xs
xsm
sm
md
lg

รบ.เร่งทุกกระทรวงออกกม.ลูก-กฎกระทรวง ตั้ง 4 ฝ่ายถกปรับร่าง กม.ชะลอฟ้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ เผย “ประยุทธ์” สั่งเร่งทุกกระทรวงออก กม.ลูก-กฎกระทรวงใน 1 เดือน เรื่องยากให้ 3 เดือน หลังมีผลบังคับใช้แล้ว 150 ฉบับแต่ใช้ได้จริงครึ่งเดียว แจง ประชุมตั้ง 4 ฝ่ายถกข้อติดขัดร่าง พ.ร.บ.ชะลอฟ้อง แย้มแต่ละฝ่ายมีท่าทีอ่อนลง จี้เร่งส่ง รบ.พิจารณาแต่ไม่ได้กำหนดเวลา

วันนี้ (15 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเร่งรัดออกกฎหมายของรัฐบาล ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ได้ย้ำในที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลชุดนี้จัดทำกฎหมายซึ่งเผยแพร่ทางราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับไปแล้ว จำนวน 150 ฉบับ อยู่ระหว่างการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายจำนวน 50 ฉบับ ในส่วนที่ประกาศใช้ไปแล้วนั้นมีครึ่งหนึ่งที่ใช้บังคับได้จริง ส่วนที่เหลือยังไม่สามารถใช้แล้วเนื่องจากยังไม่มีการออกกฎหมายลูกหรือกฎกระทรวงซึ่งเกี่ยวกับวิธีการใช้มาประกอบ และมีปัญหาแบบนี้เกือบทุกกระทรวงโดยอ้างว่าที่ยังไม่ออกกฎหมายลูก เพราะเป็นเรื่องที่เขียนยาก นายกฯ จึงสั่งการให้ทุกกระทรวงไปเร่งออกกฎหมายลูกหรือกฎกระทรวง หากเรื่องใดที่รายละเอียดไม่ยาก สามารถทำได้ทันทีก็ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ส่วนเรื่องที่ยากต้องให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ขณะนี้ตนได้จัดทำรายชื่อกฎหมายที่ต้องดำเนินการไว้เรียบร้อยแล้วและจะเสนอให้ที่ประชุม ครม.กำหนดว่านับจากนี้ไปหากกระทรวงใดจะเสนอออกกฎหมายเป็น พ.ร.บ.จะต้องทำกฎหมายลูกหรือกฎกระทรวงประกบมาพร้อมกันด้วย เพื่อให้รัฐบาลและสภาฯ ได้เห็นรายละเอียดหน้าตาทั้งหมดของกฎหมาย

“บางกระทรวงมีกฎหมายใช้แล้ว ออกมาดูเท่ ไปคุยว่ามีกฎหมายแล้วแต่ยังทำอะไรไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายลูก เรื่องอย่างนี้เหมือนรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่ ถ้าไม่มีกฎหมายลูก รัฐธรรมนูญก็ทำอะไรไม่ได้ เหมือนกับมีคนเอาบัตรเครดิตมาให้ไปรูดเอง ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยง” นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา พ.ศ. ... ตนได้เรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และที่ประชุมได้แต่งตั้งผู้แทน 4 ฝ่าย ประกอบด้วย กระทรวงยุติธรรม ศาล ผู้แทนอัยการ และคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปร่วมปรับปรุงเนื้อหาของร่างดังกล่าว โดยให้ไปพิจารณาประเด็นที่ประธานศาลฎีกา ตั้งข้อสังเกต 4 ข้อ อาทิ การเสนอให้อัยการเป็นผู้ชะลอการฟ้องได้นั้น อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน ในลักษณะที่อาจเป็นการลำเอียงหรือเลือกปฎิบัติในการฟ้องดำเนินคดีผู้ต้องหาแต่ละรายไม่เท่ากันแล้วให้มีการคุมประพฤติ เช่น อัยการสั่งไม่ฟ้องก็จะมีการคุมประพฤติ หมายความว่าบุคคลนั้นจะได้กลับไปอยู่บ้านโดยที่ต้องมารายงานตัวทุกเดือน ขณะที่ศาลยุติธรรมระบุว่าการคุมประพฤติจะใช้ได้ต่อเมื่อศาลตัดสินแล้วว่าบุคคลนั้นมีความผิดและถูกลงโทษ แต่อัยการและกระทรวงยุติธรรมแย้งว่า การคุมประพฤติใช้ได้ทุกขั้นตอนเพียงแต่ประเทศไทยเคยชินกับการใช้ต่อเมื่อศาลตัดสินคดีแล้ว หากการคุมประพฤติมาใช้ก่อนไม่ได้ถือว่าขัดกติกา ขึ้นอยู่ว่ากฎหมายจะเขียนออกมาอย่างไร ซึ่งการคุมประพฤติไว้ก่อนตัดสินคดีนั้นได้ใช้ในศาลเด็กและเยาวชนและคดีจราจรอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อหารือกันแล้วแต่ละฝ่ายมีท่าทีเรื่องนี้อ่อนลง จึงให้ทั้ง 4 ฝ่ายไปทำความเข้าใจร่วมจัดทำแล้วส่งกลับมาให้รัฐบาลพิจารณาอีกครั้งซึ่งเราขอให้เร่งจัดทำโดยเร็วแต่ไม่ได้กำหนดเวลาว่าต้องเสร็จเมื่อใด


กำลังโหลดความคิดเห็น