โฆษก กรธ. เผยพร้อมปรับเวลาร่างกฎหมายลูก ให้มีเลือกตั้งทันโรดแมปรัฐบาล เชื่อใกล้ประชามติ ประชาชนรู้ทิศทางหากร่างถูกคว่ำ ด้านที่ประชุม สปท. “ปานเทพ” เสนอประชาชนถือเป็นผู้เสียหายฟ้องคดีโกงได้ หนุนเพิ่มหมวดปฏิรูปเพื่อความชัดเจน “วรวิทย์” เสนอโยน ส.ว. ปฏิรูปตำรวจแทน สปท. ด้าน “หมอเจตน์” เผยวิป 3 ฝ่าย จี้ กรธ. ตั้งหมวดปฏิรูป นัดประชุมร่วมพรุ่งนี้ เตรียมผ่าน พ.ร.บ. งบประมาณปี 59 เพิ่มเติม ให้ท้องถิ่น 56,000 ล้าน อ้างกระตุ้นเศรษฐกิจ
วันนี้ (9 ก.พ.) ที่รัฐสภา นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงว่า ขณะนี้ กรธ. พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน พร้อมกับเดินสายรับฟังความเห็นจากประชาชน เพื่อจะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ กลับมาพิจารณาตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. ถึงช่วงปลายเดือน มี.ค. เพื่อให้ได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาของ กรธ. หลังรับฟังความเห็นแล้ว จะเริ่มพิจารณาไล่เรียงตั้งแต่มาตรา 1 โดยเปรียบเทียบกับข้อเสนอแนะต่าง ๆ โดย กรธ. จะมีการชี้แจงเหตุผลในแต่ละมาตราว่าทำไมถึงบัญญัติเช่นนั้น เพื่อให้สังคมรับทราบ
นายนรชิต กล่าวต่อว่า ในช่วงเช้า กรธ. ได้ชี้แจงแก่สถานทูตต่าง ๆ 63 แห่ง โดยประเทศต่าง ๆ ได้สอบถามต่าง ๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ ที่มา ส.ว. บัตรเลือกตั้ง ส.ส. ใบเดียว เป็นต้น โดยไม่ได้ติดใจเนื้อหา โดยมีประเทศหนึ่งที่ถามว่ารัฐธรรมนูญจะแก้วิกฤตได้หรือไม่ ซึ่งตนชี้แจงว่า ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เพราะความขัดแย้งทุกอย่างทุกคนในประเทศต้องช่วยกันถึงจะแก้วิกฤตได้
โฆษก กรธ. กล่าวด้วยว่า กรธ. ยังยืนยันในเรื่องโรดแมปของร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดระยะเวลา 6 - 4 - 8 - 5 ที่สามารถปรับให้สอดคล้องกับรัฐบาลคือ 6 - 4 - 6 - 4 โดยกฎหมายลูกอาจจะพิจารณาในเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้งและจัดให้มีการเลือกตั้งให้ได้ก่อน ส่วนกฎหมายอื่นก็มาพิจารณาภายหลัง เชื่อว่าจะสามารถทันตามกำหนดของรัฐบาลในช่วง ก.ค. 2560 หรืออย่างมากก็ไม่เกิน 3 เดือนอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ตนยังให้คำมั่นแก่สถานทูตต่าง ๆ ถึงความชัดเจนหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ว่า ไม่ใช่หน้าที่ของ กรธ. แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล และ คสช. ตนเชื่อว่า ใกล้วันประชามติจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องนี้ โดยประชาชนจะต้องทราบความชัดเจนแน่นอน ซึ่งทูตต่าง ๆ ก็ไม่ได้ติดใจ
ด้านที่ประชุมสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวว่า หลักการเนื้อหาส่วนใหญ่ในร่างรัฐธรรมนูญมีความเหมาะสมแล้ว แต่ในหมวด 4 หน้าที่ปวงชนชาวไทย กำหนดให้เป็นหน้าที่ไม่ให้ความร่วมมือกับการทุจริต ควรเพิ่มเนื้อหาว่ามีหน้าที่ต่อต้าน รวมถึงให้ข้อมูลเบาะแส เฝ้าระวังเรื่องการทุจริตด้วย หมวดที่เกี่ยวกับหน้าที่ของรัฐ ที่กำหนดให้รัฐ ‘พึ่ง’ ปฏิบัติ ถือเป็นเรื่องสำคัญ ควรย้ายมาอยู่ในหมวดหน้าที่เลยที่ ’ต้อง’ ทำ
นอกจากนี้ ควรกำหนดหลักการการปราบปรามทุจริตที่มีประสิทธิภาพ คือ 1. กำหนดให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องในคดีทุจริตได้ 2. กำหนดให้รัฐต้องเปิดเผยผลการจัดซื้อจัดจ้างและการเงินการคลังให้ประชาชนรับทราบ 3. กำหนดให้ผู้มีสิทธิ์รับเลือกตั้ง ผู้สมัครเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองต้องแสดงแบบรายการภาษียอนหลัง 3 ปี หากฝ่าฝืนหรือแสดงเท็จให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง 4. กำหนดไม่ให้คุ้มครองสมาชิกรัฐสภาในสมัยประชุมสามัญกรณีทุจริตต่อหน้าที่ 5. กำหนดให้ฝ่ายค้านเป็นประธานกรรมาธิการสามัญตรวจสอบการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและกำกับติดตามการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ
6. กำหนดห้ามข้าราชการ อัยการ ต้องไม่เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ และที่ปรึกษาด้านการเมือง 7. กำหนดคุณสมบัติองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องรับ หรือเคยรับราชการระดับอธิบดี หรือเทียบเท่าไม่น้อยกว่า 3 ปี เพราะกำหนด 5 ปีนั้น ยาวนานเกินไป และ 8. กำหนดการจัดซื้อจัดจ้างเป็นหน้าที่ข้าราชการฝ่ายประจำ นอกจากนี้ ตนยังเห็นด้วยกับสมาชิกที่ควรยกหมวดการปฏิรูปประเทศเพื่อให้เห็นชัดในเรื่องการปราบปรามป้องกันการทุจริต เพราะอาศัยรัฐธรรมนูญอย่างเดียวไม่อาจลดน้อยลงได้ จึงต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคประชาชน
นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา กล่าวว่า การปราบปราบการทุจริตเป็นหนึ่งในการปฏิรูปตัดวงจรอุบาทว์ ซึ่งวงจรนี้ทำให้การเมืองเราเปลี่ยนผ่านไม่ได้ ดังนั้น เราต้องตัดวงจรนี้ เชื่อว่า คนดีจะเข้ามา โต๊ะอาหารถ้าไม่มีเศษอาหาร มด แมลงสาบไม่เข้ามา ดังนั้น จึงต้องจัดการการทุจริตคอร์รัปชันให้ได้ การกำหนดให้คนดีเข้าสู่การเมืองจะต้องเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองจะต้องเปิดเผยบัญชีย้อนหลัง 5 ปี ที่สำคัญ มาตรา 45 (4) ที่เขียนว่ารัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์และเป็นที่ประจักษ์ เขียนไว้ดี แต่บอกว่ารัฐมนตรีไม่ต้องเปิดเผยบัญชีภาษี รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนสร้างมาตรการยาแรงไว้ปลายทางทำให้ระบบช็อต ทำไมไม่ให้ประชาชนเป็นด่านแรกในการตรวจสอบการทุจริต จะทำให้การแก้ปัญหาได้ดีมาก
ส่วนการปฏิรูปตำรวจต้องชมว่า กรธ. มีความกล้าหาญ แต่การปฏิรูปตำรวจควรจะปฏิรูปสำนึกก่อน และจะใช้กลไกธรรมดาไม่ได้ การให้ สปท. อยู่ต่ออีก 1 ปีไม่มีประโยชน์ การปฏิรูปตำรวจจะต้องทำอีก 10 - 20 ปี ควรให้ ส.ว. ทำ แต่ ส.ว. ก็มาจาก 20 กลุ่มอาชีพก็ทำไม่ได้อีก เพราะคุมไม่ได้ ไม่รู้ว่าใครเป็นใครและต้องมีการซื้อเสียง จึงควรให้ ส.ว. มาจากการสรรหา
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากสมาชิกอภิปรายเสร็จแล้วเสียงส่วนใหญ่ 179 เสียง มีมติเห็นควรให้ ควรรวบรวมความเห็น และข้อเสนอแนะของสมาชิกเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นส่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณา และ 178 เสียงต่อ 1 เสียง เห็นควรให้ กมธ. ขับเคลื่อนฯ แต่ละคณะส่งความเห็นเป็นเอกสารเพื่อส่งให้ กรธ. ต่อไป
ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แถลงว่า จากการประชุมวิป 3 ฝ่าย ระหว่าง สนช. สปท. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา มีความเห็นร่วมกันว่า เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป ไม่ควรอยู่ในบทเฉพาะกาล เพราะการปฏิรูปเป็นประเด็นที่ต้องมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงเห็นว่า กรธ. ควรปรับแก้ให้การปฏิรูปแยกออกมาเป็นหมวดหนึ่งในรัฐธรรมนูญ
ที่ประชุมยังเสนอว่า หากประเด็นการปฏิรูปด้านใดต้องการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งองค์กรใหม่เพื่อมาผลักดัน ซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณ ถือเป็นกฎหมายการเงิน ก็จะต้องมีการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาร่วมชี้แจงด้วย ส่วนการทำงานร่วมกันระหว่าง สนช. กับ สปท. เพื่อผลักดันการปฏิรูปให้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วนั้น ก็ได้ทำการนัดประชุมร่วมกันครั้งแรกระหว่างประธาน กมธ. สนช. 16 คน กับประธาน กมธ. สปท. 11 คน ในวันที่ 10 ก.พ. เวลา 10.30 น. ที่รัฐสภา ห้อง 307
นพ.เจตน์ กล่าวต่อว่า ตนในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ประชุมพิจาณาเพื่อสรุปประเด็นของสมาชิก สนช. ที่ร่วมกันอภิปรายให้ความเห็นไปเมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยเบื้องต้น ที่ประชุมได้มีมติออกมาแล้ว 3 ประเด็น คือ 1. ระบบเลือกตั้ง ส.ส. กมธ. เสนอให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม เป็นเขตใหญ่ เบอร์เดียว 2. ที่มา ส.ว. กมธ. เสนอให้ ส.ว. มาจากการสรรหาทั้งหมด โดยให้เพิ่มกรรมการสรรหาให้มีจำนวนมากกว่า 7 คนขึ้นไป และ 3. ที่มานายกรัฐมนตรี กมธ. ไม่เห็นด้วยกันแนวทางของ กรธ. ที่ให้เปิด 3 รายชื่อนายกฯ เนื่องจากเห็นควรให้การเสนอชื่อนายกฯ เป็นของพรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภาฯ โดยที่จะเป็นหรือไม่เป็น ส.ส. ก็ได้
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมจะสรุปประเด็นที่เหลือก่อนส่งให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งในวันที่ 12 ก.พ. นี้เพื่อส่งต่อให้ กรธ. ทันภายในวันที่ 15 ก.พ. นี้ต่อไป
นอกจากนี้ ในวันที่ 18 ก.พ. สนช. จะมีการการพิจารณากฎหมายที่สำคัญ คือ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 กรอบวงเงิน 56,000 ล้านบาท เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวข้องกับส่วนท้องถิ่น ตามที่ ครม. มีมติเห็นชอบ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาของ กมธ. เศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง ก่อนจะส่งให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาเห็นชอบ 3 วาระรวดต่อไป