พท.ออกแถลงการณ์อ้างร่าง รธน.ฉบับ “มีชัย” ขัดหลักประชาธิปไตย ประชาชนไม่มีส่วนร่วม มีเงื่อนไขสร้างปัญหาให้ประเทศในอนาคต จึงไม่รับร่าง รธน. พร้อมเรียกร้องรัฐบาลให้แก้ไข รธน.ชั่วคราว กำหนดให้นำ รธน.ฉบับปี 40 มาปรับแก้ประกาศใช้ชั่วคราว หากร่าง รธน.ใหม่ไม่ผ่านประชามติ จากนั้นให้ตั้งสมาชิกสภาร่าง รธน.เพื่อยกร่างฯ ใหม่ โดยประชาชนมีส่วนร่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (30 มี.ค.) พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์เรื่องไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ยอมรับอำนาจของประชาชน โดยเนื้อหาระบุว่า ตามที่พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าเป็นร่างฯ ที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยหลายส่วน และยังจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างปัญหาให้กับประเทศมากยิ่งขึ้น จึงมีความเห็นว่าไม่อาจที่จะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ด้วยเหตุผลดังนี้
ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม พร้อมระบุว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ถือว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของประชาชน เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุดซึ่งใช้ในการปกครองประเทศที่ส่งผลโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนในสังคม จึงต้องให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการยกร่างฯ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลมาจากการรัฐประหารของ คสช.และ คสช.เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างขึ้นเอง เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นไปตามความต้องการของ คสช.เป็นหลักมากกว่าเพื่อประโยชน์ของประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะสร้างปัญหาทางการเมืองให้เพิ่มมากขึ้น
ระบบการเมืองและการเลือกตั้ง มีผลโดยตรงต่อการพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ถ้าการเมืองมีปัญหา พรรคการเมืองอ่อนแอ รัฐบาลไร้เสถียรภาพก็ไม่อาจที่จะพัฒนาประเทศชาติ และคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เจริญก้าวหน้าและอยู่ดีกินดีได้
บทพิสูจน์นี้ยืนยันได้จากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ได้สร้างเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้สร้างกลไกที่จะนำไปสู่ปัญหาการเมืองหลายประการ เช่น สร้างระบบเลือกตั้งที่ไม่เคยมีใช้ที่ใดในโลก เอาประเทศและประชาชนเป็นตัวประกันเพื่อลองผิดลองถูก ซึ่งระบบนี้จะสร้างให้เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค รัฐบาลไร้เสถียรภาพและประสิทธิภาพในการบริหาร วางกลไกเพื่อเปิดช่องให้บุคคลที่ไม่ได้เป็น ส.ส.มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งที่การเรียกร้องให้นายกฯ มาจาก ส.ส.นั้น กว่าจะได้มาต้องเสียเลือดเสียเนื้อของพี่น้องประชาชนไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งระบบเลือกตั้งดังกล่าวประชาชนไม่มีสิทธิในการ “เลือกคนที่รัก” และ “เลือกพรรคที่ชอบ” ได้เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 แต่ถูกบังคับให้เลือกทั้งคนและพรรคด้วยบัตรเลือกตั้งใบเดียว นอกจากนี้ยังนำคะแนนของผู้แพ้การเลือกตั้งมาคำนวณเพื่อเพิ่มจำนวน ส.ส.ให้พรรคที่แพ้เลือกตั้ง ขัดหลักประชาธิปไตย ในที่สุดรัฐบาลที่ได้มาจะเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอไร้เสถียรภาพและประสิทธิภาพ เกิดปัญหาขัดแย้งกันได้ง่าย อายุรัฐบาลสั้น สูญเสียงบประมาณในการเลือกตั้งบ่อยครั้ง รัฐบาลจะสนใจแต่จะแก้ปัญหาตนเองมากกว่าปัญหาของประชาชน
ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่อำนาจการปกครองประเทศไม่ได้เป็นของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้สร้างกลไกที่ลดทอนอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชน แต่เพิ่มอำนาจให้ ส.ว.ซึ่งมาจากการสรรหา ยิ่งระยะ 5 ปีแรก หลังใช้รัฐธรรมนูญ ส.ว.250 คนล้วนมีที่มาจาก คสช.ทั้งสิ้น โดยอ้างว่าเพื่อปฏิรูปและวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศทั้งที่เรื่องดังกล่าวควรเป็นอำนาจหน้าที่ของตัวแทนประชาชน ส.ว.250 คน จะเป็นกลไกในการยับยั้งกฎหมายของรัฐบาลที่มาจากประชาชน ยังสามารถลงมติร่วมกับ ส.ส.เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มิได้เป็น ส.ส.ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การปกครองประเทศจึงยังคงเป็นของ คสช.โดยทางอ้อม และหากคนของ คสช.ได้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยก็จะเป็นการควบคุมอำนาจการปกครองแบบเบ็ดเสร็จ ทิศทางของประเทศจึงเป็นไปตามความคิดของ คสช.มากกว่าที่จะเป็นไปตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่
ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำพาเศรษฐกิจของประเทศดิ่งเหวยิ่งขึ้น โดยระบุว่าเมื่อรัฐธรรมนูญไม่มีความเป็นประชาธิปไตย มีแนวโน้มที่จะสร้างปัญหาทางการเมืองมากขึ้น ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของต่างประเทศ การลงทุนในประเทศจะลดลง การส่งออก ยิ่งเกิดวิกฤต ทั้งที่ขณะนี้ประเทศและประชาชนก็ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจมากอยู่แล้ว หลังใช้รัฐธรรมนูญ วิกฤตทางเศรษฐกิจจะมีมากยิ่งขึ้น
ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่สร้างให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือสภาและรัฐบาล พร้อมระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับอำนาจของประชาชน แต่กลับมีอำนาจมากล้นในการตรวจสอบอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรีและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ สามารถถอดถอนรัฐมนตรี, ส.ส., ส.ว.โดยอาศัยเพียงเสียงข้างมาก ในอนาคตการทำหน้าที่ของ ส.ส.และรัฐบาล จะติดขัดไปหมด เพราะคนที่ไม่พอใจจะไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยง่าย ทั้งที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญได้สร้างวิกฤตศรัทธาให้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่สร้างภาพว่าเพื่อปราบโกง โดยมุ่งสกัดกั้นนักการเมืองและพรรคการเมือง แต่มิได้ปฏิรูปและวางระบบเพื่อแก้ปัญหาฉ้อราษฎรบังหลวงเลยแม้แต่น้อย โดยชี้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อ้างเสมอว่าเพื่อปราบโกง แต่แท้จริงแล้ว กลับสร้างกลไกให้ข้าราชการประจำเข้ามามีอำนาจทางการเมือง ดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่คนใน คสช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รัฐบาล รวมทั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ก็เป็นข้าราชการในกองทัพและข้าราชการประจำอื่นๆ กินเงินเดือนจากภาษีของประชาชนหลายตำแหน่งหลายทาง และรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นก็เปิดช่องทางให้แต่งตั้งข้าราชการประจำดำรงตำแหน่ง ส.ว.ด้วย ไม่ปรากฏให้เห็นว่าได้มีความพยายามที่จะปฏิรูปและวางแนวทางแก้ไขปัญหาทุจริตอย่างเป็นระบบ ไม่มีการปฏิรูปองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมาได้สร้างวิกฤตให้แก่ชาติหลายครั้ง
ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่สร้างยุทธศาสตร์บังคับเดิน 20 ปี รัฐบาลที่มาจากการตัดสินใจของประชาชนไม่สามารถกำหนดนโยบายในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้โดยอิสระ หรือตามสภาพความเป็นจริง เพราะต้องปฏิบัติหรือดำเนินการบริหารบ้านเมืองตามกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปีของ คสช.ซึ่งยังไม่เคยมีประสบการณ์ หรือยังไม่เคยพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถและความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาของประชาชนจนเป็นที่ประจักษ์ชัด อาจกล่าวได้ว่า “2 ปีที่ผ่านมา ยังไม่ได้ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ามีอะไรดีขึ้น ถ้าจะให้บริหารต่อไปอีก 5 ปี ชีวิตของเราจะดีขึ้นกว่านี้อย่างไร ยิ่งถ้าต้องให้เดินตามต่อไปอีก 20 ปีตามแผนยุทธศาสตร์ นึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะเป็นอย่างไร”
ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ทำประเทศถอยหลัง โดยระบุว่าโลกยุคปัจจุบันและอนาคตแข่งขันกันที่ความเร็วและความเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา
“วิธีคิดตามรัฐธรรมนูญ” ที่จัดทำขึ้นไม่สามารถตามทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นซึ่งรังแต่จะทำให้ “ประเทศถอยหลังและตกเป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลง” จนถึงกับมีบางคนกล่าวเปรียบเทียบว่า “อนาคตของไทย คือ อดีตที่ผ่านพ้นมากว่า 20 ปีของพม่า”
ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่จะสร้างความขัดแย้งให้เพิ่มมากขึ้นในสังคม ความปรองดองก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ โดยชี้ว่า ปัญหาความแตกแยกทางความคิดของคนในสังคม เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ รัฐบาล คสช.เข้ามาบริหารประเทศ 2 ปี กลับไม่ได้สร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น แต่กลับมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้น แทนที่จะใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาดังกล่าว กลับมีกลไกที่สร้างปัญหาความขัดแย้งเพิ่มขึ้นหลายประเด็น เช่น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล ปัญหาระหว่างศาลรัฐธรรมนูญ ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ความขัดแย้งระหว่าง ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งกับสภาผู้แทนราษฎร อาจจะได้เห็นการใช้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเป็นเครื่องมือทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองขึ้นอีกเหมือนเช่นที่ผ่านมา จนเกิดวิกฤตศรัทธาต่อศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ
เมื่อเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สร้างปัญหาทางการเมือง จำกัดโอกาสของประเทศในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดทอนสิทธิและโอกาสของประชาชน ให้คนเพียงกลุ่มเดียวกำหนดทิศทางคนทั้งประเทศ ทั้งที่ไม่ใช่ตัวแทนประชาชน สร้างอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ มีอำนาจเหนือตัวแทนของประชาชน วางกลไกให้มีการสืบทอดอำนาจต่อไป จึงสมควรที่ประชาชนจะร่วมกัน “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ
แถลงการณ์ระบุว่า กล่าวโดยสรุป พรรคเพื่อไทยมีข้อเสนอแนะต่อพี่น้องประชาชน ดังนี้ 1) พรรคเพื่อไทย ขอให้พี่น้องประชาชนร่วมกันออกมาลงประชามติ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ยอมรับอำนาจของประชาชน และขาดความเป็นประชาธิปไตย 2) พรรคเพื่อไทย เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ก่อนการลงประชามติ เนื่องจากไม่ได้กำหนดว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติแล้วจะดำเนินการอย่างไร อันเป็นการเอาเปรียบประชาชน
โดยให้แก้ไขอย่างชัดเจนว่า “หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ให้นำรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มาปรับแก้และประกาศใช้เป็นการชั่วคราว” พร้อมกับ “จัดให้มีการเลือกตั้งภายในไม่เกิน 6 เดือน” เพื่อให้การบริหารประเทศ และการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน ไม่สะดุด หรือกระทบกระเทือน หลังจากนั้น “ให้รัฐบาลจัดให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการยกร่างจนถึงการให้ความเห็นชอบด้วยการลงประชามติ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยทั้งในส่วนของเนื้อหาและกระบวนการได้มา
3) พรรคเพื่อไทยเข้าใจถึงการรอคอยของประชาชนที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่การเลือกตั้งภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และสร้างปัญหาในอนาคตนั้น จะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนและประเทศชาติจนยากที่จะแก้ไขได้ อย่างไรก็ตาม แม้ประชาชนจะลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยมั่นใจว่าจะต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายในปี 2560 เพราะหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศไว้ต่อสาธารณชนและนานาประเทศหลายครั้งหลายหน ยืนยันว่า จะต้องมีการเลือกตั้งภายในกำหนดเวลาดังกล่าวอย่างแน่นอน