อดีต รมว.คลัง ไม่เห็นด้วย ครม.เห็นชอบแบงก์ชาติซื้อหุ้นต่างประเทศ ชี้ทุนสำรองเกิดจากนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก การหากำไรเป็นองค์ประกอบรอง ไม่ควรหมกมุ่น แค่บริหารให้ดีก็พอ นำไปลงทุนแบบปลอดภัย เน้นสภาพคล่อง เตือนไม่มีใครรู้อนาคตอาจต้องใช้ แนะอยากมีกำไรให้เอาดอลลาร์ส่วนเกินขาย ผ่อนคลายให้ชาวบ้านไปลงทุนในต่างแดนมากขึ้น ติงระวังกลายเป็นฝันร้ายที่ไม่จำเป็น
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติ่มพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สามารถนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ในส่วนของบัญชี ธปท.ไปลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุนหรือหุ้นในต่างประเทศได้ว่า เรื่องนี้ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ถึงแม้จะมีคำอธิบายพยายามให้คลายใจก็ตาม เช่น ต้องเป็นหุ้นในตลาดต่างประเทศเท่านั้น ไม่ใช่ตลาดไทย เป็นทุนสำรองส่วนที่อยู่ในบัญชีแบงก์ชาติเท่านั้น ไม่ใช่ทุนสำรองที่หนุนการออกธนบัตร เป็นการลงทุนปกติเท่านั้น ไม่ใช่การตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) แต่คำอธิบายเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้ตนเห็นด้วยประการใด
นายธีระชัยระบุว่า ต้องเริ่มต้นก่อนว่า ทุนสำรองเกิดมีขึ้นที่แบงก์ชาติได้อย่างไร เวลามีเงินดอลลาร์ไหลเข้าออกประเทศไทย แบงก์ชาติทำได้ 2 อย่าง อย่างแรก คือ แบงก์ชาตินั่งเฉยๆ ปล่อยให้เอกชนซื้อขายดอลลาร์ เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทกันเอง ถ้ามีดอลลาร์ไหลเข้ามา ใครอยากซื้อดอลลาร์ก็ซื้อไป กรณีมีคนแย่งซื้อดอลลาร์กันมาก อัตราแลกเปลี่ยนก็จะปรับขึ้นลงเองแบบอัตโนมัติ ถ้าทำอย่างแรกก็คือ แบงก์ชาติปล่อยให้กลไกตลาดทำงานกันเองโดยไม่แทรกแซง การทำอย่างนี้ทุนสำรองที่แบงก์ชาติจะไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลง อย่างที่ 2 คือ แบงก์ชาติเห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดหวือหวาเกินไป แบงก์ชาติจะเข้าไปแทรกแซง ถ้ามีดอลลาร์ไหลเข้ามา แบงก์ชาติจะเข้าไปซื้อดอลลาร์ หรือกลับกัน ถ้าคนภายในประเทศมีความต้องการดอลลาร์มาก เกินกว่าดอลลาร์ที่มีในตลาด ทำให้เงินบาทอ่อนเร็วเกินไป แบงก์ชาติจะควักดอลลาร์ออกมาขาย ดังนั้น ทุนสำรองที่แบงก์ชาติจึงเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของแบงก์ชาติเป็นหลัก
นายธีรชัยระบุอีกว่า ส่วนการที่แบงก์ชาติจะมีกำไรจากการค้าขายเอง หรือจากเงินลงทุนนั้น เป็นเพียงองค์ประกอบที่สืบเนื่องจากนโยบายการแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น เนื่องจากองค์ประกอบหลักของการมีทุนสำรองเกิดจากนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนการหากำไรจากทุนสำรอง จึงไม่ใช่องค์ประกอบหลัก แต่เป็นองค์ประกอบรอง แบงก์ชาติไม่ควรจะหมกมุ่นในการพยายามจะทำกำไรจากทุนสำรอง เพียงแต่แบงก์ชาติบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนให้ดีก็พอแล้ว ส่วนสำรองที่มีอยู่ก็นำไปลงทุนแบบปลอดภัย เน้นสภาพคล่องเป็นหลักเพราะไม่มีใครรู้ว่า เมื่อใดจะเกิดเหตุการณ์ ที่แบงก์ชาติอาจจะจำเป็นจะต้องควักดอลลาร์จากทุนสำรอง ออกมาใช้พยุงมิให้เงินบาทร่วงลงเร็วเกินไป ตนจึงไม่เห็นด้วยที่แบงก์ชาติจะนำเงินทุนสำรองไปซื้อหุ้น
นายธีระชัยอธิบายว่า ย้อนไปหลายสิบปี หุ้นบริษัท ไอบีเอ็ม และหุ้นบริษัทรถยนต์ในสหรัฐฯ เขาว่ายอดเยี่ยม แต่เวลาผ่านมากลับประสบปัญหาได้อย่างคาดไม่ถึง นอกจากนี้ การพิจารณานโยบายเศรษฐกิจนั้น ต้องดูเป็นองค์รวมทั้งประเทศ กรณีถ้าหากแบงก์ชาติเกิดเห็นว่ามีทุนสำรองอยู่เกินความจำเป็น เกินกว่าที่จะเก็บไว้เป็นสภาพคล่อง เพื่อรองรับใช้แทรกแซงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนและถ้าหากเห็นว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์มากกว่า
“ถ้าหากสามารถนำทุนสำรองดังกล่าวไปลงทุนให้มีกำไรสูง สิ่งที่ควรทำคืออะไร ไม่ใช่แก้ไขกฎหมาย เพื่อให้แบงก์ชาติ เอาทุนสำรองไปซื้อหุ้น แต่แบงก์ชาติควรจะควักดอลลาร์จากทุนสำรองส่วนที่เกินความจำเป็นออกไปขายในตลาด พร้อมทั้งผ่อนคลายให้ประชาชนนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศได้ง่ายขึ้นอีก ภาคเอกชนที่สนใจจะลงทุนต่างประเทศจะได้ซื้อดอลลาร์ไปจากแบงก์ชาติเพื่อนำไปลงทุนเอง วิธีนี้ถ้าการลงทุนเกิดกำไรงาม ประเทศโดยรวมจะได้ประโยชน์ ถ้าการลงทุนเกิดขาดทุนก็จะเป็นเรื่องที่เอกชนรับขาดทุนกันเอง หน้าที่ของแบงก์ชาติคือทำนโยบายต่างๆ ให้ดีก็พอแล้ว ส่วนเรื่องการคิดอ่านจะทำกำไรให้เป็นกอบเป็นกำนั้น ปล่อยให้เอกชนเขาแสดงฝีมือจะดีกว่า ที่ผมพูดอย่างนี้ไม่ใช่ดูถูกคนแบงก์ชาติ เพราะความรู้ทางวิชาการมีเพียบ แต่อย่าลืมว่าพนักงานแบงก์ชาติไม่ได้ผลตอบแทนที่ขึ้นอยู่กับกำไรขาดทุน ไม่เหมือนพนักงานกองทุนรวม หรือพนักงานโบรกเกอร์ ดังนั้น การคิดหากำไรจากทุนสำรอง ด้วยการซื้อหุ้น ระวังจะกลายเป็นฝันร้าย และเป็นฝันร้ายที่ไม่จำเป็นเสียด้วย” นายธีรชัยระบุ
ข่าว ครม. เห็นชอบให้แก้ไขกฎหมาย เพื่อเปิดให้แบงค์ชาติ นำเงินทุนสำรองไปซื้อหุ้นเรื่องนี้ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งถึงแม้จ...
Posted by Thirachai Phuvanatnaranubala on Tuesday, March 22, 2016