รองนายกฯ เผย ปปง.รายงานปม “ปานามา เปเปอร์” แล้ว แนะรอแถลง ย้ำเอาผิดได้แม้มีตำแหน่งการเมือง มองเรื่องปกติเหตุป่วนงานชี้แจง รธน. ไม่มีใครคิดใช้กำลังแก้ ยังไม่แน่ใจคำถามพ่วงประชามติ ชี้ถามไม่ดีคำตอบมาแล้วจะเถียงกัน แย้มไม่มีอธิบายในคำถามให้แจงตอนรณรงค์ ยังตอบไม่ได้ใช้ ม.44 ให้ AIS จ่ายค่าคลื่นความถี่แทนแจสโมบาย แนะรอฟัง กสทช.พรุ่งนี้ ย้ำยึดประโยชน์สังคม
วันนี้ (7 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี “ปานามา เปเปอร์” เผยแพร่รายชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินซึ่งมีคนไทยรวมอยู่ด้วยว่า ทาง พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ ที่ปรึกษาประจำสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้รายงานให้ทราบแล้ว โดยขณะนี้ ปปง.กำลังติดต่อขอข้อมูลอยู่ ไม่รู้ว่า ปปง.จะเข้าไปขอข้อมูลจากหน่วยงานไหนบ้าง เพราะตนไม่ควรเข้าไปล้วงลึกถึงขนาดนั้น รอให้ฟัง ปปง.แถลงในวันที่ 8 เม.ย.จะดีกว่า ทั้งนี้ ตามกฎหมายในส่วนของนักธุรกิจหรือภาคเอกชนนั้นหากมีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายฟอกเงิน ปปง.ก็สามารถเอาผิดได้ ไม่เกี่ยวว่าคนนั้นจะมีตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่
นายวิษณุกล่าวถึงเหตุการณ์วุ่นวายระหว่างการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่จะรุนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งผู้ฟัง ผู้ประท้วง จะจุดชนวนหนักขนาดไหน คนไปชี้แจงใจเย็นพอหรือไม่ และคนภายนอกมีความคิดเห็นอย่างไร เหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดว่าเหตุการณ์จะรุนแรงหรือไม่รุนแรง จึงไม่มีอะไรน่าวิตก ส่วนเวทีต่อไปจะรุนแรงหรือไม่นั้นยังไม่ควรจะไปท้าทายหรือประมาทอะไรทั้งนั้น อะไรยังไม่เกิดอย่าไปคิดว่ามันจะเกิด และไม่มีใครตั้งใจจะใช้กำลังในการแก้ไขปัญหา ไม่มีใครคิดแผนไว้ล่วงหน้า
เมื่อถามถึงคำถามพ่วงประชามติ นายวิษณุกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าคำถามจะออกมาอย่างไร เพราะไม่รู้จะฟังใคร และยืนยันไม่เคยพูดว่าเห็นด้วยกับการตั้งคำถามพ่วง เพียงแต่บอกว่าตรรกะของนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ใช้ได้ แต่จะนำมาสู่การตั้งคำถามอย่างไรนั้นตนไม่แน่ใจ แต่หากถามไม่ดี เมื่อได้คำตอบมาแล้วจะเถียงกันตอนที่ผลประชามติออกมา กรธ.จะแก้กฎหมายไม่ถูกว่าถามแบบนี้แปลว่าอย่างไร และคำตอบที่ได้มานั้นผู้ลงประชามติคิดอย่างไร เพราะการตั้งคำถามเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม กรณีถ้ามีคำถามพ่วงอาจจะไม่มีคำอธิบายในคำถาม แต่จะต้องมีคำอธิบายระหว่างการรณรงค์ว่าหมายความว่าอย่างไร และคำอธิบายนี้ควรมีการชี้แจงตอนเสนอญัตติตั้งคำถามด้วย
เมื่อถามว่า คิดว่าคำถามพ่วงจะมีผลต่อการตัดสินใจรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เข้าใจว่า ณ ขณะนี้คำถามพ่วงกับคำถามหลักเป็นคนละเรื่อง แต่อีกหน่อยตนไม่แน่ใจ ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์มีส่วนเกี่ยวข้องกันนั้น ขณะนี้ยังตอบไม่ได้เพราะยังไม่รู้ว่าจะถามอะไร ถามแล้วจะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร คำถามพ่วงบางอย่างเวลาแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกันสามารถเขียนได้หลายแบบ
นายวิษณุกล่าวถึงการพิจารณาใช้มาตรา 44 เพื่อให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส จ่ายค่าคลื่นความถี่แทนบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ว่ายังไม่สามารถตอบได้ ต้องรอฟังการหารือจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในวันที่ 8 เม.ย.นี้ ซึ่งไม่ใช่การจะใช้มาตรา 44 แต่เป็นการหารือว่าเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น กสทช.ได้เสนอทางเลือกหลายทาง จะต้องดูว่าทางใดเป็นไปได้มากที่สุด ทางใดเป็นประโยชน์มากที่สุดต่อสังคมและส่วนรวม อีกทั้งต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดข้อครหา ไม่ให้ผิดกฎหมาย และต้องแน่ใจว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนจริง ซึ่งขึ้นอยู่กับความเสี่ยงหลายอย่าง เพราะเป็นการตั้งสมมติฐาน ปัญหาว่ามีความเป็นไปได้สนับสนุนแต่ละทางขนาดไหน