกได้ ดังนั้น ก็เป็นไปได้เหมือนกันว่าพวกเขา “จะอยู่ยาว” อย่างน้อยก็ในช่วงที่เรียกว่า “เปลี่ยนผ่าน 5 ปี” ซึ่งคำพูดที่บอกว่า “อย่ารอนายเก่า” มันก็เหมือนส่งสัญญาณเตือนให้เห็นว่า “อย่ารอให้เสียเวลา” หรือเปล่า
นั่นเป็นความเคลื่อนไหว อารมณ์และความรู้สึกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สะท้อนออกมา ซึ่งหากพิจารณาจากสถานการณ์ในภาพรวมๆตอนนี้ก็พอเข้าใจได้ว่ามันตึงเครียดแค่ไหน เวลานี้หากสังเกตให้ดีดีจะเห็นว่า บทบาทของ “กรรมการห้ามมวย” เริ่มลดลงเรื่อย ๆ หรือเริ่มใช้ไม่ได้ผล ประเภทที่ชอบพูดว่า “ผมเข้ามาห้ามทัพไม่ให้สองฝ่ายตีกัน” นั่นเริ่มเงียบลง เพราะแท้ที่จริงแล้วเขาก็รู้ว่า “ใคร” หรือฝ่ายไหนที่มีปัญหา เพราะสิ่งที่เห็นที่สร้างปัญหาให้ต้องจับกุมคุมเข้มกันในเวลานี้ก็ล้วนเป็นเครือข่ายของ ทักษิณ ชินวัตร เท่านั้น เพราะพวกเขาได้รับผลกระทบมากที่สุดจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือแม้แต่กลุ่มข้าราชการในพื้นที่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไปขู่เอาไว้ว่าจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ย้ายได้ทุกวัน และเตือนไม่ให้ “รอนายเก่า” นั่นแหละ ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ “นายเก่า” ที่ว่านั้นหมายถึงใคร
ดังนั้น ถ้าประมวลตามสถานการณ์ในเวลานี้ก็พอมองออกว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เริ่มมองเห็นสัญญาณบางอย่างไม่ค่อยดี จึงต้องคุมเข้มกันตั้งแต่ต้นมือ ขู่ใช้กฎหมายบังคับกันอย่างเข้มงวดป้องกันความปั่นป่วนตามมา และตอนนี้ก็มาถึงคราวของข้าราชการในพื้นที่ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดลงมาที่ต้องถูกบีบให้ “เปลี่ยนขั้ว” ไม่ต้องรอนายเก่า เพราะเสียเวลาเปล่า !!