xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองยกฟ้อง “บิ๊กเบื๊อก” ฟ้อง สตช. ชี้ ก.ตร.ไม่มีอำนาจพิจารณาต่าง ป.ป.ช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (แฟ้มภาพ)
ศาลปกครองยกฟ้องคดี “สุชาติ เหมือนแก้ว” ฟ้อง สตช.เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน เหตุล่าช้าไม่ให้กลับเข้ารับราชการตามมติ ก.ตร. ขณะที่คำพิพากษาศาลระบุชัด ก.ตร.ผิด ชี้ไม่มีอำนาจพิจารณาฐานความผิดต่างจากที่ ป.ป.ช.ชี้มูลว่าผิดวินัยอย่างร้ายแรงจากการสลายชุมนุม พธม.หน้ารัฐสภาเมื่อ 7 ต.ค. 51

วันนี้ (1 เม.ย.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 ขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องปฏิบัติตามมติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจที่มีคำสั่งยกโทษและให้ตนกลับเข้ารับราชการตำรวจ พร้อมคืนสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ พิจารณาปรับเลื่อนชั้นยศจากพลตำรวจโท เป็นพลตำรวจเอก และชดใช้ค่าเสียหายจากการเสียสิทธิในการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด การไม่ได้รับเงินเดือน การเสื่อมเสียชื่อเสียง เกียรติยศ รวม 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากหลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งปลด พล.ต.ท.สุชาติออกจากราชการ ตามที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลว่าความผิดวินัยร้ายแรงจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 พล.ต.ท.สุชาติได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ซึ่งก็มีมติว่าการกระทำของ พล.ต.ท.สุชาติไม่ถือเป็นความผิดวินัยร้ายแรงและมีคำสั่งยกโทษให้และให้กลับเข้ารับราชการ แต่ สตช.กลับไม่มีการดำเนินการ พล.ต.ท.สุชาติจึงได้มาฟ้องคดีต่อศาล

ส่วนเหตุที่ศาลยกฟ้องระบุว่า การที่ ก.ตร.มีมติยกโทษและให้ พล.ต.ท.สุชาติกลับเข้ารับราชการนั้น ขัดแย้งต่อการชี้มูลของ ป.ป.ช.ทั้งที่มาตรา 92 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ. ป.ป.ช. 2552 บัญญัติชัดแจ้งว่า การลงโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหาให้พิจารณาโทษตามฐานความผิดที่ ป.ป.ช.ชี้มูล เมื่อความผิดของ พล.ต.ท.สุชาติเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โทษตามฐานความผิดคือปลดออก ไล่ออก ซึ่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 ก็ระบุให้ผู้มีอำนาจสั่งลงโทษมีอำนาจเพียงใช้ดุลพินิจว่าจะปลดออกหรือไล่ออกเท่านั้น ไม่มีอำนาจพิจารณาฐานความผิดให้แตกต่างไปจากที่ ป.ป.ช.ชี้มูล และแม้การมีคำสั่งตามการชี้มูลของ ป.ป.ช.จะให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์ได้ แต่ก็อุทธรณ์ได้เฉพาะดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาว่าเหมาะสมกับความผิดหรือไม่เท่านั้นจะไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ว่าการกระทำของ พล.ต.ท.สุชาติไม่เป็นความผิดวินัยร้ายแรงซึ่งขัดกับที่ ป.ป.ช.ชี้มูลไม่ได้ และกรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยที่ 2/2546 เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2546 ว่าอุทธรณ์คำสั่งลงโทษเป็นการอุทธรณ์ได้เฉพาะระดับโทษตามฐานความผิดที่ ป.ป.ช.และองค์กรที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาตามขั้นตอนต่อจากกระบวนการที่ ป.ป.ช.ดำเนินการสมบูรณ์เสร็จสิ้นแล้ว มีอำนาจพิจารณาเฉพาะเรื่องดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาตามฐานความผิดเดิมที่ ป.ป.ช.มีมติเท่านั้น ไม่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงฐานความผิดทางวินัยตามที่ ป.ป.ช.วินิจฉัยยุติแล้วให้เป็นประการอื่นได้อีก ซึ่งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด ผูกพันทุกองค์กร

มติ ก.ตร.ในการประชุมครั้งที่ 17/2552 ลงวันที่ 30 ธ.ค. 2552 และครั้งที่ 1/2553 ลงวันที่ 15 ม.ค. 2553 ที่ว่า พล.ต.ท.สุชาติไม่ได้ทำผิดวินัยร้ายแรงตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูลจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่ ก.ตร.อ้างว่า ป.ป.ช.กระทำการเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ ก็เห็นว่าไม่ให้อำนาจหน้าที่ของ ก.ตร.ที่จะวินิจฉัยเพื่อนำมาเป็นเหตุปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามมาตรา 92 วรรคหนึ่งของ พ.ร.บ. ป.ป.ช. และเมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 2/2546 ทำให้มติ ก.ตร.ดังกล่าวเสมือนหนึ่งไม่มีอยู่เลย ดังนั้น ผบ.ตร.จึงไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมติ ก.ตร.ที่สั่งให้รับ พล.ต.ท.สุชาติกลับเข้ารับราชการ และไม่ถือว่าผู้ถูกฟ้องทั้งสองละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ พล.ต.ท.สุชาติพึงได้รับนับแต่ถูกปลดจนถึงวันที่เกษียณอายุราชการเมื่อครบ 60 ปีบริบูรณ์ แม้ต่อมาจะมีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 504/2556 ลงวันที่ 23 ส.ค. สั่งยกโทษปลด พล.ต.ท.สุชาติออกจากราชการ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองก็มีการดำเนินการเพื่อจ่ายคืนเงินเดือนตั้งแต่ 1 พ.ย. 52 จนถึง 30 ก.ย. 54 รวมเป็นเงิน 1,499,140 บาท แก่ พล.ต.ท.สุชาติ โดยเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 57 พล.ต.ท.สุชาติได้มารับเงินดังกล่าวและมีการจ่ายเงินบำนาญตกเบิกให้ตั้งแต่ พ.ย. 52 จนถึง มิ.ย. 57 แล้ว ดังนั้นเมื่อการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติจึงไม่เป็นการละเมิดที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ พล.ต.ท.สุชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น