โฆษก กมธ.ปฏิรูปกฎหมาย เผยปรับ ก.ตร.เปลี่ยนให้ประธานมาจากลงเลือกตั้ง โดยบิ๊ก ตร.ที่เกษียณอย่างน้อย 5 ปี กันสืบทอดอำนาจ ให้ยศ พ.ต.อ.เลือก กก.ก็ปลอดฝ่ายการเมือง เลือก ผบ.ตร.มีเกณฑ์ชัดเจน ดูผลงาน ความรู้ รางวัล คัดเสร็จ ก.ตร.ชงนายกฯ ถ้าไม่เห็นชอบจะส่งชื่อซ้ำใช้เสียง 3 ใน 4 มีประเมินผลงาน ผบ.ตร.ทุกปี ไม่ผ่านเจอปลด
วันนี้ (23 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน โฆษกคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปฏิรูปตำรวจว่า คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) จะมีทั้งหมด 16 คน และจากเดิมประธานกรรมการ ก.ตร. คือ นายกฯ หรือรองนายกฯ ที่นายกฯ มอบหมาย การแต่งตั้งอยู่กับนักการเมืองทั้งหมด จนเกิดคำพูดวันนี้ที่ว่าวันนี้ได้เพราะคนนั้นคนนี้ จะเปลี่ยนให้มาจากการลงเลือกตั้ง โดยให้อดีต ผบ.ตร. หรืออดีตรอง ผบ.ตร.ที่มียศ พล.ต.อ.มาสมัครแข่งขัน โดยจะต้องเกษียณไปอย่างน้อย 5 ปี เพื่อตัดการสืบทอดอำนาจให้ลูกน้อง แล้วให้ตำรวจระดับ พ.ต.อ.จากทั่วประเทศลงคะแนนเลือก
พล.ต.ท.อำนวยกล่าวต่อว่า ส่วนกรรมการ ก.ตร.นั้นจะมาจาก ผบ.ตร.คนปัจจุบัน เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) โดยตำแหน่งรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ 6 คน มาจากอดีตนายตำรวจยศ พล.ต.ท.ที่เกษียณอายุราชการอย่างน้อย 5 ปี โดยให้ พ.ต.อ.ทั่วประเทศเลือกมา 3 คน ที่เหลือมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ เช่น รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ รวมจำนวน 4 คน รวมเป็น 16 คน โดยไม่มีฝ่ายการเมืองเลย
ส่วนการสรรหา ผบ.ตร.ให้ระบบคุณธรรมร้อยเปอร์เซ็นต์ สมมติรอง ผบ.ตร.คนหนึ่งมีอาวุโส 5 ปี ก็จะมีคะแนนเรื่องความอาวุโสให้ นอกจากนี้จะดูเรื่องความรู้ความสามารถว่าจบการศึกษาอะไรมา ถ้าดอกเตอร์ตรงกับสายตำรวจเอาไปเลยเต็ม 10 คะแนน รวมทั้งผลงานเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ โดยจะดูจากรางวัลที่ได้รับมา ซึ่งการให้คะแนนจะมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เมื่อให้คะแนนเสร็จจะคัดเอา 1 รายชื่อ โดย ก.ตร.จะส่งให้นายกฯ พิจารณา ถ้านายกฯเห็นด้วย จะส่งไปตรวจสอบคุณสมบัติแล้วนำความกราบบังคมทูล
ทั้งนี้ แต่หากนายกฯ ไม่เห็นด้วยต้องส่งกลับมาให้ ก.ตร.ทบทวนพร้อมเหตุผล ถ้า ก.ตร.ยังยืนยันคนนี้อยู่จะต้องใช้เสียง 3 ใน 4 เอากลับมาใหม่ ส่วนการถอดถอน ผบ.ตร.จะทำงานเช้าชามเย็นชามไม่ได้ ต่อไปนี้ประเมินผลงานทุกปี โดยใช้ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก หรือเคพีไอ (Key Performance Indicator) ที่วัดความก้าวหน้าการบรรลุปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ หรือผลสัมฤทธิ์ขององค์กร โดยเทียบผลการปฏิบัติงานกับมาตรฐานหรือเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ จะประเมินการบริหารงานทุกด้าน โดย ก.ตร.เป็นคนประเมิน ซึ่งต้องไปออกหลักเกณฑ์ประเมิน ผบ.ตร. ถ้าประเมินไม่ผ่าน ก.ตร.ก็ส่งให้นายกฯ ปลด ผบ.ตร.