xs
xsm
sm
md
lg

ฎีกากลับคำพิพากษา สั่งเอไอเอสจ่าย กสท. 7 ล้านบาท นำเอกสารปลอมเปิดบริการโทรต่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

MGR Online - ศาลฎีกาพิพากษากลับ ให้เอไอเอสชดใช้เงิน กสท. 7 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี เหตุให้คนนำเอกสารปลอมเปิดใช้ บริการโทรไปต่างประเทศ ศาลชี้จำเลยเป็นตัวแทนประมาทเลินเล่อ

เมื่อเวลา 10 .00 น.วันนี้ (15 มี.ค.) ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เป็นจำเลย กรณีผิดสัญญาตัวแทน เรียกค่าเสียหาย 7,067,921.58 บาท

คำฟ้องโจทก์ระบุว่า โจทก์ได้รับสิทธิให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ โดยอนุญาตให้จำเลยซึ่งได้รับสัมปทานจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เชื่อมต่อโครงข่าย โทรศัพท์ของจำเลย ผ่านโครงข่ายของบริษัท ทีโอที ไปยังชุมสายบริษัทของโจทก์เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ จำเลยจะแจ้งที่อยู่ของผู้ใช้บริการดังกล่าวให้โจทก์ส่งใบแจ้งหนี้เรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการโดยตรง โดยโจทก์แบ่งรายได้ให้จำเลยผ่านบริษัท ทีโอที เป็นค่าตอบแทน จำเลยจึงเป็นตัวแทนโดยปริยาย แบบมีบำเหน็จของโจทก์ในการทำสัญญา เข้าให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เฉพาะบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ แต่จำเลยในฐานะตัวแทนประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้มีผู้ใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนปลอม สำเนาทะเบียนบ้านปลอม หรือนำเอกสารของคนอื่นมาแอบอ้าง และปลอมลายมือชื่อบุคคลอื่น เพื่อเปิดใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนรวม 165 ราย 185 เลขหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถเรียกเก็บค่าบริการได้ ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย 7,067,921.58 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นตัวแทนโจทก์ และไม่เคยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากโจทก์ จำเลยไม่ได้จงใจ หรือประมาทเลินเล่อ และไม่รู้เห็นกับการที่มีผู้ใช้เอกสารปลอม และปลอมลายมือชื่อในสัญญาเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้่ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ต่อมาโจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยได้รับส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศจากโจทก์ แม้ผ่านบริษัท ทีโอที ก็ตาม จำเลยจึงเป็นตัวแทนโดยปริยายแบบมีบำเหน็จของโจทก์ การที่มีผู้นำเอกสารปลอมมาแอบอ้าง ขอเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับจำเลยและใช้โทรศัพท์ไปยังต่างประเทศ เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ ซึ่งหากพนักงานของจำเลยใช้ความรอบคอบตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเอกสาร ว่า บุคคลที่ยื่นขอใช้บริการเป็นบุคคลเดียวกับบุคคลที่ปรากฏหลักฐานในเอกสารหรือไม่ ก็ย่อมทราบได้ว่าเป็นบุคคลคนละคนกัน ถือว่าความเสียหายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยเอง ซึ่งเป็นตัวแทนตามประมวลกฎหมาย แพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 812 จำเลยจึงต้องรับผิดตามฟ้อง ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงิน 7,067,921.58 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง คือ วันที่ 22 เม.ย. 2547 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น