“จาตุรนต์” ขึ้นศาลทหารฟังคำพิจารณา คกก.วินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ชี้คดีฝืนประกาศ คสช.อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน ส่วนคดี ป.วิอาญา ม.116 และ พ.ร.บ.คอมพ์ขึ้นศาลทหาร โดยเจ้าตัวเลื่อนให้การเป็นวันที่ 1 มิ.ย.
วันนี้ (25 เม.ย.) ที่ศาลทหารกรุงเทพ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทนายความ เดินทางมาฟังคำวินิจฉัยของศาลทหารภายหลังยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาเพิ่มเติมใน 2 ประเด็น คือ 1. คดีดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร เนื่องจากการกระทำนั้นได้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังนั้น คดีนี้จึงควรอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอาญา และ 2. ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37 และฉบับที่ 38 ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 4 ที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชนที่ได้รับคุ้มครองในระบอบประชาธิปไตย และตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็ได้เป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง โดยในวันนี้ศาลได้นัดนายจาตุรนต์ มาฟังคำสั่งศาลที่คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลได้ส่งคำวินิจฉัยมาให้กับทางศาลทหารได้อ่านคำพิจารณา วินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าคดีของนายจาตุรนต์จะไปขึ้นศาลพลเรือ หรือศาลทหาร
โดยในวันนี้ ศาลทหารกรุงเทพได้อ่านคำสั่งของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่อัยการศาลทหารกรุงเทพได้ยื่นฟ้องนายจาตุรนต์ ใน 3 อนุ หรือ 3 ข้อหา คือ การกระทำที่ 1 และ 2 เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไข ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และฉบับที่ 38/2557 โดยทาง คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ได้ชี้ขาดแล้วว่า คดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจของศาลพลเรือน (ศาลอาญา) ซึ่งทางศาลทหารกรุงเทพได้อ่านคำสั่งแล้ว ได้จำหน่ายฐานความผิดออกจากสารระบบของศาลทหารกรุงเทพออกไป และไปดำเนินคดีดังกล่าวที่ศาลอาญา
ส่วนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ คดีความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทางคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ได้มีคำสั่งว่าคดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจของศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งศาลทหารก็จะรับไว้พิจารณาเฉพาะคดีนี้เท่านั้น หลังจากอ่านคำสั่งจบ ทางศาลทหารได้ถามคำให้การนายจาตุรนต์ แล้วว่าพร้อมที่จะให้ถ่อยคำต่อศาลเลยหรือไม่ ซึ่งนายจาตุรนต์ได้แจ้งต่อศาลว่ายังไม่พร้อมที่จะให้การ โดยเลื่อนให้การเป็นวันที่ 1 มิ.ย. 2559
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางอัยการได้แจ้งฐานความผิดนายจาตุรนต์ ในฐานความผิดขัดคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 37 และ 38 ที่ไม่เข้ารายงานตัว กระทำการยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบหรือละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา116 และพ.ร.บ.กระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 รวม 3 ข้อหา