ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้พิจารณาข้อเสนอ คสช. ต้องดูเหตุผลไหนดีก็ใส่ลงไป ขอทุกฝ่ายอย่าระแวง เผยโฆษกรัฐบาลมาคุยกรณีนายกฯ จ้อสื่อ บอกไม่ต้องกังวล ด้านโฆษก กรธ.ระบุที่ประชุมนำเรื่องเข้าพิจารณาจันทร์หน้า ขอฟังความเห็นจากหลายฝ่ายก่อนลงความเห็นปลายสัปดาห์นี้ ย้ำมีความคิดเป็นอิสระ หวังมีปาฏิหาริย์ทำรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับ รับกำลังพิจารณาหมวดปฏิรูปประเทศ ชี้ “มีชัย” บอกข้อเสนอแม่น้ำ 4 สายมีน้ำหนักเพราะเป็นฝ่ายบริหารบ้านเมือง
วันนี้ (16 มี.ค.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงเรื่องข้อเสนอของทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ส่งมายัง กรธ.ว่า ตอนนี้ก็ยังตอบอะไรไม่ได้ เพราะ กรธ.ยังไม่ได้พิจารณาซึ่งก็ต้องดูเหตุผลกันไป ซึ่งถ้ามีการพิจารณาก็จะสามารถบอกได้ การที่จะมาเขียนหรือปรับแก้นั้นขึ้นอยู่กับความจำเป็นและเหตุผลว่าอันไหนคิดว่าดีก็ใส่ลงไป ไม่ได้ดูว่าใครเป็นผู้เสนอมา ตอนนี้ตนยังตอบอะไรไม่ได้ ขอให้ทุกฝ่ายอย่ามีความหวาดระแวง เพราะไม่ได้เป็นการสืบทอดอำนาจ
“หากสิ่งใดคิดว่าดีเราก็ใส่ หากสิ่งใดไปไม่ได้เราก็ไม่ใส่ เราทำมาแบบนี้โดยตลอด ดังนั้นตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่าข้อเสนอที่ส่งมาดีหรือไม่ดี เพราะผมไม่ใช่คนที่ร่างรัฐธรรมนูญเพียงคนเดียว ต้องฟังความเห็นของสมาชิกทุกคนก่อน และตราบใดที่ยังไม่มีการปรับแก้ไข ก็ขออย่าใจร้อนหรือไปกังวล” นายมีชัยกล่าว
นายมีชัยกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ส่ง พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาพูดคุยกับตนนั้น ก็มาพูดคุยจากกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนไปเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ ตนก็บอกไปว่าไม่ต้องกังวลอะไร
ด้านนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่าที่ประชุม กรธ.ได้พิจารณาเรื่องข้อเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่อ้างแม่น้ำ 4 สายทั้ง 3 เรื่อง และมีมติจะนำเรื่องเข้าพิจารณาในวันที่ 21 มี.ค.โดยสังคมจะได้ร่วมกันสะท้อนความคิดเห็นที่ คสช.เสนอมายัง กรธ.ให้รอบด้าน รวมทั้งจะขอรับฟังข้อมูลจากหลายๆ ฝ่ายให้ครบถ้วนก่อน ทาง กรธ.จึงจะลงความคิดเห็นโดยจะใช้เวลาในช่วงสุดสัปดาห์ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันอาทิตย์ว่าจะมีสิ่งที่เป็นความคิดเห็นจากหลายฝ่ายสะท้อนมา ทั้งฝ่ายการเมืองและภาคประชาชนว่ามีความคิดเห็นอย่างไรต่อการเสนอให้มีบทเฉพาะกาล 5 ปี
นายอุดมกล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า กรธ.จะรับหรือไม่รับนั้น กรธ.ยืนยันกับสังคมมาตลอดว่าเรามีความคิดเป็นอิสระ ฉะนั้นการจะพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญไปในทิศทางใดเรารับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายและคำนึงถึงประโยชน์ประเทศชาติประชาชนเป็นสำคัญ อยากบอกไปถึงทุกคนว่า ไม่ต้องกังวลแทน กรธ.ว่าจะถูกกดดัน เพราะในทุกเรื่องที่เสนอเข้ามาที่มีทั้งความคิดเห็นเหมือนและต่าง กรธ.พร้อมที่จะรับพิจารณา ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายไหนก็ตาม
“ผมคิดว่าท่านจะให้กำลังใจว่าจะมีปาฏิหาริย์ที่ทำให้ผลสุดท้ายที่จะออกมาเป็นที่ยอมรับของสังคม อยากเห็นว่าพวกเราเอาใจช่วย กรธ.ให้สามารถมีข้อสรุปในช่วงต้นสัปดาห์หน้าเพื่อให้เราสามารถเสนอร่างรัฐธรรมนูญไปสู่การลงประชามติแล้วเป็นที่ยอมรับของสังคมได้” นายอุดมกล่าว
เมื่อถามว่า ถึงขนาดจะต้องใช้คำว่า “ปาฏิหาริย์” เข้ามาช่วยแล้วหรืออย่างไร นายอุดมกล่าวว่า ตนคิดว่าเวลาที่เราพูดถึงเรื่องนี้เรานึกถึงภูมิปัญญาที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันคิด เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนของสังคมและเป็นผลประโยชน์หลายฝ่าย ทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายประชาชน และประเทศชาติ ตนคิดว่าไม่ว่าเราจะบอกว่ารอได้ 5 ปี หรือจะไม่รอก็แล้วแต่ ตรงนี้มีผลได้ผลเสียต่อประชาชนทุกคน ต้องพิจารณาให้รอบคอบทุกฝ่ายว่าทางออกควรเป็นอย่างไร
นายอุดมกล่าวต่อว่า ขณะนี้ กรธ.รับฟังความคิดเห็นในเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากบทเฉพาะกาลที่ คสช.เสนอมาและกำลังพิจารณาว่าด้วยหมวดการปฏิรูปประเทศซึ่งมีความสัมพันธ์กัน โดยมีการพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อให้เข้าสู่สภาพปกติ จึงจำเป็นต้องใช้เวลา โดย กรธ.ต้องไปคิดว่าการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ มีอะไรบ้างและใช้วิธีการอย่างไรจึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ อย่างไรก็ตาม หากมีเสียงสะท้อนมา กรธ.ก็จะเงี่ยหูฟังและนำมาพิจารณาเพื่อจะทำให้การยกร่างมีความสมบูรณ์ ตอบโจทย์ประเทศ และสังคมให้ได้มากที่สุด
นายอุดมกล่าวว่า ทุกอย่างที่เสนอเข้ามามีความยากทั้งสิ้น หลังจากที่มีการรับฟังความคิดเห็น หลายเรื่องที่เสนอเข้ามาแตกต่างไปจากที่เรายกร่างไว้ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย กรธ.จะปรับหรือไม่ปรับล้วนเป็นประเด็นเสี่ยงทั้งสิ้นว่าจะมีคนที่เห็นดีงามหรือไม่เห็นด้วย ส่วนประเด็นที่ คสช.เสนอมาแล้วนายมีชัย บอกว่ามีน้ำหนักเพราะ คสช.และแม่น้ำ 4 สาย ทำหน้าที่ดูแลสังคม ข้อเสนอจึงไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความรู้สึกของคนธรรมดาเท่านั้น แต่หมายถึงคนที่ทำหน้าที่รับผิดชอบสังคมว่าเขามองการบริหารชาติบ้านเมืองอย่างไร บางคนบอกว่าไม่ถูกไม่ควร แต่คนที่รับผิดชอบต่อบ้านเมืองก็บอกว่าเป็นสิ่งที่ดี มีเงื่อนไข มีประเด็นปัญหา