xs
xsm
sm
md
lg

TayTweets และ Rinna เมื่อปัญญาประดิษฐ์ย้อนยุคไปถึงเซียวฮื่อยี้และฮวยบ่ข่วย

เผยแพร่:   โดย: อ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


หลายๆ ท่านคงรู้จัก chatbot หรือย่อมาจาก chatting robot หรือหุ่นยนต์พูดได้นั่นเอง ซึ่งก็คือการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ที่จะตอบโต้พูดกับมนุษย์ ว่าง่ายๆ เรากำลังสอนให้คอมพิวเตอร์มันพูดโต้ตอบกับเราได้ โดยให้ chatbot เรียนรู้ที่จะจดจำรูปแบบคำพูดคำจาของมนุษย์แล้วโต้ตอบกลับมา chatbot ตัวแรกที่คนไทยคุ้นเคยกันดีคือ Siri หลังจากนั้นก็มี Simsimi เข้ามาแทนที่ เจ้า chatbot ทั้งสองตัวนี้ผู้จายียวนกวนประสาทและหลายๆ ครั้งก็ใช้คำหยาบคายมาก ก็เพราะคนไทยเราไปสอนให้มันเรียนรู้อย่างนั้น

หลักของปัญญาประดิษฐ์พยายามลอกเลียนแบบการเรียนรู้ของมนุษย์นั่นเอง บิดาของปัญญาประดิษฐ์คือ Herbert A. Simon ซึ่งเป็นมนุษย์มหัศจรรย์สร้างผลงานทางวิชาการมากมายได้รับทั้งรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ได้รับรางวัล Turing ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลโนเบลสำหรับวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ได้รับรางวัล Award for Outstanding Lifetime Contributions to Psychology จากสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน Simon จบปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์และปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์แต่กลับมีผลงานโดดเด่นทั้งในด้านเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ การบริหาร ปัญญาประดิษฐ์ จิตวิทยา ปรัชญาวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ด้านอื่นๆ ในยุคนั้น Simon ได้ใช้วิธีการให้ผู้เชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งมาอธิบายอย่างละเอียดว่ามีขั้นตอนย่อยที่สุดในการแก้ปัญหาแต่ละเรื่องอย่างไร ในแต่ละกระบวนการขั้นตอนมีอะไรเป็น input อะไรคือ process อะไรคือ output และแต่ละส่วนส่งต่อกันอย่างไรจนออกมาเป็นขั้นตอนสุดท้าย หลังจากนั้นก็มาเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์จำลองวิธีการคิดของมนุษย์เราออกมา ทำให้คอมพิวเตอร์คิดได้ ปัญญาประดิษฐ์แขนงหนึ่งคือ Machine learning และ pattern recognition เป็นการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้สามารถเรียนรู้ได้เหมือนมนุษย์จับ pattern ต่างๆ ในการคิดของคนหรือวัตถุหรือข้อมูลต่างๆ และ chatbot ก็ได้อาศัยหลักการเหล่านี้ในการเรียนรู้นั่นเอง

สาวเจ้า TayTweets นี้เป็น chatbot ที่ Microsoft ให้มาทดลองใช้กัน ผ่านไปไม่เท่าไหร่ คนใช้ภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะคนอเมริกัน ก็เริ่มสอนให้ Tay หยาบคาย เหยียดสีผิว เหยียดเชื้อชาติ เน้นความรุนแรง กระหายสงคราม ชื่นชมฮิตเลอร์ สารพัดประเด็นที่สังคมไม่ยอมรับพร่างพรูออกมาจาก chatbot ชื่อ TayTweets จนท้ายที่สุด Microsoft เลยปิดตัวสาวเจ้าไปก่อนที่จะเกิดปัญหาบานปลาย

ในอีกฟากโลกหนึ่ง ญี่ปุ่นได้ launch chatbot ตัวใหม่ชื่อ Rinna เป็นหญิงสาวใสสไตล์โอตากุน่ารักและเป็นที่นิยมในหมู่สาวๆ ญี่ปุ่น ผ่านไปไม่นานนัก Rinna ก็เป็นสาวใสโอตากุไปด้วย เพราะคนที่เข้าไปแชทกับ Rinna ก็ไปสอนถ้อยคำโอตากุแบบสาวญี่ปุ่นให้ Rinna จดจำและพูดตอบโต้

เรื่องนี้ทำให้นึกถึงหนังจีนกำลังภายในของโกวเล้งชื่อลูกปลาน้อย ซึ่งมีฝาแฝดสองคนพี่น้องกลับถูกเลี้ยงคนหนึ่งชื่อเซียวฮื่อยี้ อีกคนชื่อฮวยบ่ข่วย โตมาในสภาพแวดล้อมต่างกัน จึงมีการเรียนรู้และนิสัยแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เซียวฮื่อยี้โตมาในหุบเขาคนโฉดภายใต้การเลี้ยงดูของคนโฉด 5 คนคือ โต่วซัวะ ฮาฮายี้ ลี้ตั่วฉุ่ย ตู้เกียวเกียว และ อิมเก้าฮิว จึงกะล่อน ปลิ้นปล้อนหลอกลวง ทันคน เอาตัวรอด มีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว อีกคนคือ ฮวยบ่อข่วย เติบโตมาในวังบุปผา โดยมีประมุขวังบุปผาชื่อ เอี้ยง้วย และ เลี้ยงแช น้องสาวประมุขวังบุปผาเป็นผู้เลี้ยงดู ในวังบุปฝานั้นมีแต่อิสตรี มีเพียงฮวยบ่ข่วยเท่านั้นที่เป็นผู้ชาย ฮ่วยบ่ข่วยหน้าตาหมดจดสะอ้านสะอ้าน เรียบร้อยสุภาพ ฝีมือสูงส่ง แม้เซียวฮื่อยี้และฮ่วยบ่ข่วยจะเป็นฝาแฝดกันแต่เรียนรู้เติบโตมาต่างกันอย่างสิ้นเชิงจึงมีนิสัยแตกต่างกัน

เรื่องนี้นักจิตวิทยาชื่อก้องโลก Albert Bandura ได้ตั้งทฤษฎี Social Learning Theory เอาไว้นานมาก ใจความของทฤษฎีบางส่วนบอกว่า คนเราเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมและตัวแบบที่เราเห็น Albert Bandura ได้ทดลองในห้องกระจกทางเดียว (One-way mirror room) โดยใส่ตุ๊กตาล้มลุกไว้ในห้องที่นักวิจัยลอบสังเกต ให้เด็กที่เข้ารับการทดลองได้เห็นตัวแบบ เด็กบางคนจะเห็นตัวแบบที่เป็นเด็กอีกคนทำหน้าที่เป็นผู้ทดลอง (Experimenter) แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ทุบ เตะ ต่อย ดี ถองทึ้ง ตุ๊กตาล้มลุกชื่อ Dumbo ในขณะที่เด็กบางคนจะเห็นตัวแบบที่เป็นเด็กอีกคนทำหน้าที่เป็นผู้ทดลอง เล่นกับ Dumbo อย่างอ่อนโยน กอด สัมผัส พูดคุยกับ Dumbo อย่างสุภาพ นุ่มนวล เมื่อปล่อยให้เด็กเข้าไปในห้องกับ Dumbo แต่เพียงลำพังโดยที่ Bandura ลอบสังเกตและถ่ายวิดีทัศน์ไว้ ก็จะพบว่าเด็กที่ได้เห็นตัวแบบก้าวร้าวมีแนวโน้มจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ในขณะที่เด็กที่ได้เห็นตัวแบบอ่อนโยน ก็มีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมอ่อนโยนเช่นกัน

สรุปก็คือไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์ หากเรียนรู้ได้ก็เรียนรู้จากสิ่งที่ตนเองเห็นเช่นกัน ให้อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบใด ก็มีแนวโน้มที่จะเรียนรู้แบบนั้นและมีพฤติกรรมแบบนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้สอนเอาไว้ว่า อเสวนา จ พาลานํ ปณฑิตานญฺจ เสวนา ปูชา จ ปูชะนียานํ ปฏิรูปเทสวาโส จ อันเป็นมงคลชีวิต 4 ข้อแรกในมงคลชีวิต 32 ข้อ คือการไม่เสวนากับคนพาล การคบกับบัณฑิตสนทนากับบัณฑิต การพึงบูชาบุคคลที่พึงบูชา การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม ล้วนแล้วแต่เป็นมงคลชีวิต

สมัยใหม่เราใช้ปัญญาประดิษฐ์กันมากเหลือเกิน เช่น ใช้ Machine learning หรือ Artificial Neural Network ในการวิเคราะห์ราคาหุ้น ในการพยากรณ์อากาศ ในการทำนายผลการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ใช้สร้างเครื่องเตือนภัยสภาพเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งที่เราควรจะต้องกังวลเช่นกันคือ ปัญญาประดิษญ์นั้นมันก็เหมือนกันกับมนุษย์ สอนให้มันเรียนอะไรมันก็เรียนอย่างที่เราสอนเข้าไป ใส่ข้อมูลเข้าไปให้มันเรียน สอนเรื่องดีๆ มันก็เรียนเรื่องดีๆ สอนเรื่องแย่ๆ มันก็เรียนและทำเรื่องแย่ๆ ทำให้นึกถึงสองเรื่อง เรื่องแรกคือ เวลาเรา train อะไรเพื่อเอาโมเดลมาใช้ในธุรกิจ เราต้องดูด้วยว่าเราป้อนข้อมูลอะไรให้ มันได้เรียนอะไรไป อาจจะต้องกรองข้อมูลก่อน หรือต้องให้เรียนเยอะๆ ก็คงต้องไปคิดกันว่าจะสอนอะไรมันบ้าง

จะสอนคนหรือจะสอน computer ก็คงต้องเลือกเหมือนกันว่าจะสอนอะไรให้เรียน แล้วเราจะได้อะไรออกมา ตามที่เราสอนเข้าไปครับ ว่าแต่ว่าในโทรทัศน์และในคอมพิวเตอร์ของประเทศไทยเรามีอะไรดีๆ ให้เยาวชนได้เรียนรู้บ้างหรือไม่?
กำลังโหลดความคิดเห็น