xs
xsm
sm
md
lg

เปิดกำหนดการ “บิ๊กตู่” บินสหรัฐน สุดสัปดาห์นี้ “โอบามา” มอบรางวัลใหญ่ไทยร่วมต้านนิวเคลียร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจาก www.nss2016.org
เปิดกำหนดการ “บิ๊กตู่” บินสหรัฐฯ สุดสัปดาห์นี้ ตามคำเชิญ “บารัค โอบามา” รับรางวัล Nuclear Industry Summit Awards พร้อมร่วมประชุมเวทีผู้นำว่าด้วยความมั่นคงนิวเคลียร์ 52 ประเทศ 4 องค์การ ระหว่าง 31 มี.ค. - 1 เม.ย.นี้ร่วมรับรองเอกสาร 5 ฉบับ เน้นแถลงการณ์ผู้นำฯ ประจำปี 2016 เผยเตรียมพบสภาหอการค้า-สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน เตรียมชู “ประชารัฐ-ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” กับผู้บริหาร IMF-ธนาคารโลก

วันนี้ (29 มี.ค) มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงนิวเคลียร์ ครั้งที่ 4 (The 4th Nuclear Security Summit : NSS) ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม - 1 เมษายน 2559 ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ตามคำเชิญของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

การประชุมดังกล่าวจะมีผู้นำจากกว่า 52 ประเทศ รวมทั้งหัวหน้าองค์การระหว่างประเทศ 4 องค์การที่มีบทบาทในประเด็นความมั่นคงนิวเคลียร์ ได้แก่ สหประชาชาติ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ องค์การตำรวจสากล และสหภาพยุโรปเข้าร่วม การเข้าร่วมประชุมของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้จะเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองที่แน่วแน่ที่จะร่วมมือกับนานาประเทศในการเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญระดับโลก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ ได้รับความสนใจมากขึ้น และหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องจะได้รับประโยชน์จากการขยายเครือข่ายความร่วมมือและสานต่อการดำเนินงาน

ขณะที่เว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรี (THAIGOV.GO.TH) ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ครั้งที่ 4 ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม - 1 เมษายน 2559 ร่วมกับผู้นำผู้แทนจาก 52 ประเทศ และ 4 องค์การระหว่างประเทศ เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของไทยร่วมกับประชาคมโลก เพื่อวางรากฐานโครงสร้างด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์ที่แข็งแกร่ง ภายใต้ความร่วมมือผ่านองค์การระหว่างประเทศและกรอบความร่วมมือที่สำคัญ

โดยการประชุมในครั้งนี้ มีผู้นำจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมถึง 52 ประเทศ และ 4 องค์การสำคัญระหว่างประเทศ เช่น นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายฟรองซัวส์ ออลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย และนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และ 4 องค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ สหประชาชาติ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ องค์การตำรวจสากล และสหภาพยุโรป

การประชุมครั้งนี้จะมีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ คือ แถลงการณ์ของการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงนิวเคลียร์ ประจำปี ค.ศ. 2016 (2016 Nuclear Security Summit Communique) และแผนปฏิบัติการแนบท้าย (Action Plans) อีก 5 ฉบับ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นทางการเมืองร่วมกันของผู้นำ พร้อมทั้งแนวทางความร่วมมือในอนาคต เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ และเพื่อลดภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่ใช้นิวเคลียร์ ซึ่งรวมทั้งข้อเสนอแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกกับองค์กรและกรอบความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง คือ สหประชาชาติ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ องค์การตำรวจสากล และสหภาพยุโรป โดยเป็นการรับรอง (adopt) และเป็นไปตามความสมัครใจที่สอดคล้องกับกฎหมาย/ระเบียบภายในประเทศ และพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะปฏิบัติภารกิจหลัก คือ การกล่าวถ้อยแถลงและหารือร่วมใน 4 วาระสำคัญ คือ การหารือช่วงอาหารค่ำ (Working Dinner) ภายใต้หัวข้อ “มุมมองการส่งเสริมความปลอดภัย (Nuclear Security Perceptions)” วาระที่ 2 คือ การเปิดประชุมหารือเต็มคณะ (Plenary Session) ในหัวข้อ “แผนปฏิบัติการระดับประเทศ เพื่อการส่งเสริมความมั่นคงทางนิวเคลียร์” (National Actions to Enhance Nuclear Security) วาระที่ 3 คือ การหารือช่วงอาหารกลางวัน (Working Lunch) หัวข้อ คือ การดำเนินงานของหน่วยงานและองค์การระหว่างประเทศ (International and Institutional Actions to Strengthen Nuclear Security and Scenario based Policy Discussion) พร้อมชมภาพยนตร์ที่จำลองสถานการณ์ภัยที่เกิดจากสารกัมมันตรังสีที่อยู่ในมือผู้ก่อการร้าย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้นำได้หารือร่วมกันพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์จำลองที่เกิดขึ้นด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เข้ารับรางวัล Nuclear Industry Summit Awards ซึ่งประเทศไทยได้รับการยอมรับ (recognition) ในฐานะประเทศที่มีบทบาทอย่างเข้มขันระดับโลกในการกำจัดและไม่ให้มี highly enriched uranium สารกัมมันตรังสีอยู่ในประเทศ โดยมี 17 ประเทศทั่วโลกรวมทั้ง 3 ชาติอาเซียนที่ได้รับรางวัลดังกล่าวนี้ คือ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย

นอกจากนี้ สภาหอการค้าสหรัฐอเมริกาและสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกาและอาเซียน (US-ASEAN Business Council and Chamber of Commerce) จะเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี โดยในโอกาสนี้จะมีผู้ระดับสูงจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ผู้แทนจากภาครัฐของสหรัฐอเมริกาและคณะทูตานุทูต ร่วมรับฟังวิสัยทัศน์การบริหารประเทศและความก้าวหน้าในการปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทย้วย โดยกลุ่มธุรกิจสหรัฐที่สำคัญประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน ยาและเคมีภัณฑ์ ก่อสร้างและเทคโนโลยีสารสนเทศ

นายกรัฐมนตรียังจะได้พบปะพูดคุยกับกลุ่มคนไทยที่ทำงานในสถาบันการเงินระหว่างประเทศ อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก (World Bank) เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้ “ประชารัฐ” และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น