xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ร่อนหนังสือ “ทูตโอมาน-สายการบิน-WHO” คุมเข้มผู้ป่วยไม่แจ้งรักษาข้ามประเทศ เร่งตามตัวผู้สัมผัส “ผู้ป่วยเมอร์ส” อีก 8 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. เผยผู้ป่วยเมอร์สรายที่สองของไทย อาการทรงตัว พูดได้ เดินได้ พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเพิ่มเติมรวมเป็น 40 ราย ยังติดตามตัวไม่ได้อีก 8 ราย อยู่ระหว่างการประสาน ระบุ รู้ว่าป่วยโรคติดต่ออันตรายแต่ไม่แจ้งถือว่ามีความผิด แต่รับผู้ป่วยเมอร์สไม่รู้ตัวว่าป่วย เตรียมทำหนังสือแจ้งสถานทูตโอมาน สายการบิน องค์การอนามัยโลก ร่วมแก้ปัญหา ด้านสถาบันบำราศฯ แจงผู้ป่วยต้องจ่ายค่ารักษาเอง

วันนี้ (25 ม.ค.) นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวความคืบหน้าภายหลังประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ โรคเมอร์ส เป็นรายที่ 2 คือ ชายชาวโอมาน อายุ 71 ปี ซึ่งขณะนี้รับตัวเข้ามารักษาอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา ว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าวขณะนี้เข้ารับการรักษาอยู่ในห้องแยกโรคความดันลบ อาการโดยรวมคงที่ มีไข้ต่ำ 38 องศาเซลเซียส หายใจเร็วเล็กน้อย ยังต้องให้ออกซิเจน ผู้ป่วยสามารถพูดคุยได้ รับประทานอาหารได้ และเดินได้ อาการทรงตัว แต่ยังต้องรับการรักษาดูแลอย่างใกล้ชิด

นพ.อำนวย กล่าวว่า สำหรับกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง จากเดิมมี 37 ราย แต่จากการสอบสวนโรคในเชิงลึกพบผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเพิ่มขึ้นรวมเป็น 40 ราย แบ่งเป็น 1. ลูกชายผู้ป่วย 1 ราย ขณะนี้อยู่ในห้องแยกโรคสถาบันบำราศฯ 2. ผู้โดยสารบนเครื่องบิน 22 ราย เป็นคนไทย 4 ราย และต่างชาติ 18 ราย คือ ชาวฝรั่งเศส 1 ราย ชาวเยอรมัน 3 ราย ชาวอินเดีย 3 ราย ชาวตุรกี 1 ราย ที่เหลือเป็นชาวโอมาน สามารถติดตามตัวได้แล้ว 14 คน ส่วนอีก 8 คน มีข้อมูลรายชื่อและที่อยู่แล้วอยู่ระหว่างการประสานติดตาม 3. คนขับรถแท็กซี่ เดิมมี 1 ราย แต่จากการสอบสวนโรคพบเพิ่มเติมอีก 1 ราย ขณะนี้ได้รับตัวทั้งสองไว้สังเกตอาการแล้ว 4. พนักงานโรงแรม เดิมมี 1 ราย แต่จากการตรวจสอบสวนโรคผ่านกล้องวงจรผิดพบเพิ่มเติมอีก 3 ราย รวมเป็น 4 ราย ซึ่งได้ติดตามตัวเข้าสู่การสังเกตอาการแล้ว และ 5. เจ้าหน้าที่ รพ.เอกชน ทั้งหมด 11 คน ก็ได้แยกตัวไว้สังเกตอาการทั้งหมดแล้วเช่นกัน

“ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงยังไม่ใช่ผู้ป่วย ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกตกใจกับจำนวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งผู้ป่วยรายนี้สามารถตรวจจับและแยกผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ค้นหาเจอได้ภายใน 10 ชั่วโมง นับจากเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ภาพรวมระบบป้องกันควบคุมโรคของประเทศไทยยังคงเข้มแข็ง มาตรฐานสูง เพราะมีระบบการควบคุมป้องกันโรคถึง 3 ระดับ ทั้งจุดผ่านแดน ซึ่งจะมีด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ทั้งทางบก ทางน้ำ และอากาศ ระดับโรงพยาบาล และระดับชุมชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคอุบัติใหม่เข้าไปในชุมชน ขอให้วางใจ ส่วนการป้องกันของประชาชนนั้น ขอให้เน้นสุขอนามัย คือกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือเป็นประจำ” อธิบดี คร. กล่าว

นพ.ธนะรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา คร. กล่าวว่า ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงยังไม่ใช่ผู้ป่วย แต่ที่ต้องแยกตัวออกไปเป็นเอกเทศไม่ให้วุ่นวายกับคนทั่วไป เช่น อยู่ในห้องแยกที่โรงพยาบาล หรือห้องแยกในโรงแรม ก็เพื่อตัดวงจรการแพร่เชื้อ คือ จะต้องไม่มีผู้สัมผัสเพิ่มเติม

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีผู้ป่วยมีความตั้งใจเดินทางเข้ามารักษาตัวในประเทศไทย โดยไม่แจ้งอาการมา จะมีความผิดหรือไม่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดี คร. กล่าวว่า การเดินทางระหว่างประเทศนั้น การจะให้ผู้โดยสารขึ้นเครื่อง หรือไม่จะเป็นอำนาจของกัปตัน แต่เมื่อมาถึงประเทศปลายทางก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศนั้น ซึ่งประเทศไทยมี พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2523 ถ้าหากทราบว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย แต่ไม่แจ้งจะถือว่ามีความผิด ทั้งจำทั้งปรับ แต่กรณีดังกล่าวผู้ป่วยยังไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคเมอร์ส จึงไม่ถือว่ามีความผิด อย่างไรก็ตาม ประเทศต้นทางจะต้องมีระบบคัดกรองคนที่จะเดินทางออกนอกประเทศด้วย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แจ้งกรณีดังกล่าวให้แก่สถานทูตโอมานทราบแล้ว รวมถึงสายการบินที่มาจากพื้นที่เสี่ยงและองค์การการบินระหว่างประเทศให้คัดกรองผู้โดยสารเบื้องต้นก่อนขึ้นเครื่องบิน และองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อหาทางร่วมมือแก้ไขร่วมกัน

ด้าน พญ.จริยา แสงสัจจา ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า สถาบันฯ รับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไว้เฝ้าสังเกตอาการ 14 วันตามระยะการฟักตัวของโรค จำนวน 9 คน คือ ลูกชาวผู้ป่วย 1 คน ชาวไทยที่ร่วมเดินทางมาด้วย 1 คน คนขับแท็กซี่ 2 คน และชาวโอมานที่เดินทางมาเป็นครอบครัว 5 คน ซึ่งทุกคนสบายดี ซึ่งทุกคนจะได้รับการตรวจครั้งแรกที่เข้ารับการเฝ้าระวัง และจะมีการตรวจหาเชื้อซ้ำอีก 2 ครั้งในวันที่ 7 และ 14 ตามระยะการฟักตัวของโรค หากผลเป็นลบทั้งหมด ไม่มีอาการใด ๆ จนครบ 14 วันก็จะพ้นจากการเฝ้าระวัง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ป่วยรายนี้ตั้งใจเข้ามารักษาที่ประเทศไทย จะมีการเก็บค่ารักษาหรือไม่ เนื่องจากผู้ป่วยเมอร์สรายแรกนั้นรัฐบาลโอมานเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย พญ.จริยา กล่าวว่า ได้แจ้งค่ารักษาตามปกติ ซึ่งจะพยายามให้ผู้ป่วยรายนี้จ่ายค่ารักษาเอง โดยได้แจ้งกับสถานทูตโอมานแล้ว สำหรับค่าใช้จ่ายการรักษาของโรคเมอร์สจะสูงกว่าโรคอื่น เพราะแค่ค่าห้องแยกโรคความดันลบเพียงอย่างเดียว ค่าไฟก็สุงกว่า 3 - 4 เท่าแล้ว เนื่องจากจะมีการกรองอากาศเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของบุคลากรที่จะเข้าไปดูแล ชุดที่สวมก็ต้องใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ค่ารักษาจึงสูงกว่า ไอ.ซี.ยู. ทั่วไป ส่วนค่าเสียเวลาในการนำตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมาเฝ้าระวัง 14 วันนั้น จะให้ค่าเสียเวลาวันละ 500 บาทต่อคน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบว่าใครจะเป็นผู้จ่ายค่าใช้จ่ายส่วนนี้ แต่คราวผู้ป่วยโรคเมอร์สรายแรกนั้นสถาบันฯ เป็นคนออกค่าใช้จ่ายส่วนนี้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น