xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลคสช.ดัน"ยุทธศาสตร์ชาติ" "อำนาจที่6"ในร่างรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แหล่งข่าวจากรัฐสภา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) ที่มี ร.อ. ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท.ในฐานะประธาน ได้รายงานผลการประชุมคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทนของคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ สปท. เพื่อรายงานให้ กรรมาธิการของ สปท.รับทราบ
โดยที่ประชุมได้สรุปสาระสำคัญ คือ รัฐบาลยังคงยึดโรดแมป 6-4-6-4 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เคยประกาศเอาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งครม.มีความเห็นเกี่ยวกับ ร่าง รธน. ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน โดยกำหนดการปฏิรูปประเทศให้เป็นไปตามกรอบยุทศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งสอดคล้องกับสปท. โดยในวันที่ 16 ก.พ.นี้ พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สปท. เตรียมนำเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อผลักดันเป็นกฎหมายให้สำเร็จ ก่อนจะมีรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อให้รัฐบาลที่เข้ามาใหม่ผลักดันยุทศาสตร์ของชาติ ตามกรอบที่ ร่าง พ.ร.บ.ฯ กำหนดเป็นเวลา 20 ปี และหากไม่ปฏิบัติตาม จะมีความผิดตามกฎหมาย
ทั้งนี้ มีการวิพากวิจารณ์ว่า คณะกรรมการยุทศาสตร์ชาติ จำนวน 25 คน และคณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 29 คน โดยมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ถือ เป็นอำนาจที่ 6 ที่บัญญัติรับรองไว้ใน ร่าง รธน. และร่าง พ.ร.บ.ยุทศาสตร์ชาติ นอกเหนือจาก 3 อำนาจเดิม คือ 1. นิติบัญญัติ 2. บริหาร 3. ตุลาการ อำนาจที่ 4 องค์กรอิสระ และ อำนาจที่ 5 ได้แก่ศาลรัฐธรรมนูญ
แหล่งข่าว กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังมีมติ ตามคำสั่ง 1/2559 เรื่องการตั้งคณะกรรมการจริยธรรมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยมีน.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธาน สนช. คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธาน และมีประธาน กมธ.ปฏิรูปประเทศทั้ง 11ด้าน เป็นกรรมการ โดยมีอำนาจหน้าที่ 7 ประการ อาทิ ทำหน้าที่พิจารณาพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับจริยธรรมจากสมาชิก ผู้ตรวจการแผ่นดิน บุคคล หรือหน่วยงานใด ปฏิบัติตามหน้าที่อื่นๆ ที่สภาสปท. เห็นชอบ โดยจะมีการจัดทำระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ และวิธีรับคำร้อง การรับเรื่องร้องเรียน การนำเสนอเรื่องเข้าสู่
การพิจารณา และวิธีพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
นอกจากนี้ ในช่วงท้ายของเอกสารการประชุมยังกำชับว่า "การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากจะต้องพิจารณาเรื่องที่เป็นความลับ และจะต้องรักษาความลับจากการปฏิบัติหน้าที่"
ซึ่งมติดังกล่าวได้สร้างความแปลกใจให้กับสมาชิก สปท. เนื่องจากในสมัย สปช. ที่มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธาน ไม่เคยกำชับเรื่องความลับในการปฏิบัติหน้าที่ของ สปช. เพราะถือหลักว่า เข้ามาเพื่อปฏิรูปประเทศ ต้องรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน ต้องเปิดเผยการทำงาน ไม่ปกปิด และจริงใจกับประชาชน
ด้านน.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธาน สนช. คนที่ 2 กล่าวว่า โดยปกติกรรมการเรื่องจริยธรรม ในทุกองค์กร ถือเป็นความลับอยู่แล้ว โดยเฉพาะผลการตรวจสอบ หรือร้องเรียนเรื่องจริยธรรมต่างๆ ที่ไม่สามารถเปิดเผยสู่สาธารณะได้
**”กษิต”ค้านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ด้านนายกษิต ภิรมย์ รองประธานกมธ.ปฏิรูปประเทศด้านการเมืองสปท. กล่าวว่า ในวันที่ 16 ก.พ. ในการประชุมสปท.พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ตนจะอภิปรายไม่เห็นด้วย อาทิ ยุทศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่สอดคล้องกับบริบทสังคม และโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเป็นเรื่องยากในการปฏิบัติที่จะทำตาม เพราะในเมื่อสังคมโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รัฐบาลที่เข้ามาในแต่ละช่วงเวลา จะต้องปรับตัวให้ทัน อีกทั้งยังไม่เห็นด้วยกับการตั้งกฎเหล็กจำนวน 20 ปี เพราะปิดกั้นสติปัญญาของผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งระงับสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนอีกด้วยในการคิด รวมทั้งยังสร้างกระแสการไม่ยอมรับเนื่องจากเกิดขึ้นในสมัยเผ็ดการทหารอีกด้วย ซึ่งสวนทางกลับกรณีที่ประเทศจะมีการเลือกตั้งในปี 2560 แต่กลับมาตั้งยุทธศาสตร์ชาติควบคุมไว้นานอีก 20 ปี ซ้ำยังออก ร่าง พ.ร.บ. ซ้ำเติมเข้าไปอีก ที่ไม่ตอบโจทย์ของสังคม เพราะเป็นแนวคิดของข้าราชการ ขาดการมีส่วนร่วม
"รัฐบาลทหารไม่ควรมาออกแบบยุทศาสตร์ชาติ แทนที่จะไปคิดเรื่องซื้ออาวุธ ปืน รถถัง แต่ไปกลับไปคิดแทนคนไทยในอนาคต อีกทั้งในต่างประเทศก็ไม่มีการกำหนดยุทศาสตร์ชาติยาวนานถึง20ปี แม้แต่ประเทศในกลุ่มคอมมิวนิสต์ อย่างเช่น จีน คิวบา ลาว และเวียดนาม ยังกำหนดยุทธศาสตร์ชาติแค่ 5 ปี ดังนั้นรัฐบาลทหารจึงอย่าคิดเองเออเอง หรือใช้อำนาจให้สปท.หรือสนช.คลอดกฎหมายออกมา" รองประธาน กมธ.ปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น