xs
xsm
sm
md
lg

“จาตุรนต์” ดักคอ คสช.อย่าทำตามใจชอบประชามติ หนุนปัดฝุ่น รธน.ปี 50 เลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จาตุรนต์ ฉายแสง (ภาพจากแฟ้ม)
แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ก แนะหากร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ หนุนแนวคิด สปท. ปัดฝุ่นเลือกตั้งใช้กติกา ปี 50 แล้วให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ เชื่อทุกฝ่ายยอมรับ ดักคอ คสช. อย่าทำอะไรตามใจชอบ แนะจะหาทางออกให้บอกประชาชนดัง ๆ เหน็บให้ฝ่ายหนุนพูดฝ่ายเดียว จี้ กกต. แจงให้ชัดนับคะแนนแบบไหน กลัวว่าจะมีการโกง

วันนี้ (17 เม.ย.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กระบุถึงร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านในการลงประชามติ จะทำอย่างไรต่อไป ยังเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญ ล่าสุด มีข้อเสนอที่น่าสนใจมาจากสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) บางคนที่เสนอให้มีการเลือกตั้งภายใต้กติกาตามรัฐธรรมนูญปี 2550 และให้การร่างรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ แม้ว่าจะมีหลายฝ่ายเคยเสนอทำนองนี้มาแล้ว แต่ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับแม่น้ำ 5 สาย ข้อเสนอนี้เป็นการแสดงการยอมรับต่อการตัดสินของประชาชน และทำให้การลงประชามติเป็นเรื่องที่มีความหมายขึ้นมา แตกต่างจากที่ผู้มีอำนาจพูดกันอยู่อย่างมาก ผู้ที่เสนอแนวความคิดนี้ชี้แจงว่าจะเสนอเรื่องนี้ให้พิจารณากันในคณะกรรมาธิการการเมืองฯ และ สปท. ต่อไป

“ผมหวังว่าข้อเสนอนี้จะเป็นที่ยอมรับ และได้รับการผลักดันให้มีผลในทางปฏิบัติต่อไป แต่ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร เสียงเรียกร้องในทำนองเดียวกันนี้จะดังขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการลงประชามติที่มีกติกาว่าถ้าผ่านได้ร่างที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถ้าไม่ผ่านก็จะได้ร่างของ คสช. อีกนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล แต่ข้อเสนอลักษณะนี้ก็อาจมีผู้ไม่เห็นด้วยหรือเห็นต่าง ๆ กันไป จะให้ใครตัดสิน หากจะให้ คสช. ตัดสินก็จะมีคำถามว่าเมื่อไม่ผ่านแล้ว คสช. ยังมีความชอบธรรมที่จะร่างต่อไปอีกหรือ ผมจึงยังคงเห็นว่าควรจะเพิ่มคำถามในการลงประชามติว่า ถ้าไม่ผ่านจะทำอย่างไรต่อไป จะให้ใครเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญและจะให้มีการเลือกตั้งภายใต้กติกาอะไร ผมคิดว่า คสช. และรัฐบาลไม่ควรปล่อยให้เรื่องนี้อึมครึมไปเรื่อย ๆ อย่างที่ทำอยู่ โดยเฉพาะไม่ควรออกข่าวหรือทำให้คนเข้าใจว่าถ้าร่างไม่ผ่านในการลงประชามติ คสช. ก็จะทำอะไรตามใจชอบ และจะได้ร่างที่แย่กว่าเดิม ที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือการประกาศในวันท้ายๆ ก่อนการลงประชามติว่าถ้าร่างไม่ผ่าน คสช. จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะอาจจะมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนถึงขั้นทำให้ผลการลงประชามติจะพลิกไปทางใดทางหนึ่งได้เลย” นายจาตุรนต์ กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เข้าใจว่า คสช. และรัฐบาลกำลังคิดอยู่ว่าถ้าร่างไม่ผ่านจะทำอย่างไร ตนอยากให้คิดออกมาดัง ๆ คิดอะไรก็พูดออกมาให้ประชาชนได้ทราบ ประชาชนก็จะได้แสดงความเห็น พวกท่านก็จะได้ไปชั่งน้ำหนักให้ดีเสียก่อน แล้วจะสรุปว่ามีแผนอย่างไรหรือไม่ก็บอกกันเสียเนิ่น ๆ ไม่ใช่เก็บเงียบไว้เพื่อใช้เป็นไม้ตายในช่วงโค้งสุดท้ายซึ่งจะกลายเป็นความไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง ขณะนี้มีคนจำนวนมากให้ความสนใจ ว่า การลงประชามติที่จะมีขึ้นจะเป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรมหรือไม่ คิดว่า คสช. รัฐบาล และ กกต. น่าจะได้หารือและชี้แจงให้ชัดว่าการลงประชามติจะทำกันอย่างไร ใครทำอะไรได้แค่ไหนกันแน่ ถ้าดูตามกฎหมายแล้วการรณรงค์หรือสื่อสารต่อกันให้คนออกเสียงไม่เห็นด้วยก็สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่เวลานี้เหมือนกับว่าให้ฝ่ายสนับสนุนพูดได้ฝ่ายเดียวและยังให้ผู้มีอำนาจสามารถชี้นำได้ตามสบายด้วย แต่ฝ่ายไม่เห็นด้วยกลับมีข้อจำกัดสารพัดไปหมด จนไม่รู้ว่าท่านกำลังใช้กฎหมายฉบับไหน

“อีกเรื่องหนึ่งที่มีการพูดกันมากขึ้นก็คือกลัวจะมีการโกงในการลงประชามติ กกต. น่าจะชี้แจงให้ชัดว่าการนับคะแนนจะทำที่หน่วยหรือนับรวมที่ไหน ที่หน่วยออกเสียงแต่ละหน่วยจะมีผู้สังเกตการณ์หรือไม่ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญสามารถเสนอตัวเป็นผู้สังเกตการณ์ประจำหน่วยได้หรือไม่ ที่เสนอเรื่องนี้เพราะในการเลือกตั้ง พรรคการเมืองหรือผู้สมัครสามารถส่งตัวแทนเข้าสังเกตการณ์ได้ทำให้เกิดการคานกันไปมา การโกงที่หน่วยจึงทำได้ยาก แต่ถ้าการลงประชามติไม่มีผู้สังเกตการณ์ เกรงว่าจะมีการกาบัตรใส่หีบกันตามใจชอบ เรื่องเหล่านี้ควรจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นและทำให้ถูกต้องชัดเจนเสียแต่ต้น” นายจาตุรนต์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น