xs
xsm
sm
md
lg

“เจ๊สด” จี้ กกต.แจงดูงานช่วงสำคัญ ชี้ต้องอยู่เป็นพี่เลี้ยง เหตุ กม.ประชามติยังไม่นิ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สดศรี สัตยธรรม อดีตกกต. ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ (แฟ้มภาพ)
“สดศรี” บี้ กกต. แจงเหตุดูงานต่างประเทศช่วงสำคัญ ชี้ หลักเกณฑ์ประชามติยังแกว่ง ยิ่งต้องอยู่ชี้แจงเป็นพี่เลี้ยง เพราะมีหลายข้อยังไม่ชัดเจน แจง งบดูงาน นศ.พตส. 2 หมื่น เกินกว่านั้นออกเอง รับไม่แน่ใจ กกต. ชุดนี้ กันงบเพิ่มดูงานหรือไม่จากเดิม 5 ล. ชำแหละกองทุนพัฒนาการเมืองรับงบ 200 ล. ต่อปี เข้า พตส. ปีละ 10 ล. ที่ผ่านมาแบ่งงบกลางจ่ายเงินเดือน พนง. ด้าน กกต. ยังคงโปรแกรมทัวร์นอกตามเดิม

วันนี้ (19 เม.ย.) นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่มีหนังสือร้องเรียนการไปดูงานต่างประเทศของ กกต. ว่า กกต. คงต้องชี้แจงเหตุผลให้สังคมเข้าใจว่า ทำไมจึงเดินทางไปดูงานที่ต่างประเทศในช่วงนี้ แม้จะมีการชี้แจงว่าการไปต่างประเทศไม่ส่งผลกระทบต่อการพิจารณากฎหมาย หรือกระบวนการทำประชามติ แต่ก็ถือว่าช่วงนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญ อาจต้องมีการจัดประชุมกันบ่อยครั้ง ควรเลื่อนการเดินทางไปสักระยะ อาจเป็นช่วงหลังการทำประชามติไปแล้ว เพราะการไปต่างประเทศถือเป็นเพียงกิจกรรมพิเศษของหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) ของสำนักงาน กกต. คนที่คอยดูแลนักศึกษาในหลักสูตรก็ไม่จำเป็นต้องเป็นกรรมการ กกต. โดยให้สามารถให้เจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการ หรือกรรมการประจำหลักสูตรที่มาจากหน่วยงานอื่น รวมทั้งอนุกรรมการที่สามารถทำหน้าที่ดูแลได้อยู่แล้ว เนื่องจากขณะนี้ประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การทำประชามติยังมีสภาพที่แกว่งอยู่ ยังไม่ชัดเจนว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ แม้จะยังเป็นช่วงที่รอกฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่การทำหน้าที่ชี้แจงเป็นสิ่งสำคัญที่ กกต. ต้องดำเนินการ ก่อนที่ความข้อขัดแย้งจะไปถึงศาล

“ขณะนี้ กกต. ต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ประชาชน ยังมีหลายการกระทำที่สุ่มเสี่ยงจะผิดกฎหมายหาก กกต. ไม่ให้คำแนะนำ เช่น การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ใส่เสื้อรณรงค์รับไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่าสรุปแล้วสามารถทำได้หรือไม่ กกต. ต้องวินิจฉัยชี้ขาดให้เกิดความชัดเจนก่อน อย่างไรก็ตาม แม้การไปดูงานต่างประเทศจะไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่ก็อยู่ที่ความเหมาะสมของช่วงเวลา สมัยที่ตนยังดำรงตำแหน่งก็ยังเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องดังกล่าว บทเรียนก็มีมาแล้ว ยิ่งตอนนี้ กกต. ถูกเพ่งเล็งอย่างมากในฐานะเป็นเจ้าภาพจัดทำประชามติ จึงให้อยากให้ใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบ” นางสดศรี กล่าว

นางสดศรี ยังกล่าวถึงการบริหารงานกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองของสำนักงาน กกต. ว่า กองทุนนี้เป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนงานพรรคการเมืองงบประมาณที่ใช้จ่ายในกองทุนเป็นงบประมานของแผ่นดินที่รัฐบาลจัดสรรให้ประมาณปีละ 200 ล้านบาท ซึ่ง กกต. ก็จัดสรรงบให้แต่ละพรรคตามจำนวน ส.ส. หากพรรคใดมี ส.ส. มากก็จะได้งบสนับสนุนมาก พรรคละ 30 ล้านบาท ส่วนพรรคเล็กที่ไม่มี ส.ส. ก็จะได้งบประมาณในส่วนของค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ค่าเช่าอาคารสถานที่สาขาของพรรค ซึ่งไม่เกิน 100,000 บาท และต้องรายงานค่าใช้จ่ายให้กับ กกต. ทุกปี และจะมีการตรวจสอบว่าบัญชีค่าใช้จ่ายถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ อีกทั้งที่ผ่านมา กกต. ก็ได้มีการกันงบประมาณเพื่อพัฒนาพรรคการเมืองไว้ เป็นการให้ความรู้แก่พรรคการเมืองประมาณปีละไม่เกิน 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบที่ใช้จ่ายใน พตส. ที่มาจากนัการเมือง พรรคการเมืองต่าง ๆ ข้าราชการและเอกชน กิจกรรมต่าง ๆ ของหลักสูตรเป็นการดูงานการเลือกตั้งตามจังหวัดต่าง ๆ การดูงานเลือกตั้งต่างประเทศ ที่ผ่านมา กกต. จัดงบให้นักศึกษาพตส. คนละ 20,000 บาทต่อคน ในการใช้จ่ายดูงานต่างประเทศงบที่เกินจากนั้นนักศึกษาจะเป็นผู้ออกเองทั้งหมด

“การดูงานต่างประเทศของนักศึกษา พตส. กกต. จะเดินทางไปด้วย แต่ค่าใช้จ่ายของ กกต. นั้น มาจากงบประมาณกลางที่รัฐบาลจัดสรรให้ใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น รวมถึงการจ่ายเงินค่าตอบแทนพนักงานไม่สามารถใช้งบของหลักสูตร พตส. ได้ ซึ่งที่ผ่านมา กกต. จะกันงบกลางไว้ประมาณ 5 ล้านบาท ก็ไม่แน่ใจว่า กกต. ชุดนี้ปรับเพิ่มงบการดูงานต่างประเทศหรือไม่” อดีต กกต. กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองนี้ เป็นกองทุนที่ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองโดยรัฐเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 บทเฉพาะกาล มาตรา 328 ประกอบ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 56 ได้กำหนดให้มีกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายในการสนับสนุนพรรคการเมืองการพัฒนาพรรคการเมือง การสนับสนุนทางการเมือง หรือประโยชน์อย่างอื่นแก่พรรคการเมือง และให้อำนาจ กกต. เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานของกองทุน โดย กกต. กำหนดกรอบการใช้จ่ายของกองทุน อาทิ เพื่อสนับสนุนกิจการพรรคการเมืองตามแผนงานไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60 แต่ไม่เกินร้อยละ 80 ของวงเงินรายจ่ายในแต่ละปีใช้เป็นทุนพัฒนาพรรคการเมืองของสำนักงาน กกต. เป็นทุนการศึกษาวิจัยพัฒนาพรรคการเมือง สนับสนุนค่าไปรษณียากรค่าสาธารณูปโภค และด้านอื่น ๆ แก่พรรคการเมือง การบริหารกองทุน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม รายได้หลักของกองทุนนั้น มาจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ประมาน 200 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ พรรคการเมืองที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรเงินสนับสนุนจากกองทุนต้องเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับการจดแจ้งการจัดตั้งจากนายทะเบียนพรรคการเมือง และได้ดำเนินการให้มีสมาชิกพรรคการเมืองอย่างน้อย 5,000 คน และสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อย 4 สาขาด้วย ซึ่งเงินงบประมาณที่จัดสรรจะไม่เท่ากันตามจำนวนสมาชิกแต่ละพรรคที่มีอยู่หากเป็นพรรคใหญ่ก็จะได้เงินสนับสนุนมากกว่าพรรคเล็ก อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองที่ได้รับเงินสนับสนุนต้องใช้จ่ายเงินสนับสนุนให้เป็นไปตามโครงการและแผนงาน และจะต้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินให้ถูกต้องตามความเป็นจริง และยื่นต่อ กกต. ภายในเดือน มี.ค. ของปีถัดไป

สำหรับคณะกรรมการกองทุนชุดนี้ มีทั้งหมด 10 คน ประกอบด้วย 1. นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการกองทุน 2. นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต. ด้านพรรคการเมือง 3. นายกมล บันไดเพชร ผู้แทนจากพรรคเพื่อไทย 4. น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ พรรคประชาธิปัตย์ 5. นายสยมภู เกียรติสยมภู พรรคกิจสังคม 6. นายวรัชญ์ เพรชร่วง ผอ.กองกับกำและพัฒนาระบบ ผู้แทนกระทรวงการคลัง 7. นายธรรมศักดิ์ สัมพันติกูล รอง ผอ.สำนักงบประมาณ 8. นายนเรศ สุตจริตวงษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 9. นายประวิง คชาชีวะ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และ 10. นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการ กกต. ในฐานะรักษาการเลขาธิการ กกต. ดำรงตำแหน่ง กรรมการ และ เลขานุการกองทุน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การไปดูงานต่างประเทศของ กกต. แต่ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการแต่อย่างใด โดย นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ได้เดินทางไปประเทศออสเตรีย ระหว่างวันที่ 18 - 26 เม.ย. นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. จะเดินทางไปสหรัฐอเมริกา วันที่ 19 - 29 เม.ย. ส่วน นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต. ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย จะเดินทางไปสกอตแลนด์ วันที่ 30 เม.ย.- 8 พ.ค. นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น