xs
xsm
sm
md
lg

BOI เร่งดันธุรกิจไทยลงทุนนอก หลังพบ 10 ปีเม็ดเงินพุ่ง 2 ล้านล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“บีโอไอ” กางแผนปี 2559 หนุนธุรกิจไทยไปลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะเตรียมแผนจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ นำร่องพม่า อินโดนีเซีย ปี 2560 หลังพบการลงทุนไทยไปต่างประเทศเติบโตสูงต่อเนื่อง โดย 10 ปีไทยลงทุนแล้ว 2 ล้านล้านบาท

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงทิศทางการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศปี 2559 ว่า บีโอไออยู่ระหว่างเตรียมจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศที่ประเทศพม่าและอินโดนีเซียภายในปี 2560 เพื่อรองรับการสนับสนุนนักลงทุนไทยไปลงทุนยังต่างประเทศที่ขณะนี้มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งบีโอไอจะให้ความสำคัญไปที่รายกลางและเล็ก โดยจะกำหนดประเทศเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว สหภาพพม่า และเวียดนาม) กลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศตลาดใหม่ เช่น แอฟริกาใต้

“บีโอไอมีสำนักงานในต่างประเทศ 14 แห่ง แต่จะเน้นการดึงการลงทุนจากประเทศนั้นๆ เข้าไทย ซึ่งขณะนี้ก็พยายามจะปรับบทบาทให้มีการหนุนผู้ประกอบการไทยไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มด้วย ซึ่งปีงบประมาณ 2559 บีโอไอได้งบสำหรับการส่งเสริมธุรกิจไทยไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านบาทจากเดิม 20 ล้านบาทก็ถือเป็นเรื่องที่บีโอไอจะต้องเร่งดำเนินการ อย่างไรก็ตาม แนวทางการส่งเสริมฯ ธุรกิจไทยไปต่างประเทศคงไม่จำเป็นจะต้องมีพระราชบัญญัติส่งเสริมฯ โดยเฉพาะ เพราะแต่ละหน่วยงานก็มีกลไกเพียงพอแล้ว” นางหิรัญญากล่าว

ทั้งนี้ จากสถิติการลงทุนไทยในต่างประเทศ หรือ FDI Markets ตั้งแต่ ม.ค. 2548-2558 หรือช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโครงการลงทุนไทยในต่างประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 550 โครงการ มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 2 ล้านล้านบาท (58,540 ล้านเหรียญสหรัฐ) และมีการเติบโตเพิ่มทุกปี และปี 2558 เป็นปีที่มีจำนวนโครงการมากสุด 79 โครงการ มูลค่าลงทุนก็สูงสุดเช่นกันถึง 17,224 ล้านเหรียญ โดยธุรกิจส่วนใหญ่เป็นภาคการผลิตโดยอุตสาหกรรมที่ลงทุนมากสุด 5 อันดับ ได้แก่ อาหาร โรงแรมและการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการ ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจการเงิน และประเทศที่ไทยไปลงทุนมากสุด คือ เวียดนาม รองลงมาคือ จีน

น.ส.ชลลดา อารีรัชชกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ บีโอไอ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบให้บริษัทที่ปรึกษาทำการสำรวจข้อมูลลงลึกอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศที่ไทยควรจะไปลงทุน โดยคาดว่าจะเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV + I (อินโดนีเซีย) + 3 (บรูไน ฟิลลิปินส์ มาเลเซีย) รวมเป็น 8 ประเทศที่ปีนี้บีโอไอจะให้ความสำคัญมากขึ้น รวมถึงกำหนดกิจกรรมเดินทางไปดูลู่ทางลงทุนในต่างประเทศรวม 24 ครั้ง พร้อมกับประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการส่งเสริมการลงทุนใน 4 ประเทศกลุ่มตลาดใหม่เพื่อลงนามความร่วมมือ (MOU) เช่น แอฟริกาใต้ มัลดีฟส์ ฯลฯ

“ที่ผ่านมาบีโอไอมีการเปิดอบรมสร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศแล้ว 9 รุ่น รวม 333 ราย มีนักลงทุนเข้าไปลงทุนจริงแล้ว 36 ราย แต่ละปีเราตั้งเป้าหมายว่านักลงทุนที่อบรมกับเราจะเข้าไปลงทุนได้จริง 10 รายต่อปีเพราะการลงทุนไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะนี้เราเปิดอบรมรุ่นที่ 10-11 มีคนสนใจ 120 ราย แต่เรารับได้แค่ 70 ราย” น.ส.ชลลดากล่าว

นายเลอสรร ดุลยธรรมาภิรมย์ ประธาน บ. เซโค แอดวานซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ทำหมึกพิมพ์ได้เข้าร่วมอบรมกับบีโอไอรุ่นที่ 4 ซึ่งทำให้รู้จักกับหน่วยงานต่างๆ และได้ตัดสินใจลงทุนที่จีนซึ่งบีโอไอมีบริการด้านที่ปรึกษากฎหมายให้ฟรี ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมากเพราะค่าที่ปรึกษาจะแพงมากหากจ่ายเอง

นางสุวิมล พงศ์พิทยานันต์ ประธานกรรมการ บ.อิสเทิร์นไรซ์ จำกัด กล่าวว่า ได้เข้าอบรมรุ่นที่ 4 กับบีโอไอและวันนี้ก็ยังติดต่อกันอยู่ทำให้เกิดเครือข่ายเอกชนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งบริษัทตัดสินใจลงทุนที่เวียดนามหลังอบรม

นายวิรัตน์ ผาตินาวิน รองประธาน บ.ไทยโคโพลีอุตสาหกรรมพลาสติก จำกัด กล่าวว่า ได้ผ่านการอบรมกับบีโอไอรุ่นที่ 7 เพื่อที่เตรียมแผนรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เพราะมองว่าที่สุดถ้าธุรกิจไทยไม่ไปเขาก็จะเข้ามา ซึ่งได้เดินทางไปดูงานกับบีโอไอ และขณะนี้ก็ไปลงทุนที่เวียดนามและกำลังมองไปที่อินโดนีเซีย
กำลังโหลดความคิดเห็น