สสส.สานพลัง สธ.-กทม.ขับเคลื่อน “กิจกรรมทางกาย” เสริมสุขภาวะประชากรโลก ตั้งเป้าลดความเสี่ยงกลุ่มโรค NCDs ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ภายใน 5 ปี เผยปี 2557 ทำทั่วโลกตายถึง 63 เปอร์เซ็นต์ ด้าน สธ.จัดโรค NCDs เป็นปัญหาสุขภาพอันดับ 1 ของไทยหลังพบตัวเลขตายปีละ 5 แสนราย
วันนี้ (22 เม.ย.) นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานเสวนาสาธารณะการขับเคลื่อนกิจกรรมทางกายสู่ปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) และนโยบายสาธารณะ ว่าปัญหาการขาดกิจกรรมทางกาย เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ประชากรโลกเกิดความเจ็บป่วย และเสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Noncommunicable diseases, NCDs) โดยในปี 2557 มีประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคนี้มากถึง 36 ล้านคน หรือร้อยละ 63 ของการเสียชีวิตทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงมาจาก เหล้า บุหรี่ อาหาร และขาดกิจกรรมทางกาย ซึ่งเป็นพันธกิจหลักสำคัญที่ สสส.เร่งผลักดันและรณรงค์ให้คนไทยปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพเหล่านี้ จากการสำรวจกิจกรรมทางกายของคนไทย ปี 2558 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และ สสส. พบว่าคนไทยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 66.3 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 71.6 ในปี 2558 หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7
“สสส.โดยแผนกิจกรรมทางกาย มียุทธศาสตร์การทำงานที่สำคัญ คือ ผลักดันให้คนไทยมีกิจกรรม ทางกายที่เพียงพอ โดยตั้งเป้าภายในปี 2564 คนไทยอายุ 11 ปีขึ้นไป ต้องมีกิจกรรมทางกายไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และภายในปี 2562 ลดความชุกของภาวะน้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วนในเด็กให้น้อยกว่าร้อยละ 10 โดยมุ่งส่งเสริมการสร้างพื้นที่สุขภาวะหรือปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมทุกช่วงวัย ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง สนับสนุนและสื่อสารรณรงค์การมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันที่ปฏิบัติได้ง่ายให้เป็นค่านิยมและวิถีชีวิต รวมถึงพัฒนางานวิชาการ/งานวิจัยกิจกรรมทางกายสู่เวทีนานาชาติ”
ด้าน นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรค NCDs เป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของประเทศ โดย 3 ใน 4 ของการเสียชีวิตของคนไทยมาจากกลุ่มโรคนี้ โดยเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยมากถึง 5 แสนราย ในปี 2557 และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย ทั้งในแง่ภาระค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล และการขาดงาน เป็นต้น โดยในปี 2552 โรค NCDs ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมเกือบ 2 แสนล้านบาท
“เพื่อให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ อันจะนำไปสู่การลดการเจ็บป่วยด้วยโรค NCDs กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย ได้จัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายชาติ เพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของประชาชนไทยทุกกลุ่มวัย ผ่านมิติต่างๆ ทั้งระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข ระบบคมนาคม ระบบผังเมือง สถานประกอบการ ชุมชน การกีฬามวลชน การสื่อสารรณรงค์ ระบบฐานข้อมูลและการวิจัย โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในเร็วๆ นี้” นพ.ณัฐพรกล่าว
ด้าน ศ.ฟิโอนา บูล ประธานสมาพันธ์นานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ กล่าวว่า คาดหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะส่งผลดังนี้ 1. ด้านการวิจัย จะช่วยเพิ่มศักยภาพการวิจัย โดยเชื่อมโยงการทำงาน และขยายงานวิจัยสู่ระดับนานาชาติ มีการพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นระบบ และมีการจัดการฐานข้อมูลกิจกรรมทางกายเพื่อให้เกิดการนำการวิจัยไปใช้ประโยชน์ 2. การประกาศวาระด้านการทำงานกิจกรรมทางกายของประเทศไทย และดำเนินงานไปสู่เป้าหมาย 9 ปีขององค์การอนามัยโลกซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญของ สสส. และ 3. เป็นโอกาสสำคัญของการสร้างพันธมิตรการทำงานในระดับนานาชาติ