เอเอฟพี/MGR ออนไลน์ - ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) สร้างเซอร์ไพรซ์ในวันพฤหัสบดี (10 มี.ค.) ด้วยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยสำคัญๆ ลงไปอีก รวมทั้งเพิ่มขยายมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง ทั้งนี้เพื่อเสริมแนวรบในการทำศึกไม่ให้เศรษฐกิจจมถลำลงสู่ภาวะเงินฝืด ตลอดจนขับดันให้อัตราเติบโตของภูมิภาคนี้กระเตื้องฟื้นตัว
อัตราดอกเบี้ยตัวสำคัญๆ อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อยู่แล้ว แต่ในคราวนี้อีซีบีได้ประกาศหั่นลดลงไปอีก แถมระบุว่าจะอัดฉีดเม็ดเงินใหม่ๆ จำนวนมหาศาลเข้าไปในระบบการธนาคาร รวมทั้งยังจะเริ่มต้นรับซื้อคืนตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นหนแรกที่ธนาคารกลางยุโรปกระทำเช่นนี้
ปรากฏว่าความเคลื่อนไหวในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนของอีซีบีครั้งนี้ ในเบื้องต้นทีเดียวทำให้ตลาดการเงินรู้สึกเซอร์ไพรส์ และจุดชนวนให้ตลาดหุ้นในแถบยูโรโซนพุ่งขึ้น รวมทั้งส่งผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ทว่า ในเวลาต่อมาราคาหุ้นก็กลับไหลตกลง
“ว้าว อีซีบีไปไกลกว่าที่คาดหมายกันในแทบทุกๆ ด้านเลยในวันนี้” โฮลเกอร์ ชมีดิง นักเศรษฐศาสตร์แห่งเบเรนเบิร์กแบงก์ กล่าวให้ความเห็นซึ่งสะท้อนความรู้สึกของคนจำนวนมากในตลาด
ทั้งนี้ อีซีบีได้ลดอัตราดอกเบี้ยสำคัญทั้ง 3 ตัว ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยในการปล่อยกู้แก่พวกแบงก์พาณิชย์ หรือที่เรียกกันว่าอัตราดอกเบี้ยรับซื้อคืน (refi rate) จาก 0.05% ลงมาเหลือ 0% เป็นครั้งแรก
ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยของกลไกรับฝากเงินจากพวกธนาคารพาณิชย์ ก็หั่นจาก -0.30% มาอยู่ที่ -0.4% นี่หมายความว่าในทางเป็นจริงแล้วพวกแบงก์พาณิชย์ต้องจ่ายเงินให้อีซีบี หากพวกเขาเลือกที่จะโอนเงินทุนส่วนเกินของเขาในช่วงสิ้นวันไปยังอีซีบี
ส่วนอัตราดอกเบี้ยของกลไกปล่อยกู้ marginal lending facility ซึ่งอีซีบีใช้เป็นช่องทางปล่อยสินเชื่อชั่วข้ามคืนให้แก่แบงก์พาณิชย์นั้น ก็จะลดลงจาก 0.30% เหลือ 0.25%
ยิ่งกว่านั้น อีซีบียังประกาศจะขยายปริมาณพันธบัตรต่างๆ ที่ตนจะรับซื้อในแต่ละเดือนภายใต้โปรแกรมผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ของตน จาก 60,000 ล้านยูโร เป็น 80,000 ล้านยูโร และโครงการคิวอีนี้ยังจะเริ่มรับซื้อตราสารหนี้ภาคบริษัทด้วย
สุดท้าย เพื่อเป็นวิธีบรรเทาภาระต้นทุนของพวกแบงก์พาณิชย์ อีซีบีแถลงว่าจะนำเอากลไกขนาดใหญ่ตัวใหม่ในการปล่อยกู้ดอกเบี้ยถูกแก่แบงก์พาณิชย์ต่างๆ ซึ่งใช้ชื่อว่า TLTRO ออกมาใช้ เพื่อช่วยอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน
ในการแถลงข่าวตามธรรมเนียมของเขา ภายหลังการประชุมของคณะมนตรีผู้ว่าการของอีซีบี เพื่ออธิบายมติต่างๆ ที่ออกมา มาริโอ ดรากี ประธานอีซีบีบอกว่า เนื่องจากมีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนให้ต่ำลงมา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการใหม่ๆ เหล่านี้
“แพกเกจที่ครอบคลุมรอบด้านแพกเกจนี้ ... มุ่งหมายเพื่อให้เกิดการปรับตัวอย่างเหมาะสม ทั้งในด้านการผ่อนปรนเงื่อนไขในการปล่อยกู้, ในการกระตุ้นด้านการจัดหาสินเชื่อใหม่ๆ และด้วยเหตุนี้ก็จะสร้างเสริมโมเมนตัมของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซน รวมทั้งเร่งตัวให้อัตราเงินเฟ้อกลับคืนมาสู่ระดับที่ต่ำกว่าแต่ใกล้ๆ กับ 2.0%” ดรากี อธิบาย
เขาปฏิเสธเสียงที่พูดกันว่า ยูโรโซนได้ถลำลงสู่ภาวะเงินฝืดแล้ว ทั้งนี้ภาวะเงินฝืดหมายถึงการที่ระดับราคาต่างๆ ตกต่ำไปเรื่อยๆ อันจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะเศรษฐกิจจะทรุดตัวซบเซาโดยที่การแก้ไขจะกระทำได้ยากลำบากมาก
เสียงพูดเช่นนี้ดังขึ้นเป็นพิเศษ หลังจากในเดือนที่แล้วอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนอยู่ในระดับติดลบ โดยที่ราคาผู้บริโภคจริงๆ ลดลงในอัตรา 0.2%
ดรากีกล่าวว่า ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อน่าจะยังอยู่ในแดนลบต่อไปอีกหลายๆ เดือนในปีนี้ แต่เมื่อถึงช่วงสิ้นปี มันจะเพิ่มสูงอีกครั้ง สืบเนื่องจากการใช้มาตรการนโยบายทางการเงินต่างๆ ของอีซีบี
อีซีบีนั้นเข้าทำสงครามมาเป็นแรมปีแล้ว เพื่อมุ่งขับดันอัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นสู่ระดับซึ่งเห็นกันว่าสอดคล้องกับอัตราการเติบโตที่มีสุขภาพดีของเศรษฐกิจ ทว่ายังแทบไม่บังเกิดผลอะไร
กระนั้น ดรากีก็ยืนยันว่า อีซีบียังมีมาตรการใหม่ๆ อีกมากที่จะสามารถนำออกมาใช้เพิ่มเติมเมื่อมีความจำเป็น
ตามการคาดการณ์ล่าสุดของเจ้าหน้าที่อีซีบี อัตราเติบโตของยูโรโซนกำลังเชื่องช้าลงกว่าที่คาดหมายกัน และตอนนี้จึงพยากรณ์กันใหม่ว่าจะเติบโตเพียงแค่ 1.4%ในปี 2016, 1.7%ในปี 2017, และ 1.8% ในปี 2018
อัตราเงินเฟ้อก็เช่นกัน เวลานี้ตัวเลขคาดการณ์ได้ถูกปรับต่ำลงมา โดยอยู่ที่แค่ 0.1% ในปี 2016 และ 1.3% ในปี 2017 ซึ่งก็ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ระบุว่าควรจะใกล้ๆ 2.0%