xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองยกฟ้อง “ธนวัฒน์” ฟ้อง อสมท เหตุไม่ได้ขอให้ชดใช้-รับเงินตอบแทนแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศาลปกครองยกฟ้องคดี “ธนวัฒน์ วังสม” ฟ้อง อสมท บอกเลิกสัญญาจ้างก่อนครบกำหนด เหตุเจ้าตัวไม่ได้ขอให้ศาลสั่ง อสมท ชดใช้ค่าเสียหาย และได้เงินตอบแทนไปแล้ว 2.7 ล้าน แม้คำพิพากษาชี้ชัด อสมท ทำผิดเงื่อนไขสัญญา ใช้ดุลยพินิจเลิกจ้างไม่ชอบ ซ้ำที่ระบุมีพฤติกรรมส่อทำให้บริษัทเสียหายก็แค่ข้ออ้าง

วันนี้ (25 มี.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่นายธนวัฒน์ วังสม อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ยื่นฟ้องบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) คณะกรรมการบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เป้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 กรณีขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการบริษัท อสมท จำกัด ครั้งที่ 13/2554 ลงวันที่ 23 ก.ย. 2554 ที่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผลการปฏิบัติหน้าที่ของนายธนวัฒน์ และครั้งที่ 14/2554 ลงวันที่ 13 ต.ค. 2554 ที่บอกเลิกสัญญาจ้างนายธนวัฒน์ก่อนครบกำหนดระยะเวลาจ้างตามสัญญาจ้างบริหารในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท

โดยศาลเห็นว่า จากข้อเท็จจริงในการประชุมทั้งสองครั้งของผู้ถูกฟ้องคดีจนนำไปสู่การบอกเลิกสัญญาจ้างก่อนครบครบกำหนดระยะเวลาจ้างตามสัญญานั้น เหตุผลสำคัญในการเลิกจ้างไม่ใช่เพราะนายธนวัฒน์ กระทำผิดสัญญาจ้างตามสัญญาข้อ 5.4 แต่เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่า โดยพฤติกรรมหากให้นายธนวัฒน์ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอาจเกิดความเสียหายอย่างยิ่งแก่ บมจ.อสมท ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีก็ไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงที่สนับสนุนว่านายธนวัฒน์มีพฤติกรรมอย่างไร เรื่องใด ที่หากให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจะเกิดความเสียหายอย่างยิ่งกับ บมจ.อสมท

อีกทั้งจากข้อเท็จจริงในรายงานการประชุมดังกล่าวยังปรากฏว่า คณะทำงานตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนายธนวัฒน์ใช้เวลาในการตรวจสอบเพียง 15 วัน ทั้งที่มีเรื่องต้องตรวจสอบจำนวนมากถึง 19 เรื่อง และได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงการทำงานและการแบ่งหัวข้อในการตรวจสอบเท่านั้น ยังไม่ได้สรุปผลการตรวจสอบ และมีความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการ บมจ.อสมท ว่าผลการตรวจสอบแต่ละเรื่องเป็นอย่างไร ด้วยเหตุนี้ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ว่าหากให้นายธนวัฒน์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอาจเกิดความเสียหายอย่างยิ่งกับบมจ.อสมท จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ และไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า บมจ.อสมท มีความจำเป็นต้องยกเลิก หรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนจนเป็นเหตุให้ต้องใช้เอกสิทธิ์ตามข้อสัญญาดังกล่าวเลิกจ้างนายธนวัฒน์ ก่อนครบระยะเวลาจ้างตามสัญญาโดยที่นายธนวัฒน์ ไม่ได้กระทำผิด การบอกเลิกสัญญาจ้างโดยที่นายธนวัฒน์ไมได้กระทำผิดสัญญาจึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง และไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสัญญาจ้าง ข้อ 5.4 และหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยการจัดทำบริการสาธารณะ บมจ.อสมท จึงเป็นฝ่ายกระทำผิดสัญญา

ซึ่งนายธนวัฒน์มีสิทธิเรียกร้องให้ บมจ.อสมท ที่เป็นคู่สัญญาชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำผิดสัญญาได้ แต่เมื่อนายธนวัฒน์ ไม่ได้มีคำขอต่อศาลในเรื่องนี้ อีกทั้งในระหว่างพิจารณาคดี บมจ.อสมท ได้จ่ายเงินค่าตอบแทนและค่าชดเชยซึ่งหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วให้นายธนวัฒน์ เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2555 จำนวน 2,710,698 บาท ศาลจึงไม่อาจมีคำพิพากษาให้ บมจ.อสมท ชดใช้ค่าเสียหายแก่นายธนวัฒน์ได้ ส่วนคณะกรรมการ บมจ.อสมท ไม่ได้เป็นคู่สัญญาจ้างบริหารในตำแหน่งกรรมการอำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท จึงไม่อาจเป็นผู้ถูกฟ้องคดีให้รับผิดตามสัญญาดังกล่าวได้


กำลังโหลดความคิดเห็น