ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชำระค่าก่อสร้างบางส่วนในคดีก่อสร้างโครงการอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ 396 หลัง วงเงิน 96.9 ล้านบาท
วันนี้ (30 ก.ย.) ศาลปกครองเชียงใหม่ได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่บริษัท พีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดี) โดยคดีนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีทำสัญญาจ้าง ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างโครงการอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง เป็นเงิน 5,848,000,000 บาท ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือ ลงวันที่ 18 เมษายน2556 บอกเลิกสัญญา ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ เพราะผู้ถูกฟ้องคดีเป็นฝ่ายผิดสัญญา เนื่องจากไม่ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง หรือส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างบางแห่งล่าช้า อนุมัติผังบริเวณก่อสร้างและการอนุมัติผลการสำรวจลักษณะทางกายภาพของดิน เพื่อใช้กำหนดประเภทของฐานรากอาคารล่าช้า ไม่จ่ายเงินค่าจ้าง หรือจ่ายค่าจ้างล่าช้าทำให้ผู้ฟ้องคดีขาดสภาพคล่อง แต่งตั้ง ผู้ควบคุมงานไม่เพียงพอและไม่เหมาะสม ทั้งที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือแจ้งเหตุและขอสงวนสิทธิขยายระยะเวลาการก่อสร้างหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการชี้แจง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่งให้ชดใช้ค่างวดงานก่อสร้าง ค่าวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง และค่าเสียหายที่เกิดจากความล่าช้า รวมทั้งค่าธรรมเนียมในการยื่นซองประมูลราคา และค่าผลกำไรจากการก่อสร้าง ให้คืนหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาและหนังสือค้ำประกันการชำระเงินล่วงหน้า ให้งดการคิดค่าปรับตามสัญญากับ ผู้ฟ้องคดี และห้ามขึ้นบัญชีผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ทิ้งงาน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,054,384,424.13 บาท
ศาลปกครองเชียงใหม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) ไปแล้วจำนวน 335 หลัง แต่การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญาแม้แต่เพียงหลังเดียว และยังเหลือการก่อสร้างที่ยังไม่ดำเนินการอีกจำนวน 61 หลัง คิดเป็นงานก่อสร้างได้เพียงร้อยละ 12 ของงานทั้งหมด จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่สามารถทำงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีสิทธิตามสัญญา ข้อ 6 วรรคหนึ่ง ที่จะบอกเลิกสัญญาและจ้างผู้รับจ้างรายใหม่เข้าทำงานแทนผู้ฟ้องคดีได้ ส่วนการที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีผิดสัญญาไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการก่อสร้างอาคารบางแห่ง หรือส่งมอบพื้นที่ ให้ล่าช้า หรือมีเหตุการณ์ประท้วงคัดค้านของประชาชนจนไม่สามารถก่อสร้างได้ หากมีจริงตามที่อ้าง ก็เป็นเพียงเหตุที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิที่จะขอขยายระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา หรือมีสิทธิเรียกค่าใช้จ่ายหรือค่าสินไหมทดแทนจากผู้ถูกฟ้องคดีเท่านั้น แต่ไม่มีผลกระทบต่อสิทธิในการบอกเลิกสัญญาของผู้ถูกฟ้องคดี เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว จึงต้องยอมให้คู่สัญญาอกฝ่ายหนึ่ง คือ ผู้ฟ้องคดีกลับคืนสู่สถานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 โดยต้องชดใช้ค่าการงานในส่วนที่ทำ คือ ค่าก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 13 หลัง รวม 16 งวด เป็นเงิน 15,689,617 บาท และค่าการก่อสร้างที่ผู้ฟ้องคดีทำไว้บางส่วน แต่ยังไม่ได้ส่งมอบงาน เป็นเงิน 81,280,816 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 96,970,433 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี สำหรับค่าวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างซึ่งผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้จัดเตรียมไว้ยังสถานที่ก่อสร้างนั้น เมื่อสัญญาไม่ได้กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีรับผิดในค่าวัสดุดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธินำวัสดุกลับคืนไป และผู้ถูกฟ้องคดีก็ไม่ต้องชดใช้ค่าวัสดุที่เหลือนั้น เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องมีการปฏิบัติตามสัญญาต่อไป
ผู้ฟ้องคดีพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญา ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องคืนหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยไม่มีดอกเบี้ย ตามสัญญา ข้อ 3 วรรคสอง
สำหรับหนังสือค้ำประกัน (การชำระเงินล่วงหน้า) ของธนาคารออมสิน สาขาประตูช้างเผือก จำนวน 17 ฉบับ เป็นเงิน 877,200,000 บาทนั้น เมื่อได้หักเงินค่าจ้างล่วงหน้าไว้บางส่วนแล้ว เงินค่าจ้างล่วงหน้าที่เหลือยังเกินกว่าจำนวนเงินที่ผู้รับจ้างจะได้รับ ผู้ฟ้องคดีจึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี เมื่อผู้ฟ้องคดียังไม่ คืนเงินดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีสิทธิยึดหนังสือค้ำประกันของธนาคารออมสินไว้เป็นหลักประกันเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีคืนเงินค่าจ้างล่วงหน้าจนครบจำนวน ส่วนค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันนั้น เป็นค่าใช้จ่ายตามปกติในการดำเนินงานที่ผู้ฟ้องคดีต้องจ่าย ไม่ว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือไม่ก็ตาม ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิเรียกให้ผู้ถูกฟ้องคดีรับผิดในค่าใช้จ่ายส่วนนี้ สำหรับค่าปรับนั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดียังมิได้คิดค่าปรับจากค่าจ้างและยังไม่มีการนำคดี มาฟ้องแย้ง ผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่มีสิทธิฟ้องคดีในข้อหานี้ต่อศาลปกครอง
สำหรับคำขอให้ศาลสั่งห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีขึ้นบัญชีผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ทิ้งงานนั้น เห็นว่า คำสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2543) ข้อ 1 (4) ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อยังไม่ปรากฏว่า มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ทิ้งงาน จึงยังไม่มีการกระทำหรือคำสั่งทางปกครองที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีในข้อหานี้ต่อศาลปกครอง
สำหรับค่าธรรมเนียมในการยื่นซองประมูลราคาในการเข้าดำเนินการก่อสร้างตามสัญญา ค่าธรรมเนียมออกหนังสือค้ำประกันการก่อสร้างตามสัญญา ค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันชำระเงินล่วงหน้า ค่าธรรมเนียมเปิดใช้วงเงินขายลดงาน เป็นค่าใช้จ่ายของผู้ฟ้องคดีที่เกิดจากการเข้าทำสัญญากับทางราชการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีการเลิกสัญญานี้หรือไม่ จึงไม่ได้เป็นผลมาจากความล่าช้าของผู้ถูกฟ้องคดีหรือจากการบอกเลิกสัญญาที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องรับผิด ส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหารงานโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจนั้น ก็เป็นผลมาจากการก่อสร้างล่าช้าของผู้ฟ้องคดีเอง จนกระทั่งมีการบอกเลิกสัญญา จึงไม่ใช่ความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีจะมีสิทธิเรียกร้อง สำหรับผลกำไรจากการดำเนินการตามสัญญาแล้วเสร็จ เป็นเงิน 500,000,000 บาทนั้น ก็เป็นเพียงการคาดคะเนที่ไม่อาจคำนวณได้อย่างแน่นอน ประกอบกับกำไรนั้นเป็นค่าตอบแทนที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากการปฏิบัติตามสัญญาให้ครบถ้วน แต่เมื่อคดีนี้ยังไม่ได้มีการก่อสร้างครบถ้วนตามสัญญาเนื่องจากได้มีการบอกเลิกสัญญาเพราะความผิดของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิได้รับผลกำไรดังกล่าว
ศาลจึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินเป็นค่าก่อสร้างอาคารรวมเป็นเงิน 96,970,433 บาท โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด และคืนค่าธรรมเนียมศาลให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามส่วนของการชนะคดี ให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนหนังสือค้ำประกัน ธนาคารออมสิน สาขาประตูช้างเผือก เลขที่ 3408 - 005/2554 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2554จำนวน 292,400,000 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก