xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” บินสหรัฐฯ ร่วมประชุม NSS ครั้งที่ 4 แสดงบทบาทด้านสันติภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (แฟ้มภาพ)
“ประยุทธ์” เดินทางเข้าร่วมประชุม NSS ครั้งที่ 4 ที่สหรัฐอเมริกา เพื่อแสดงบทบาทด้านสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ พร้อมรับรางวัล Nuclear Industry Summit Awards ซึ่งประเทศไทยได้รับการยอมรับในฐานะประเทศที่มีบทบาทอย่างเข้มขันระดับโลก ในการกำจัดและไม่ให้มี สารกัมมันตรังสีอยู่ในประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เดินทางไปร่วมประชุม Nuclear Security Summit (NSS) ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 31 มี.ค. - 1 เม.ย.ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา

สำหรับการประชุม NSS จะเป็นเวทีและโอกาสในการยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันและวางรากฐานของโครงสร้างด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์ที่แข็งแกร่ง ผ่านองค์การระหว่างประเทศและกรอบความร่วมมือที่สำคัญและมีบทบาทด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์ รวมทั้งกลไกเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่อาวุโสที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมความต่อเนื่องของการดำเนินการอย่างมีประสิทธิผลต่อไปโดยการประชุมครั้งนี้จะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายก่อนที่ประธานาธิบดีโอบามาจะพ้นจากตำแหน่ง

ทั้งนี้ ไทยให้ความสำคัญกับการรักษาและเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์มาอย่างต่อเนื่อง และเข้าร่วมการประชุมระดับทุกครั้งที่ผ่านมา โดยได้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์นับตั้งแต่การประชุมครั้งแรก ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อปี 2553 ครั้งที่ 2 ที่กรุงโซล เมื่อปี 2555 และการประชุมครั้งที่ 3 ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี 2557

การเข้าประชุมครั้งที่ 4 นี้ ไทยจะแสดงบทบาทด้านสันติภาพและความมั่นคงเวทีระหว่างประเทศ แม้ว่าไทยจะไม่ใช่ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และเพื่อสนับสนุนการสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ. 2017-2018

ส่วนวัตถุประสงค์ที่ไทยเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ได้แสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองและบทบาทที่แข็งขันในเวทีระหว่างประเทศในเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญในระดับโลก ทั้งมีบทบาทช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ได้รับความสนใจมากขึ้น ประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นต้องมีมาตรการที่รัดกุมในเรื่องความมั่นคงทางนิวเคลียร์ เพื่อป้องกันและรักษาวัสดุนิวเคลียร์และวัสดุกัมมันตรังสีมิให้ไปอยู่ในความครอบครองของกลุ่มบุคคลที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ แม้ว่าไทยจะไม่ใช่ประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ แต่ก็ได้ประโยชน์จากการปฏิบัติมาตรการที่เคร่งครัด ลดความเสี่ยงจากความประมาทเลินเล่อ

ขณะเดียวกันนั้นก็เป็นโอกาสได้พบปะกับผู้นำประเทศต่างๆ ในเวทีเดียวซึ่งจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทยและสานสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบุคคลระดับผู้นำ ผู้นำประเทศต่างๆ กว่า 50 ประเทศ ที่ตอบรับเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เช่น นายกรัฐมนตรีแคนาดา ประธานาธิบดีฝรั่งเศสประธานาธิบดีบราซิล นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีอินเดีย นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์

โอกาสนี้นายกรัฐมนตรียังได้เข้ารับรางวัล Nuclear Industry Summit Awards ที่ประเทศไทยได้รับการยอมรับ (recognition) ในฐานะประเทศที่มีบทบาทอย่างเข้มขันระดับโลกในการกำจัดและไม่ให้มี highly enriched uranium สารกัมมันตรังสีอยู่ในประเทศ โดยมี 17 ประเทศทั่วโลก รวมทั้ง 3 ชาติอาเซียนที่ได้รับรางวัลดังกล่าวนี้ คือ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย

สำหรับกำหนดการที่สำคัญมีดังนี้ วันพุธที่ 30 มีนาคม 2559 US-ASEAN Business Council และ Chamber of Commerce เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี, วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม 2559 งานเลี้ยงอาหารกลางวัน Nuclear Industry Summit Awards และวันศุกร์ที่ 1 เมษายน 2559 Working Dinner โดยประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ และจะหารือเกี่ยวกับ Nuclear security threat perceptions

ส่วนการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ สาระสำคัญและผลลัพธ์ของการประชุม ที่ประชุมจะรับรองเอกสารผลลัพธ์ คือ แถลงการณ์ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองที่จะสานต่อความร่วมมือด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์ โดยไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายแก่ประเทศสมาชิก และเป็นการรับรองโดยไม่มีการลงนาม โดยจะมีแผนปฏิบัติการ (Action Plan) 5 ฉบับแนบท้าย ซึ่งเสนอแนะแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกกับองค์กร/กรอบความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สหประชาชาติ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ องค์การตำรวจสากล ความริเริ่มระดับโลกว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ หุ้นส่วนระดับโลกว่าด้วยการต่อต้านการแพร่ขยายอาวุธและวัสดุที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง


กำลังโหลดความคิดเห็น