xs
xsm
sm
md
lg

สปท.ผ่านแผนปฏิรูปตำรวจ ให้ก.ตร.เลือกผบ.ตร.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (29ก.พ.) มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม เรื่อง ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลของตำรวจจากการแทรกแซงทางการเมือง โดย พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน โฆษกกมธ.ฯ กล่าวชี้แจงว่า การปฏิรูปตามแนวทางรายงานของกมธ.นั้น ยอมรับว่าย้อนยุค เพราะได้นำเอาแนวทางการปฏิรูปตำรวจ ตั้งแต่ปี 2505 มาปรับใช้ เนื่องจากตั้งแต่สมัยรัฐบาลปี 2547 เป็นต้นมา ต้องการทำให้องค์กรตำรวจอ่อนแอ สร้างรัฐตำรวจ โดยให้นายก รัฐมนตรี มานั่งเป็นประธาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เพื่อแต่งตั้ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และยังตั้งนายกฯ เป็นประธาน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) เพื่อให้ตั้งนายพลทั้งหมด เราจึงมักเห็นรอง ผบ.ตร. ของไทยเดินตามนายกฯไปทุกที่
ดังนั้นกมธ.จึงเสนอแนวทางการปฏิรูป โดยปรับปรุงองค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของก.ตร. โดยทำให้ก.ตร. เป็นองค์กรบริหารงานบุคคลเพียงองค์กรเดียว มีความเป็นอิสระ ปราศจากการถูกครอบงำทางการเมือง และกำหนดอำนาจหน้าที่เพิ่มเติมให้ก.ตร. เป็นผู้พิจารณาแต่งตั้ง ผบ.ตร.ด้วย และให้การบริหารงานบุคคลในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นไปในทำนองเดียวกับคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ของสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.)
นอกจากนี้ ยังปรับให้ ก.ตร. เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ตร. แทน ก.ต.ช. รวมทั้งให้มีหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงานของ ผบ.ตร.ด้วย ว่า ส่วนบทบาทของ ก.ต.ช. กำหนดให้ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลอีกต่อไป แต่ยังให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก.ต.ช. เพื่อขับเคลื่อนการบริหารงานราชการแผ่นดินตามนโยบายรัฐบาลเหมือนเดิม
สำหรับกระบวนการสรรหาบุคคลแต่งตั้ง ผบ.ตร. นั้น แม้ คสช. มีคำสั่งที่ 44/2558 ลงวันที่ 4 ธ.ค.58 แก้ไขเพิ่มเติมให้ ผบ.ตร. เสนอรายชื่อบุคคลที่จะเป็น ผบ.ตร. คนใหม่ต่อ ก.ต.ช.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอนายกฯ ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูล โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง แต่กระบวนการก็ยังคงต้องให้ ก.ต.ช. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน ซึ่งประธานก.ต.ช. ก็คือ นายกรัฐมนตรี ซึ่งยังเป็นฝ่ายการเมืองอยู่ดี ทางกมธ. จึงเสนอให้การแต่งตั้ง ผบ.ตร.ควรดำเนินการโดย ก.ตร. เพียงองค์กรเดียว โดยให้ก.ตร. พิจารณาคัดเลือกตำรวจจากตำแหน่ง จเร รอง ผบ.ตร. หรือ เทียบเท่ายศ พล.ต.อ. เข้าสู่กระบวนการสรรหา ซึ่งผู้เข้ารับการสรรหาต้องแสดงวิสัยทัศน์ จากนั้นให้ก.ตร.พิจารณาผู้ที่เหมาะสมเป็น ผบ.ตร. มา 1 รายชื่อ แล้วเสนอให้นายกฯ ดำเนินการนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูล โปรดเกล้าฯ ทั้งนี้ กมธ.ได้กำหนดระยะเวลาการปฏิรูปให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ให้แล้วเสร็จในรัฐบาลนี้ หากมีปัญหาในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ให้นายกฯ ใช้มาตรา 44 แก้ไขความใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการปฏิรูปที่กมธ.เสนอ
จากนั้น สมาชิก สปท.ได้ลุกขึ้นแสดงความเห็นโดยส่วนใหญ่เป็นห่วงเรื่องมาตรการตรวจสอบถ่วงดุล โดยนายนิกร จำนง สปท. อภิปรายว่า แผนงานปฏิรูปที่ถูกเสนอมานี้ กำลังจะทำให้ตำรวจ เป็นเหมือนกึ่งองค์กรอิสระ ดูแลกันเอง แต่งตั้งกันเอง แต่ตำรวจนั้น มีหน้าที่ทำตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งการให้รัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยนั้น มองมุมหนึ่งก็เป็นการแทรกแซง แต่หากมุมอีกมุม ก็เป็นระบบการทำงาน เพราะตำรวจเกรงใจนักการเมือง นักการเมืองเกรงใจประชาชนชน และประชาชนก็กลัวตำรวจ หากตำรวจมีโครงสร้างแบบนี้แล้ว ใครจะเป็นคนควบคุมตำรวจ เพราะรัฐบาลมีอำนาจแต่งตั้ง และถอดตำแหน่ง ผบ.ตร. แต่อำนาจนั้นก็มาจากประชาชน ซึ่งจะถูกเอาคืนทุก 4 ปี จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า หากมีการใช้อำนาจส่วนนี้กันเอง แล้วมีปัญหาขึ้นมา ใครจะเป็นผู้ดูแล
นายกษิต ภิรมย์ สปท. อภิปรายว่า วันนี้ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สปท. มีคดีความเกี่ยวกับ สตช. แต่เรากำลังจะมีข้อเสนอปฏิรูปให้ สตช. เป็นองค์กรอิสระ ปลอดจากการเมือง เรื่องนี้จะเป็นการหนีเสือปะจระเข้ หรือไม่ เพราะประเทศที่มีประชาธิปไตยแบบเสรี จะต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล แต่ข้อเสนอดังกล่าว เมื่อสตช. เป็นอิสระแล้วกลับไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ตนจึงขอเสนอให้ประชาชนเป็นผู้ตรวจสอบ โดยตำแหน่ง ผบ.ตร. หรือ หัวหน้าสำนักงานตำรวจระดับเทศบาลเมือง อาจให้มีการสมัครกันเข้ามา แล้วให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเลือก แบบนี้ถึงจะมีความน่าเชื่อถือ
อย่างไรก็ตาม หลังการอภิปราย ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับรายงานดังกล่าว ด้วยคะแนน 100 ต่อ 30 งดออกเสียง 48 โดยคณะกมธ. จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกไปปรับปรุงแก้ไขก่อนส่งคณะรัฐมนตรี พิจารณาภายใน 7 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น