โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณี นสพ.มติชนรายวัน นำเสนอข่าวต่างชาติเมินลงทุนในไทย 90% แจงเอาตัวเลขมาเทียบไม่ถูกต้อง หลักเกณฑ์การให้สิทธิ์มีความแตกต่างกัน ระบุ ปี 59 เพิ่มประเภทกิจการและปรับสิทธิประโยชน์เพื่อให้เอื้อต่อการลงทุน อีกทั้งตัวเลขส่งออกไทยติดลบน้อยกว่าประเทศอื่น ย้ำมั่นใจรัฐรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจได้ พร้อมเตือนสื่อมวลชนหัดมองประเทศชาติ หลีกเลี่ยงรายงานข่าวบั่นทอนนักลงทุน พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่รัฐให้ข้อมูลรอบด้าน
วันนี้ (17 มี.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ได้นำเสนอข่าว “เว็บไซต์นิกเคอิชี้ต่างชาติเมินลงทุนในไทย 90%” ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบว่า ข้อมูลที่เว็บไซต์ดังกล่าวนำเสนอเป็นตัวเลขมูลค่าการลงทุนในปี 2558 และปี 2558 เปรียบเทียบกับปี 2557 ซึ่งไม่ใช่ข้อมูล ณ ปัจจุบัน รวมทั้งการนำตัวเลขทั้ง 2 ปี มาเปรียบเทียบกันนั้น อาจไม่ถูกต้อง เพราะหลักเกณฑ์การให้สิทธิ์มีความแตกต่างกัน ซึ่งการนำเสนอข่าวลักษณะนี้ อาจเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศ
“ขณะนี้สถานการณ์ด้านการลงทุนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะในปี 2559 รัฐบาลได้เพิ่มประเภทกิจการและปรับสิทธิประโยชน์เพื่อให้เอื้อต่อการลงทุน เช่น การส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม การยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี และลดหย่อนภาษี ร้อยละ 50 อีก 5 ปี สำหรับกิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง ศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังเจรจากับผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก เพื่อชักจูงให้มาตั้งเทคนิคัล เซ็นเตอร์ Technical Center ในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนสูง” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของประเทศต่าง ๆ ในช่วงต้นปีนี้ติดลบ เช่น จีน ติดลบ 25.4, สิงคโปร์ ติดลบ 20.7, อินโดนีเซีย ติดลบ 20.7, มาเลเซีย ติดลบ 19.7 ในขณะที่ไทย ติดลบ 9.3 ซึ่งยังถือว่าน้อยกว่าอีกหลายประเทศ ขณะที่แนวโน้มการลงทุนจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน และสิงคโปร์ ก็ยังมีทิศทางที่ดีอยู่
“นายกฯ เน้นว่า ไทยจำเป็นต้องยกระดับการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่แปลกใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมกับยืนยันว่า บริษัทผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ยังยืนยันที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิต โดยโตโยต้า มีแผนให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถไฮบริด อีซูซุ เน้นผลิตรถกระบะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไฮบริด นิสสัน เน้นผลิตรถไฟฟ้าเพื่อส่งออก และ ฮอนด้า เน้นให้ไทยเป็นฐานการวิจัยและพัฒนารถยนต์ในภูมิภาค เป็นต้น จึงขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจการทำงานของรัฐบาล ว่า จะสามารถรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้ ท่ามกลางภาวะที่กดดันจากปัจจัยภายนอกประเทศ
อย่างไรก็ตาม นายกฯ ได้ฝากไปยังสื่อมวลชน ว่า ขอให้สื่อคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม หลีกเลี่ยงการรายงานข่าวที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของไทยในสายตานักลงทุน รวมทั้งได้กำชับไปยังเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ใช้วิจารณญาณในการให้ข้อมูลกับสังคม โดยนอกเหนือจากการให้ข้อเท็จจริงของไทยแล้ว ต้องให้ข้อเท็จจริงของประเทศอื่น ๆ ประกอบไปด้วย เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริงเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว