กกต.เปิดตัวแอพลิเคชั่น ตาสับปะรด ไว้แจ้งทุจริตประชามติ ยันเก็บข้อมูลเป็นความลับ โหลดได้ 11 เม.ย.นี้ พบบังคับใส่เลขบัตรประชาชน แต่ไปเป็นพยานหรือไม่ก็ได้ ใช้งบรวม 1.8 ล้าน รับเลือกตั้งบัตรใบเดียวลดต้นทุน สะดวก ไม่สับสนเวลาคำนวน ไม่มีปัญหาถูก กรธ.เมินให้ใช้เครื่องลงคะแนนโหวต รธน.
วันนี้ (24 มี.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง เป็นประธานเปิดตัวแอพพลิเคชั่น ตาสับปะรด ที่ไว้รับให้ประชาชนแจ้งเหตุการทุจริตในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มายังกกต. โดยนายสมชัย ระบุว่า แอพพลิเคชั่นนี้ กกต.มุ่งเน้นที่จะใช้ในการเลือกตั้งปี 2560 เพื่อให้เกิดความสุจริตเที่ยงธรรม แต่การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้น กกต.จะนำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการรายงานสถานการณ์ รายงานข่าวในทุกสถานที่ ๆ มีสัญญาณโทรศัพท์ เมื่อประชาชนพบเห็นเหตุการณ์ก็สามารถถ่ายภาพนิ่ง คลิปวีดีโอ บันทึกเสียง ส่งผ่านแอพคลิชั่นนี้ โดยกกต.ก็จะรักษาข้อมูลในทุกส่วนไว้เป็นความลับ
สำหรับแอพพลิเคชั่นดังกล่าว กกต.จะเปิดให้มีการดาวน์โหลดในวันที่ 11 เม.ย. ที่จะเป็นวันเริ่มต้นของกระบวนการจัดการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อดาวน์โหลดแอพพลิชั่นดังกล่าวแล้วการส่งข้อมูลทุจริต สามารถดำเนินการโดยกรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ระบบก็จะให้ใส่ข้อมูล สถานที่เกิดเหตุว่าอยู่ในจังหวัดใด วันเวลาที่เกิดเหตุ และรายละเอียดเพียงสั้น ข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งมายังกกต.กลาง และกกต.จังหวัดที่แจ้งเหตุ เพื่อให้ กกต.จังหวัดที่เป็นเจ้าของพื้นที่ได้ไปตรวจสอบเหตุที่รับแจ้งได้ทันที ทั้งนี้ในแอพฯ ดังกล่าวนอกจะเป็นการแจ้งเหตุในเบื้องต้นแล้วยังจะมีขั้นตอนการให้ยืนยันว่าพร้อมเป็นพยานหรือไม่ ซึ่งจะมีขั้นตอนการสอบถามรายละเอียดเพื่อยืนยันเรื่องและตัวบุคคลอีกชั้นหนึ่ง โดยประชาชนที่แจ้งจะยืนยันเป็นพยานหรือไม่ก็ได้
นายสมชัย ยังยืนยันว่า ข้อมูลและรายละเอียดของผู้แจ้งข้อมูลจะถูกเก็บเป็นความลับ เพราะถือว่าเรื่องความปลอดภัยของพยานเป็นเงื่อนไขสำคัญในการนำระบบดังกล่าวมาใช้ โดยจะมีการกลั่นกรองข้อมูลที่ได้รับแจ้ง และสืบค้นในกรณีที่อาจจะมีบุคคลใช้แอพฯ ดังกล่าวเพื่อกลั่นแกล้งผู้ใดผู้หนึ่ง หรือส่งข้อมูลที่เป็นเท็จ ซึ่งในเรื่องพยานเรายังคงใช้กฎหมายคุ้มครองพยานในการดูแล ทั้งนี้แอพฯ ดังกล่าว กกต.ใช้งบประมาณในการดำเนินการ 1.8 ล้านบาท โดยมีบริษัทเข้าร่วมประมูล 4 บริษัท จากที่เสนอราคาสูงสุด 12 ล้าน ต่ำสุด1.9 ล้านบาท โดยบริษัทที่ชนะการประมูลจะรับผิดชอบดูแลระบบและพัฒนาระบบ ตลอด 2 ปีนับจากนี้ ซึ่งกกต. หวังว่า แอพฯนี้ จะช่วยในการป้องปรามผู้ที่คิดจะทำทุจริตให้เกรงกลัวและไม่กล้ากระทำผิด และปลายเดือนหน้า กกต.ก็จะมีการเปิดตัวแอพพลิชั่น ฉลาดรู้ ซึ่งจะเป็นการให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ สาระสำคัญต่าง ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจของประชาชนในการออกเสียงประชามติ
นอกจากนี้ นายสมชัย ยังให้สัมภาษณ์กรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันที่จะใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ว่า บัตรเลือกตั้งจะ 1 หรือ 2 ใบ ไม่ได้เป็นปัญหาในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งบัตรใบเดียวสามารถนำคะแนนมาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ แต่ถ้าจะเป็นสองใบก็ทำได้ โดยไม่ยากลำบาก ในการดำเนินการ แต่สำหรับบัตรใบเดียวจะสามารถลดต้นทุนในการจัดการได้ถูกว่าอย่างแน่นอน เช่น ถ้าบัตรเลือกตั้ง 1 ใบ ราคาใบละ 1 บาท ก็จะใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท แต่ถ้าใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ก็จะเพิ่มขึ้น เป็น 100 ล้านบาท และก็ต้องใช้หีบบัตร 2 ใบ และจะทำให้เวลาในการนับคะแนนเพิ่มขึ้น เช่นจาก 1 เป็น 2 ชั่วโมง ดังนั้นการใช้บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ น่าจะสะดวกกับการจัดการของ กกต.มากกว่า เพราะจะประหยัด ไม่สับสนในการคำนวณคะแนน ส่วนในเรื่องของบัตรเลือกตั้ง 1ใบ จะส่งผลต่อประโยชน์ทางการเมือง สะท้อนความต้องการของประชาชนได้หรือไม่ ก็อยู่ที่การออกแบบของ กรธ. ที่ผ่านมาเคยมีการใช้ทั้งบัตรใบเดียวและ 2 ใบมาแล้ว ครั้งนี้ก็เป็นสิทธิ์ของ กรธ.ที่จะทดลองและนำเสนอ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยาก
ส่วนที่คณะกรรมาธิการวิสามัญสภานิติบัญญัติแห่งชาติแก้ไขร่างพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่ให้ใช้เครื่องลงคะแนนในการทำประชามติในครั้งนี้ นายสมชัย เห็นว่า การจัดเลือกตั้งทั่วโลก หลายประเทศใช้เครื่องลงคะแนนทั้งประเทศ เช่น อินเดีย เนปาล สหรัฐอเมริกา และยุโรปบางประเทศ ทำให้การเลือกตั้งรวดเร็ว ไม่มีบัตรเสีย การนับคะแนนรู้ภายใน 1 นาที แต่กมธ.ตัดออกไปก็ไม่เป็นปัญหา และยืนยันว่าถ้าได้มีการใช้เครื่องลงคะแนนในการทำประชามติก็ไม่ได้เป็นการเพิ่มงบประมาณในการจัดซื้อเครื่อง เนื่องจาก กกต.มีอยู่แล้ว 200 เครื่อง และได้เสนอที่จะให้ใช้เครื่องลงคะแนนเพียง 14 หน่วย คือ กทม. 5 หน่วย ภูเก็ต 9 หน่วย จากหน่วยเลือกตั้ง 96,000 หน่วย ถือว่าน้อยมาก ซึ่งแม้ว่าจะมีการใช้เครื่องแต่ประชาชนสามารถที่จะเลือกได้ว่าจะใช้เครื่องหรือบัตรเลือกตั้งแบบเดิม