xs
xsm
sm
md
lg

สปท.เห็นชอบรายงานปฏิรูป ตร. สกัดการเมืองตั้ง ผบ.ตร. สมาชิกฯห่วงเป็นองค์กรอิสระ ไร้การควบคุม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมโน (แฟ้มภาพ)
สปท.เห็นชอบรายงานปฏิรูปตำรวจ ให้ ก.ตร.เลือก ผบ.ตร. ขณะที่นายกฯ เป็นประธาน ก.ต.ช.เพียงอย่างเดียว อ้างขจัดการครอบงำของฝ่ายการเมือง พร้อมเสนอให้ “บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 แก้ พ.ร.บ.ตำรวจให้ทันรัฐบาลชุดนี้ ด้านสมาชิกรุมท้วงติง ระบุไม่ใช้การปฏิรูป แค่ลดอำนาจฝ่ายการเมืองแล้วโอนบทบาทไปให้กับตำรวจเพียงกลุ่มเดียวโดยไร้การควบคุมจะเป็นปัญหาในอนาคต

ที่รัฐสภา เมื่อ เวลา 09.30 น.วันนี้ (29 ก.พ.) มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยมี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท.เป็นประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เรื่องความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลของตำรวจจากการแทรกแซงทางการเมือง

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน โฆษก กมธ.สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปท. กล่าวชี้แจงรายงานว่า การปฏิรูปตามแนวทางรายงานของคณะ กมธ.นั้นยอมรับว่าย้อนยุค เพราะได้นำเอาแนวทางการปฏิรูปตำรวจตั้งแต่ปี 2405 มาปรับใช้ เนื่องจากตั้งแต่สมัยรัฐบาลปี 2547 (นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี) เป็นต้นมาต้องการทำให้องค์กรตำรวจอ่อนแอ สร้างรัฐตำรวจ และย่ำยีองค์กรตำรวจโดยการให้นายกรัฐมนตรีมานั่งเป็นประธานสำนักงานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เพื่อแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และยังตั้งนายกรัฐมนตรี เป็นประธานสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เพื่อให้ตั้งนายพลทั้งหมด เราจึงมักเห็นรอง ผบ.ตร.ของไทยเดินตามนายกฯ ไปทุกที่

พล.ต.ท.อำนวยกล่าวต่อว่า ดังนั้น กมธ.จึงเสนอแนวทางการปฏิรูปโดยปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของ ก.ตร. โดยทำให้ ก.ตร.เป็นองค์กรบริหารงานบุคคลเพียงองค์กรเดียว มีความเป็นอิสระ ปราศจากการถูกครอบงำทางการเมือง และกำหนดอำนาจหน้าที่เพิ่มเติมให้ ก.ตร.เป็นผู้พิจารณาแต่งตั้ง ผบ.ตร.ด้วย และให้การบริหารงานบุคคลในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นไปในทำนองเดียวกับคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.)ของสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.)

นอกจากนี้ยังปรับให้ ก.ตร.เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ตร.แทน ก.ต.ช. รวมทั้งให้มีหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงานของ ผบ.ตร.ด้วย

ส่วนบทบาทของ ก.ต.ช.กำหนดให้ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลอีกต่อไป แต่ยังให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก.ต.ช.เพื่อขับเคลื่อนการบริหารงานราชการแผ่นดินตามนโยบายรัฐบาลเหมือนเดิม

พล.ต.ท.อำนวยกล่าวอีกว่า สำหรับกระบวนการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร.นั้น แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 44/2558 ลงวันที่ 4 ธ.ค. 2558 แก้ไขเพิ่มเติมให้ ผบ.ตร.เสนอรายชื่อบุคคลที่จะเป็น ผบ.ตร.คนใหม่ต่อ ก.ต.ช.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอนายกฯ ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูล โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง แต่กระบวนการก็ยังคงต้องให้ ก.ต.ช.พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน ซึ่งประธาน ก.ต.ช.ก็คือนายกรัฐมนตรี ที่ยังเป็นฝ่ายการเมืองอยู่ดี ทาง กมธ.จึงเสนอให้การแต่งตั้ง ผบ.ตร. ควรดำเนินการโดย ก.ตร.เพียงองค์กรเดียว โดยให้ ก.ตร.พิจารณาคัดเลือกตำรวจจากตำแหน่งจเร รอง ผบ.ตร. หรือเทียบเท่ายศ พล.ต.อ. เข้าสู่กระบวนการสรรหา ซึ่งผู้เข้ารับการสรรหาต้องแสดงวิสัยทัศน์ จากนั้นให้ ก.ตร.พิจารณาผู้ที่เหมาะสมเป็น ผบ.ตร.มา 1 รายชื่อ แล้วเสนอให้นายกฯ ดำเนินการนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯ

ทั้งนี้ กมธ.ได้กำหนดระยะเวลาการปฏิรูปให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี เพื่อให้าแล้วเสร็จในรัฐบาลนี้ หากมีปัญหาในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้นายกฯ ใช้มาตรา 44 แก้ไขความใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการปฏิรูปที่ กมธ.เสนอ

จากนั้นสมาชิก สปท.ได้ลุกขึ้นแสดงความเห็น โดยนายนิกร จำนง สปท.อภิปรายว่า ที่ผ่านมาเรามองว่าองค์กรตำรวจถูกแทรกแซงจากภายนอก โดยอำนาจนายกรัฐมนตรีที่สามารถแต่งตั้ง ผบ.ตร.ได้ ซึ่งแผนงานปฏิรูปที่ถูกเสนอมานี้ เรากำลังจะทำให้ตำรวจเป็นเหมือนกึ่งองค์กรอิสระ ดูแลกันเองในการแต่งตั้ง แต่องค์กรตำรวจนั้นมีหน้าที่ทำตาม นโยบายของรัฐบาล ซึ่งการให้รัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยนั้น มองมุมหนึ่งก็เป็นการแทรกแซง แต่หากมุมอีกมุมก็เป็นระบบการทำงาน เพราะตำรวจเกรงใจนักการเมือง นักการเมืองเกรงใจประชาชนชน และประชาชนก็กลัวตำรวจ หากตำรวจมีโครงสร้างแบบนี้แล้ว ใครจะเป็นคนควบคุมตำรวจ เพราะรัฐบาลมีอำนาจแต่งตั้งและถอดตำแหน่ง ผบ.ตร. แต่อำนาจนั้นก็มาจากประชาชน ซึ่งจะถูกเอาคืนทุก 4 ปี จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า หากมีการใช้อำนาจส่วนนี้กันเองแล้วมีปัญหาขึ้นมา ใครจะเป็นผู้ดูแล

“ที่ผ่านมาเราพูดแต่เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างของตำรวจ แต่ไม่ได้กล่าวถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้พวกเขาเป็นรายบุคคล เพราะงานตำรวจถือว่าทำงานหนักแต่ได้เงินน้อย หากตำรวจมีสวัสดิการที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ พวกเขาก็จะไม่ถูกกดดันโดยอำนาจภายนอก โดยเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ควรให้ความสนใจ”

ขณะที่นายวันชัย สอนศิริ สปท.กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปท.ยังไม่ได้มีงานปฏิรูปที่เป็นชิ้นเป็นอัน หากใช้อำนาจ มาตรา 44 ตามที่ พล.ต.ท.อำนวยเสนอมาแล้วปฏิรูปเรื่องนี้สำเร็จได้ก็จะกลายเป็นผลงานชิ้นเยี่ยมของ สปท. แต่ตนขอตั้งข้อสังเกตว่าข้อเสนอที่ให้ปรับปรุงคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มีอำนาจเลือก ผบ.ตร.ได้นั้น เมื่อดูโครงสร้างของ ก.ตร.แล้วจะพบว่ามีรอง ผบ.ตร.และจเรตำรวจจำนวนหนึ่งเข้าร่วมใน ก.ตร.ด้วย ซึ่งทำให้มีความได้เปรียบเสียเปรียบที่ต่างกัน เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ชิงตำแหน่งที่ไม่มีความใกล้ชิดกับ ก.ตร. ทั้งนี้ ตัวประธาน ก.ตร.ก็เป็นอดีตข้าราชการตำรวจยศ พล.ต.อ. ก็เป็นที่น่าถามว่าองค์กรนี้จะขับเคลื่อนโดยข้าราชการเกษียณหรืออย่างไร

ส่วนนายกษิต ภิรมย์ สปท.อภิปรายว่า วันนี้ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สปท.มีคดีความเกี่ยวกับ สตช. แต่เรากำลังจะมีข้อเสนอปฏิรูปให้ สตช.เป็นองค์กรอิสระ ปลอดจากการเมือง เรื่องนี้จะเป็นการหนีเสือปะจระเข้หรือไม่ เพราะประเทศที่มีประชาธิปไตยแบบเสรีจะต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล แต่ข้อเสนอดังกล่าวเมื่อ สตช.เป็นอิสระแล้วกลับไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ตนจึงขอเสนอให้ประชาชนเป็นผู้ตรวจสอบ โดยตำแหน่ง ผบ.ตร. หรือหัวหน้าสำนักงานตำรวจระดับเทศบาลเมือง อาจให้มีการสมัครกันเข้ามาแล้วให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเลือก แบบนี้ถึงจะมีความน่าเชื่อถือ ตนเห็นว่า กมธ.ยังไม่ได้จัดลำดับความสำคัญที่ถูกต้องว่า การปฏิรูป สตช.ที่แท้จริงควรทำอย่างไร เพราะขนาดการแต่งตั้ง ผบ.ทบ.ในยุครัฐบาลนี้ไม่มีการเมืองมาเกี่ยวข้อง แต่ทำไมยังมีข่าวลือและข้อครหาออกมามากมาย เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้พวกเราพิจารณาเห็นชอบให้ สตช.เป็นอิสระ ตนคิดว่าจะมีความเสียหาย ศักดิ์ศรีของนายตำรวจดีๆจะหมดไปหรือไม่ วันนี้เราต้องเอาความจริงมาพูดกัน โดยต้องไม่ทำเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ต้องทำเพื่อประชาชนโดยเอาความจริงมาพูดกัน อย่าหลอกตัวเอง และหลอกประชาชนไม่ได้

ด้านนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สปท.อภิปรายว่า ตนคิดว่า กมธ.กำลังปฏิรูปองค์กรตำรวจโดยลดอำนาจของนักการเมืองลง แต่อำนาจนั้นจะกลับไปอยู่ในมือตำรวจเพียงกลุ่มเดียว สิ่งที่ กมธ.ไม่ได้พูดถึง คือ ระบบวัฒนธรรมของตำรวจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะตำรวจมาจากสถาบันเดียวกันจึงทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์เป็นอย่างมาก สิ่งที่ กมธ.ตั้งใจ คือ ต้องทำให้องค์กรตำรวจเป็นอิสระ แต่นอกจากเป็นอิสระจากการเมืองแล้ว ยังเป็นอิสระจากประชาชนด้วย เพราะตำรวจจะโปร่งใสต้องมีระบบการตรวจสอบที่ดี ตัวอย่างที่จะทำให้องค์กรตำรวจมีความโปร่งใส คือ ต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น

ทั้งนี้ องค์กรที่จะได้รับการปฏิรูปต้องส่งสัญญาณให้กับประชาชนรู้ว่า พร้อมแล้วที่จะได้รับการปฏิรูป แต่กรณีของ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป เท่ากับว่าองค์กรตำรวจยังไม่มีความพร้อมที่จะปฏิรูป ทั้งที่สิ่งที่ประเด็นดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายตำแหน่ง การรับส่วย ก็เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปอยู่แล้ว จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับรายงานดังกล่าวด้วยคะแนน 100 ต่อ 30 งดออกเสียง 48 โดยคณะ กมธ.จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกไปปรับปรุงแก้ไขก่อนส่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 7 วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น