เมืองไทย 360 องศา
หากพิจารณาจากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนต รีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มักยืนยันมาตลอดว่าการบริหารราชการแผ่นดินของพวกเขาตลอดเวลาเกือบสองปีมีผลงานมากมายหลายอย่าง แม้ว่าจะมีปัญหาและอุปสรรคมากมาย รวมไปถึงปัญหาหมักหมมที่รัฐบาลชุดก่อนทิ้งเอาไว้
ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันทุกครั้ง รวมไปถึงการตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองอยู่ตลอดเวลาว่าเขากำลังแก้ปัญหาด้วยความยากลำบาก เนื่องจากถูกขัดขวางแบบ “มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ” แต่ก็ต้องอดทนให้มากที่สุด เพื่อวางรากฐานให้แก่บ้านเมืองในระยะยาว
สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามอธิบายให้สังคมได้เห็นลายครั้งก็คือ เขาและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กำลังกำหนดแผนยุทธศาสตร์ของชาติ ความหมายก็เหมือนกับการกำหนด “โรดแมป” ของชาติในอีก 20 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ดีเพื่อให้เป้าหมายดังกล่าวประสบความสำเร็จก็ต้องมีกลไกหรือมีเครื่องมือที่สำคัญ และอย่างที่กำลังเป็นจับตามองกันอยู่ในเวลานี้ก็คือ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ที่ คสช.กำลังมอบหมายให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่นำโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ดำเนินการอยู่ในช่วงท้ายๆ แล้ว
ล่าสุดเป็นการเสนอนำร่องมาจาก “ระดับบิ๊ก” ของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งถือว่าเป็น “เบอร์สอง” เสนอกำหนดประเด็นสำคัญใน “บทเฉพาะกาล” ของรัฐธรรมนูญในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี เช่น กำหนดให้มี ส.ว.สรรหาจำนวน 250 คน ไม่ต้องให้พรรคการเมืองเสนอ 3 รายชื่อคนที่จะเป็นนายกฯ โดยอ้างว่าเพื่อเปิดทางให้สภาผู้แทนฯ โหวตคนนอกก็ได้ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกัน “ทางตัน” ขึ้นมาในอนาคต การกำหนดให้มีการเลือกตั้งแบบ ส.ส.เขต และแบบบัญชีรายชื่อ โดยใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ เป็นต้น ประเด็นดังกล่าวได้เสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการไปแล้ว
แน่นอนว่าเมื่อเป็นแบบนี้ก็ย่อมต้องได้รับความเห็นดีเห็นงามจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นเรื่องสำคัญดังกล่าวในบทเฉพาะกาลเชื่อว่าสังคมได้รับรู้กันในวงกว้างมากขึ้นแล้ว และสำหรับคอการเมืองบ้านเราที่ผ่านสถานการณ์ผ่านการต่อสู้ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน ย่อมมองออกว่า ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องการอะไร หรือมีเป้าหมายในวันหน้าอย่างไรกันแน่ ประเภทที่บอกว่า “ไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ” พูดนั้นพูดได้ เพียงแต่ว่าจะมีคนเชื่อมากน้อยแค่ไหน เชื่อว่าสังคม “รู้ทัน” พอสมควร
ดังนั้นอยู่ที่ว่าต้องมาวัดใจกันว่าสังคมจะเอาอย่างไร จะไฟเขียวยอมให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เสนอแก้ไขโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในแบบที่ว่าหรือเปล่า ซึ่งก็ต้องไปวัดกันตอนการลงประชามติที่มีการกำหนดออกมาแล้วว่าจะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นั่นเอง
ขณะเดียวกันก็เป็นคำตอบของประชาชนว่า “แฮปปี้” กับผลงานที่ผ่านมาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ คสช.มากน้อยแค่ไหน พวกเขาทำผลงานได้ตามเป้าหมาย ตามความต้องการของชาวบ้านหรือไม่ ทั้งในเรื่องปากท้อง โดยเฉพาะการปฏิรูปในเรื่องสำคัญที่เคยเรียกร้องได้บ้างหรือไม่ สองปีและเวลาที่เหลืออีกประมาณปีเศษน่าจะเป็นชิ้นเป็นอันบ้างหรือไม่ ภายใต้อำนาจและความร่วมมือ ความหวังจากทุกฝ่าย พวก คสช.ทำได้แค่ไหน หรือที่ผ่านมาได้ยินแต่พูดของที่อ้างว่ามีปัญหาหมักหมมต้องใช้เวลา โทษฝ่ายการเมืองว่าเป็นตัวถ่วง ซึ่งมันก็ใช่ แต่คำถามก็คือด้วยเวลาและความพร้อมที่มีอยู่ได้แสดงให้เห็นแนวโน้มในทางสำเร็จสักเรื่องบ้างหรือไม่ มีความ “พิเศษ” แบบคุ้มค่าคุ้มราคาให้เห็นบ้างหรือไม่
ดังนั้น นับจากนี้ไปจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้พิสูจน์กันครั้งสำคัญว่าสังคมจะคิดอย่างไรกับการทำงานของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ว่าผลงานเข้าตาหรือไม่ และสมควรที่จะได้ “ไปต่อ” หรือไม่ เพราะด้วยระยะเวลาผ่านมาสองปีและเวลาที่เหลืออยู่อีกประมาณปีเศษมันก็น่าจะเพียงพอสำหรับมองเห็นแนวโน้มในการสร้างผลงาน ความประทับใจ หากความรู้สึกออกมาเป็นบวกมันก็สมควรที่จะได้รับไฟเขียว แต่ถ้าออกมาในทางตรงกันข้ามมันก็ต้องมีคนรับผิดชอบผ่านผลการลงประชามติ
การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติย้ำว่าหากลงประชามติไม่ผ่านก็ร่างใหม่ มันคงไม่ง่ายแบบนั้น เพราะในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลและคสช.ต้องรับผิดชอบ เพราะคราวนี้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขตามคำขอหรือเรียกแบบแรงๆ ว่า “ใบสั่ง” หากไม่ผ่าน นั่นก็ย่อมเป็นคำตอบให้เห็นแล้วว่าชาวบ้านเขาแสดงออกอย่างไร พอใจกับผลงานที่เจ๋งจริงหรือไม่!