อุดรธานี - นายกรัฐมนตรี ชี้แจงการมี ส.ว. สรรหา 250 คน ในบทเฉพาะกาล ยาหอมไม่สืบทอดอำนาจ แค่เข้ามาดูแลช่วงเวลาหนึ่ง 5 ปี ไม่สามารถสั่งได้ ถ้าเป็นเรื่องดีก็ค้านไม่ได้ ปฏิเสธต่างตอบแทนทหารด้วยกัน ระบุ ตามขั้นตอน อ้างเก็บบทความพวกวิจารณ์ทหารไว้หมดแล้ว จ่อเชิญมาคุย เหน็บ “มติชน” มั่วข้อมูลการลงทุนตกต่ำไม่ขอโทษ คราวหน้าเตรียมใช้กฎหมายจัดการ ถามกลับสื่อแบบนี้ใช้ได้หรือไม่ แจง “มีชัย” ใจต่อใจถึงกัน ไม่จำเป็นต้องเคลียร์ แต่ปัดไปหา อ้างกินมื้อกลางวันกับเพื่อนทหารแก่แก้เหงา ไม่มีเพื่อนกินด้วยมานานแล้ว
วันนี้ (18 มี.ค.) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เมื่อเวลา 17.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1. กรณีร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เรื่องรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ก็ได้อธิบายให้ทราบว่ารัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร และขออย่าได้มองว่ารัฐบาลจะสืบทอดอำนาจ โดยยืนยันว่าจะไม่ทำ รัฐธรรมนูญคือความเป็นสากลมีกติกาอยู่แล้ว ทุกคนหากไม่ทำความผิดก็ไม่ต้องกลัว สามารถเข้ามารับการเลือกตั้ง มีสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว โดยรัฐธรรมนูญนั้นเป็นกรอบกว้างๆ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ จะอยู่ในกฎหมายลูก
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ทะเลาะกันเพราะรัฐธรรมนูญ ตนต้องการให้รัฐธรรมนูญเดินหน้าไปได้ และขอเพียงอย่างเดียวคือในบทเฉพาะกาล ที่จะเข้ามาช่วยเหลือเมื่อบ้านเมืองมีปัญหา ให้เข้ามาดูแลช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยคิดว่าจะให้ประเทศเดินหน้าไปได้ประมาณ 5 ปี ซึ่งใครจะเข้ามาช่วยดูแลเพราะตนไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้น จึงอยากให้มี ส.ว. ที่จะเข้ามาดูแล ตนไม่สามารถไปสั่ง ส.ว. ได้ ผู้ที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อน คือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีอำนาจในการกำกับดูแลทั้งฝ่ายบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ และต้องไม่ทาบทับกัน ที่ผ่านมามีการบอกว่า ส.ว. จะเข้ามาป้องกันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนี้หากเป็นความเห็นชอบร่วมกันของรัฐสภา ก็สามารถแก้ไขได้ แต่การทำงานในสภาต้องไม่เสนออะไร ให้เกิดความขัดแย้ง ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าจะเป็นอย่างไร เมื่อถึงเวลาเลือกตั้ง มีทั้งคนดีและคนที่หวังผลประโยชน์ นี่คือจุดด้อยของประชาธิปไตย
“ผมไม่กังวล ถ้านักการเมืองเป็นคนดีทั้งหมด แต่จะทำอย่างไรให้คนที่ดีส่วนมาก เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ผมจะไม่ไปยุ่งกับระยะเวลา เรื่อง ส.ว. ผมกำหนดเบื้องต้น ต้องมี 6 กลุ่ม คือความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม ต่างประเทศ กฎหมาย แก้ปัญหาความขัดแย้ง เป็นการระดมคนที่มีความรู้ ความสามารถเข้าไป จะไม่ตั้งคนส่งเดช ไม่ใช่มาชี้เป็นชี้ตาย ทหารที่เข้าไปหกคน ทั้ง ผบ. (ผู้บัญชาการ) เหล่าทัพ ปลัดกลาโหม ที่เหลือก็ไปคัดสรรกันมา โดยมีการกำหนดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาต้องรับผิดชอบร่วมกันในนามของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้อำนวยการผ่านสภา ซึ่งข้อเสนอในสภา ถ้าดี ส.ว. ก็ค้านไม่ได้ ไม่ใช่ว่าใครเข้ามาจะค้านหมดทุกเรื่อง เพราะไม่ใช่ คสช. ท่านไม่คำนึงถึงคนที่ทำให้เกิดปัญหา แต่กลับคำนึงถึงคนที่แก้ปัญหา ไม่ไว้ใจ ส.ว. แล้วไว้ใจอีกพวกหรือไง ส่วน ส.ส. ผมไม่รังเกียจอยู่แล้ว จะแก้อะไรก็แก้ไป แต่ขอ 5 ปีเท่านั้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ร้อนที่สุดคือร้อนใจ แต่ยิ่งร้อนยิ่งสู้ พอพูดแบบนี้เดี๋ยวสื่อก็เอาไปพาดหัวกัน
ทั้งนี้ ตนอยู่ในกองทัพบกมา ไม่เคยเลือกพวก เพราะทุกคนคือกองทัพ ทหารทุกคนเป็นน้องและเป็นพี่ เราตอบแทนกันด้วยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ของทหารที่มีอยู่แล้ว โดยดูกันตามความอาวุโส และเหมาะสม วันนี้คนพูดว่าตนจะแต่งตั้งคนโน้นคนนี้ ซึ่งไม่มีใครมาขอโทษตนเลย หากโผออกมาแล้ว ไม่ถูกต้องตามที่วิจารณ์ ขอให้รับผิดชอบด้วย อย่าเขียนส่งเดชว่าตนจะแต่งตั้งตำแหน่งในกองทัพเพื่อปกป้องตัวเอง โดยตนเก็บหลักฐานไว้หมดแล้วว่าใครเขียนบ้าง พวกวิจารณ์การตั้งทหาร วันนี้มาเขียนว่าคนเป็นรองแม่ทัพจะเข้ามาเป็นแม่ทัพ หรือเป็นพลโท มันเป็นไปไม่ได้ ตนไม่เคยตั้งคนอย่างนั้น เพราะต้องเป็นไปตามขั้นตอน ไม่ใช่นึกจะเอาใครขึ้นมาก็ได้ ไม่ว่าจะบูรพาพยัคฆ์หรืออะไรก็แล้วแต่ ตนไม่เคยตั้งเอง คนเขียนขอให้รับผิดชอบด้วย และจะเรียกมาพูดคุย หากการแต่งตั้งไม่ออกมาเหมือนที่วิจารณ์ ถือว่าสร้างความเสียหาย และแตกแยกในกองทัพ เช่น คนที่ไม่ได้ขึ้นกลับไปเขียนให้เขาขึ้น ทำให้เกิดความหวังสร้างพรรคพวก ตนไม่ยอม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วานนี้ (17 มี.ค.) หนังสือพิมพ์มติชน เขียนมาได้อย่างไรว่าเศรษฐกิจการลงทุนตกต่ำถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ใช่ ไหนบอกจะขอโทษแล้วไม่เห็นมาขอโทษ โดยตนไม่เกรงใจ แม้สื่อมีสิทธิของตัวเอง แต่ตนก็มีสิทธิ เพราะต้องป้องกันรัฐบาล รวมทั้งชื่อเสียงและห้ามความขัดแย้ง คราวหน้าหากเขียนเช่นนี้อาจจะต้องใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการ ซึ่งตนกำลังให้ฝ่ายกฎหมายดูอยู่ เพราะถือว่าเขียนเผยแพร่ข้อความที่ไม่มีข้อเท็จจริง เกินกว่ากฎหมายกำหนดไว้ คำว่าจรรยาบรรณคืออะไร ถ้าจะวิจารณ์ส่งเดชไม่ต้องเป็นนักข่าวก็ได้ เพราะใครก็เขียนได้ ที่พูดเพราะต้องการให้รักษาสิทธิ แต่ไม่ต้องการทะเลาะกับใคร นักข่าวทุกคนเป็นพี่ ๆ น้อง ๆ กันทั้งนั้น แต่ปัญหาอยู่ที่เจ้าของ บรรณาธิการ คอลัมนิสต์
“ในเล่มเดียวกัน ถ้าให้อีกข้างหนึ่ง ติติงรัฐบาล แล้วอีกข้างสร้างความสมดุล ผมไม่ว่า แต่ไอ้นี่มันหนักไปทางโจมตี เอาเรื่องไม่จริงมาพูดมากกว่าพูดความจริง ถามว่าสื่อแบบนี้ใช้ได้หรือไม่ ประชาชนต้องแยกแยะว่าจะซื้อหนังสือแบบนี้หรือแบบไหน” นายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่า ได้เคลียร์ใจกับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กรธ. แล้วหรือยัง นายกฯ กล่าวว่า ใจต่อใจมันถึงกันอยู่แล้ว ทำไมต้องไปพูดคุย เวลาตนคุยก็ไม่เห็นอีก ตนกับนายมีชัยคุยกันมาตลอด หารือจะต้องเดินยังไง ต้องฟังความเห็นคนอื่นด้วย สิ่งสำคัญคือ อะไรจะทำให้ประเทศชาติปลอดภัย ก็ต้องบอกท่านไป ท่านก็หาวิธีการของท่านมา ตนขัดแย้งกับใครไม่ได้หรอก เพราะอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ต้น แม้กระทั่ง ครม. เดิมต้องออกไป ตนก็ยังสำนึกในสิ่งที่เขาทำมาในระยะแรก วันนี้ชุดที่ 2 ก็ทำต่อมา ไม่มีใครทำให้ตนไม่พอใจ ตนต้องพอใจซิ เพราะทุกคนร่วมชะตากรรมกันมา
เมื่อถามว่า ได้คุยกันเป็นการส่วนตัวแล้วหรือไม่ ช่วงกลางวันของวันที่ 17 มี.ค. ที่หายไปพบกับนายมีชัยมาใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ใครหายไป ตนไปทานข้าวกับเพื่อน วิเคราะห์ให้มันดีสิ ว่าทำไมต้องไปเจออาจารย์มีชัยคนเดียวหรือยังไง ชาตินี้ชีวิตของตน เมื่อถามต่อว่า อยากให้ตอบให้ชัดเจน พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า ตนไม่ได้ไป ไม่ต้องคุย มันคุยไปตั้งนานแล้ว คุยกันมาตลอดนั้นแหละ ไม่เห็นต้องไปคุย
“เป็นเรื่องของท่านมีชัยให้ไปพิจารณาเอา อย่าไปคิดว่า จะต้องไปบังคับโน้นบังคับนี่ ทะเลาะกันแล้วลาออก ปัดโธ่ มันไม่ใช่เด็กนะ ประเทศชาตินะคุณ คิดใหม่เถอะ ช่วยกันคิดใหม่นะ อีกหน่อยผมไปไหนไม่ได้หรือยังไง ผมก็ไปทานข้าวกลางวันกับเพื่อน มีเรื่องต้องหารือกันนิดหน่อย ในการที่จะต้องทำงานร่วมกัน แค่นั้นเอง เพราะไม่ได้คุยกับเขามานานแล้ว เป็นเพื่อนกัน เพราะผมไม่มีเพื่อนมานานแล้ว ไปคุยกับเขาแล้วฟังเขาบ้าง แค่นั้นแหละเพื่อนทหารเก่าด้วยกัน เขาเชิญมาร้อยครั้งแล้ว ไม่เคยได้ไป และแค่ไปกินข้าวหน่อยหนึ่ง ไม่ได้รบกวนเวลาราชการของผมหรอก เพราะผมทุ่มเทเวลาราชการมากกว่า 8 ชั่วโมงอยู่แล้ว ทำเป็นสิบชั่วโมงทุกวัน” นายกฯ กล่าว