xs
xsm
sm
md
lg

อำนาจทหารเบ็ดเสร็จปราบมาเฟียน่าหวาดเสียว งานล้นหรือ ตร.เกียร์ว่าง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 13/2559 เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดบางประการที่เป็นภัยอันตรายต่อความสงบเรียบร้อย หรือบ่อนทําลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ให้ทหารเป็นเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามมาเฟีย สามารถเข้าค้นบ้านได้โดยไม่มีหมาย รวมถึงการยึด อายัดทรัพย์สินได้ หรือเรียกตัวผู้ต้องสงสัยสอบพร้อมคุมตัวได้ 7 วัน

คำสั่งดังกล่าวซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา มีสาระสำคัญ เช่น สามารถออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานได้ เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นบุคคลหรือยานพาหนะใดๆ ทั้งนี้ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลซึ่งกระทำความผิด หลบซ่อนอยู่หรือมีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยการกระทำความผิด หรือได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไป หรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ค้นพบ

“ในกรณีที่ยังสอบถามไม่แล้วเสร็จจะควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ก็ได้ แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวัน แต่การควบคุมตัวดังกล่าวต้องควบคุมไว้ในสถานที่อื่นที่มิใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้ต้องหามิได้

การกระทำตามคำสั่งนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามและผู้ช่วยเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามที่กระทำการไปตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 17 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน”

นั่นเป็นรายละเอียดคำสั่ง คสช.ที่ 13/59 ที่ให้อำนาจทหารเป็นเจ้าพนักงานเหมือนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ที่สำคัญก็คือเป็นการให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ทหาร “อย่างกว้างขวาง” แบบครอบจักรวาลเลยทีเดียว

ทั้งอำนาจในการตรวจค้นแบบไม่ต้องขอหมายศาล สามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาได้นานถึง 7 วัน และสามารถควบคุมใน “สถานที่อื่น” ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจ และที่สำคัญไม่สามารถนำมาเป็นเรื่องฟ้องร้องในทางปกครองภายหลังอีกด้วย

เหตุผลที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และรองหัวหน้า คสช.อ้างว่า “ตำรวจมีไม่พอ” ฟังดูมันอาจง่ายและดูพื้นๆ เกินไป ดังนั้นมันต้องมองให้ลึกลงไปมากกว่านั้น และต้องเชื่อมโยงสถานการณ์ในภาพรวมกันทั้งระบบ

หากพิจารณากันถึงเรื่องการปราบปรามผู้มีอิทธิพลก็ต้องบอกว่าเริ่มดำเนินการมาได้พักหนึ่งแล้ว แต่ที่ผ่านมาฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารก็จะทำหน้าที่เป็น “ผู้ช่วยเจ้าพนักงาน” หมายถึงทหารจะค่อยช่วยเหลือสนับสนุนตำรวจ ไม่มีอำนาจในการตรวจค้นจับกุมฝ่ายเดียว รวมไปถึงไม่มีอำนาจในการควบคุมตัว

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากผลงานในช่วงที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ถ้าพูดว่าการปราบปรามผู้มีอิทธิพลทั่วประเทศสำเร็จหรือไม่ ก็ต้องถามกลับไปว่าจะให้มองแบบไหน ถ้าความหมายของผู้มีอิทธิพลที่เป็นพ่อค้ายาเสพติด นายทุนเงินกู้ อันธพาลในชุมชน ที่จับกุมมาและนำมาแถลงข่าวโชว์พร้อมของกลาง ถ้าแบบนี้ก็ไม่ว่ากัน แต่สำหรับความหมายของผู้มีอิทธิพลระดับประเทศประเภท “ขาใหญ่” ในความเข้าใจของชาวบ้านก็ต้องบอกตรงๆ ว่า “ยังไม่เคยเห็น” และเชื่อว่าคงจะไม่มีโอกาสได้เห็น

ขณะเดียวกัน หากมองว่าการปราบปรามผู้มีอิทธิพลทั้งที่จากเดิมให้ตำรวจดำเนินการฝ่ายเดียว จนกระทั่งมาถึงการออกคำสั่งพิเศษให้ทหารเป็นเจ้าพนักงานตรวจค้นจับกุม ควบคุมตัวได้ถึง 7 วันแบบนี้มันก็ทำให้หลายฝ่ายมองว่า “มีเป้าหมายทางการเมือง” แอบแฝงเข้ามาด้วย เนื่องจากพิจารณาจากช่วงเวลาที่กำลังมีเรื่องราวสำคัญประดังเข้ามา ไม่ว่าเป็นช่วงที่ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นสมบูรณ์และต้องนำไปสู่ขั้นตอนประชามติที่กำหนดเอาไว้แล้วในวันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ประกาศรณรงค์คว่ำร่างดังกล่าวกันแล้ว

แน่นอนว่าในทางการเมืองมองได้ว่าเริ่มมีความตึงเครียดต่อเนื่องไปเรื่อยๆจนถึงวันหน้าหากมีการเลือกตั้งที่กำหนดเอาไว้ในปี 60 ซึ่งทั้งในเรื่องรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งสำหรับพรรคเพื่อไทยของ ทักษิณ ชินวัตร พวกเขาย่อมมีเดิมพันสูงยิ่ง เพราะนั่นหมายถึงชะตากรรมในอนาคตกันเลยทีเดียว

ขณะเดียวกัน เมื่อลองทบทวนและปะติดปะต่อเหตุการณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าทางฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เริ่มเคร่งเครียดมากเป็นพิเศษมากกว่าเดิม นั่นคือการส่งสัญญาณเข้มข้นกับฝ่ายการเมืองที่คิดว่า “คุกคาม” ความมั่นคงของพวกเขา ดังจะเห็นได้จากการเรียก “ลูกน้อง” ของทักษิณ ชินวัตร หลายคนไปเข้าค่ายอบรมไม่ว่าจะเป็น วรชัย เหมะ วัฒนา เมืองสุข เป็นต้น และจ่อคิวอีกหลายคน โดยคราวนี้มีการเตือนออกมาว่าจะเข้าไปอบรมยาวนับเดือนกันเลยทีเดียว

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มจากวันนี้เป็นต้นไปก็ต้องพูดกันตามความจริงว่ามันยังมี “ความเสี่ยง” ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ สถานการณ์อาจพลิกผันจนเหนือความควบคุมได้เมื่อไหร่ก็ได้ แม้ว่าทุกอย่างในเวลานี้ยังอยู่ในมือแบบเบ็ดเสร็จอยู่ก็ตาม แต่เพื่อความไม่ประมาทก็ต้องหาทาง “อุดช่องโหว่” เอาไว้ล่วงหน้าไว้ก่อน และด้วยเหตุผลดังกล่าวเปล่าไม่รู้ถึงได้ออกคำสั่งให้ทหารเข้ามาเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจที่อาจเรียกว่ามากกว่าตำรวจเสียอีก หรืออาจเป็นเพราะที่ผ่านมาลองใช้งานแล้วแต่ยังไม่เข้าเป้า หรือที่เรียกว่ามี “เกียร์ว่าง” หรือเปล่า

ขณะเดียวกัน นี่เป็นการอาจป้องกันเอาไว้ก่อน เนื่องจากหากพิจารณาตามโรดแมป มันอาจเป็นการนับถอยหลัง อย่างที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อ้างว่าเหลือเวลาอีกแค่ “ปีเศษ” เท่านั้น นั่นย่อมทำให้พวก “นกรู้” ทำการเฉื่อยงาน หรือเกียร์ว่าง ทำหูทวนลม เพื่อรอรัฐบาลใหม่ “นายคนเดิม” กลับมา ด้วยเหตุนี้จึงต้อง “สร้างกลไกส่วนตัว” ที่ไว้ใจได้ อย่างการให้ทหารเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจเต็มพิกัด ซึ่งแบบนี้เชื่อว่าต้องถึงลูกถึงคนแน่

แต่อีกด้านหนึ่งการใช้อำนาจแบบนี้มันก็มีความเสี่ยง มีความหวาดเสียวเสี่ยงต่อการเข้าใจผิดจากสังคมภายนอก สร้างความรู้สึกระแวงหวาดกลัว และเสี่ยงต่อการที่ฝ่ายตรงข้ามนำไปบิดเบือนสร้างกระแสอีกแบบหนึ่งก็ได้ และที่สำคัญในการทำงานต้องไม่ให้เกิดความผิดพลาดเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นยุ่งแน่ ขอบอก!!
กำลังโหลดความคิดเห็น