xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อกับตลาดหุ้น (1)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ช่วงที่ผ่านมาเราได้เห็นถ้อยแถลงของธนาคารกลางทั่วโลกมักมีคำว่า “อัตราเงินเฟ้อ” รวมอยู่ด้วยทุกครั้ง เรามาดูกันว่าในการลงทุนทำไมต้องวิเคราะห์แนวโน้มเงินเฟ้อ

ในทางเศรษฐศาสตร์มักใช้อัตราเงินเฟ้อ (Inflation) เป็นดัชนีชี้วัดในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาการลงทุนในตลาดหุ้น เห็นได้จากสื่อทางด้านเศรษฐกิจเกือบทุกแห่งจะต้องมีการรายงานอัตราเงินเฟ้อ

ความหมายของเงินเฟ้อคือ การที่มีราคาสินค้าต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถ้าหากอยู่ในระดับสูงเกินกว่าความสามารถในการจับจ่าย หรือระดับรายได้ของประชาชนจะส่งผลเสียทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ราคาสินค้าปรับตัวสูงกว่ารายได้นั่นเอง

เงินเฟ้อจะถูกเปรียบเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์เทียบกับดัชนีราคา เช่น อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่รายงานเงินเฟ้อในประเทศไทยนั่นคือ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแลกำกับราคาสินค้าที่จำหน่ายในประเทศ

ปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นประกอบด้วย 2 สาเหตุ คือ การเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้า (Demand Pull) กล่าวคือ เกิดความต้องการสินค้านั้นๆ ขึ้นอย่างชัดเจน เช่น เกิดความต้องการแรงงานประเภทหนึ่งมากเป็นพิเศษทำให้อัตราจ้างถูกดันให้สูงขึ้น หรือเกิดเทรนด์ใหม่ๆ ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจซื้อสินค้าอย่างเช่นสมาร์ทโฟน ทำให้ราคาขายปรับตัวสูงขึ้น บางครั้งการที่เกิดปริมาณเงินไหลเวียนในระบบจำนวนมากเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันเงินเฟ้อขึ้นมาได้เช่นกัน เช่นกรณีของการทำคิวอีของธนาคารกลางสหรัฐฯ

กล่าวคือ หากเศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ด้วยดี ประชาชนมีกำลังในการจับจ่ายใช้เงินจะทำให้เกิดความต้องการซื้อสินค้ามากขึ้น ราคาสินค้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้น

ขณะเดียวกัน สาเหตุการเกิดเงินเฟ้อยังมาจากราคาต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น (Cost Push) เช่น การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันซึ่งอาจมาจากปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น ไม่สามารถผลิตพลังงานมาใช้ได้ทัน ส่งผลให้ราคาสินค้า และบริการจำเป็นต้องปรับเพิ่มขึ้นด้วยแม้ว่าอาจจะไม่มีความต้องการในตลาดก็เป็นได้ เนื่องจากพลังงานคือ ต้นทุนหลักของการผลิตสินค้านั่นเอง (เช่น ต้นทุนในการขนส่งสินค้า ต้นทุนในการปรุงอาหาร)

อัตราเงินเฟ้อ คือ ตัวชี้วัดว่าเศรษฐกิจกำลังเติบโตในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ ทั่วไปแล้วนักเศรษฐศาสตร์มักจะเทียบอัตราเติบโตของจีดีพีกับอัตราเงินเฟ้อ เช่น คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 4% แต่เงินเฟ้อขยายตัวในระดับ 5% แสดงว่าระดับรายได้ หรือกำลังในการจับจ่ายของประชาชนต่ำกว่าเงินเฟ้อ เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจอาจจะมีปัญหา แต่หากจีดีพีมีอัตราเติบโตที่สูงกว่าเงินเฟ้อแสดงว่าประชาชนมีกำลังจับจ่ายซื้อสินค้าที่มากกว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น

เกณฑ์ชี้วัดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่กำหนดอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมมักจะตั้งไว้ที่ระดับ 3% ซึ่งเป็นเกณฑ์เฉลี่ยที่ใกล้เคียงกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยย้อนหลังหลายปี ถ้าหากเงินเฟ้อกับจีดีพีเติบโตไปในอัตราเดียวกันถือว่าเป็นการเติบโตที่สมดุล (ประชาชนมีกำลังในการจับจ่ายที่เหมาะสมนั่นเอง) แต่หากเงินเฟ้อสูงกว่าจีดีพีแสดงว่า เศรษฐกิจอาจจะมีปัญหาเพราะกำลังจับจ่ายซื้อของต่ำกว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

วันพรุ่งนี้เรามาติดตามกันต่อว่าเงินเฟ้อมีผลต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นอย่างไร

SuperTrader Team
ติดตามรายละเอียดของโครงการได้ที่ www.supertrader.co.th
SuperTrader รายการเรียลิตีการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ เข้มข้นด้วยความรู้จากโค้ชผู้มากประสบการณ์ ผ่านบททดสอบจากตลาดหุ้นจริง


กำลังโหลดความคิดเห็น