รัฐบาลเตรียมดึง บจ.ที่มีศักยภาพร่วมสร้างความเข้มแข็ง ศก.ในระดับฐานราก “สมคิด” เตรียมคุย “ตลท.” ในเร็วๆ นี้ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน มี.ค.59 เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เผยต่างชาติรอปลดล็อกปัจจัยการเมือง และคาดหวังโครงการขนาดใหญ่เดินหน้าเป็นรูปธรรม ด้านโบรกฯ มองเงินไหลเข้ารอบนี้ ไม่สูงเหมือนช่วง 4-5 ปีก่อน พร้อมให้เป้าหมาย 1,450 จุด
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ “เศรษฐกิจฐานรากกับการพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน” จัดโดยสภาเกษตรแห่งชาติ มีตัวแทนเกษตรกรร่วมรับฟังกว่า 2,000 คน โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะบริหารประเทศกว่า 1 ปี หรือจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง จะเน้นใช้นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรมากกว่าการใช้เงินงบประมาณอัดฉีดแบบให้เปล่าเหมือนที่ผ่านมา เชื่อว่าขณะนี้เศรษฐกิจโลกโดยรวมอยู่ในภาวะขาลง เห็นได้ชัดตัวเลขส่งออกของจีนเดือนที่ผ่านมาติดลบมากกว่าร้อยละ 25 รวมถึงประเทศคู่ค้าทั้งในอาเซียน และเอเชียการส่งออกลดลงหมด ดังนั้น การพึ่งพาภาคการส่งออกอย่างเดียวคงไม่ได้ จึงต้องปรับยุทธศาสตร์เร่งสร้างความเข้มแข็ง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจีนเป็นตลาดหลักของไทย และประกาศจะไม่ใช้เงินอัดฉีดเข้าระบบเพื่อให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง แต่จะหันมาใช้การปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานทั้งการผลิต การบริการ โดยจะเน้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และปีนี้เศรษฐกิจจีนจะโตเพียงร้อยละ 6.5 ก็พอใจแล้ว เมื่อจีนประกาศลักษณะนี้ ไทยที่พึ่งการส่งออกไปจีนก็ต้องปรับตัว และจีนเชื่อว่าการปรับโครงสร้างจะเป็นนโยบายถูกต้องมากกว่าการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ อย่างไรก็ตาม กังวลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ยุโรป ที่จะใช้มาตรการอัดฉีด ถือว่าไทยจะต้องปรับตัวอย่าพึ่งพาการส่งออกอย่างเดียว
นายสมคิด กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรไทยทั้งระบบ และดูว่าสินค้าไทยในปัจจุบันมีคุณภาพ และเป็นที่ต้องการ แต่จะทำอย่างไรในการสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรมาเรียนรู้ในสิ่งที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งรัฐบาลจะดึงหน่วยงานรัฐ และเอกชน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ร่วมสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก รวมถึงเร่งพัฒนาสินค้าควบคู่กับแหล่งท่องเที่ยว เพราะแหล่งผลิตสินค้าเกษตรต่างๆ ในภูมิภาคนี้สามารถนำไปปรับปรุง และผสมผสานแหล่งท่องเที่ยวกับแหล่งผลิตสินค้า ซึ่งสามารถทำได้ และรัฐบาลมีเป้าหมายจะพัฒนาให้ 1 หมู่บ้าน เป็น 1 เอสเอ็มอีอุตสาหกรรม
นายสมคิด กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ ตนเองจะไปประชุมร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ดึงบริษัทจดทะเบียนที่มีศักยภาพร่วมกิจกรรมการสร้างเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กลับไปพิจารณาเงื่อนไข หากผู้ประกอบการลงทุนเกษตรกรรมในชนบทจะใช้มาตรการภาษียกเว้นให้แก่ผู้ที่ไปลงทุนในกิจกรรมดังกล่าว หากเกษตรกรร่วมกันเชื่อว่าจะสามารถพัฒนาภาคเกษตรให้มีความเข้มแข็ง และยั่งยืน
ด้าน นายคเณศ วังส์ไพจิตร ผู้อำนวยการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนประจำเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นการลงทุนในตลาดหุ้น 3 เดือนข้างหน้า โดยระบุว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 94.30 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการสำรวจเดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 31.15 จากระดับ 71.90 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน
ทั้งนี้ พบว่าดัชนียังอยู่ในกรอบที่ทรงตัว โดยกลุ่มนักลงทุนส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนสถาบันต่างประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ระดับ 100 จากการสำรวจครั้งก่อนที่อยู่ที่ระดับ 10 ซึ่งหุ้นในหมวดอุตสาหกรรมที่น่าสนใจที่สุด คือ ธนาคาร ขณะที่หมวดอุตสาหกรรมที่ไม่น่าสนใจ คือ เหล็ก
โดยปัจจัยหนุนที่ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทย คือ นโยบายภาครัฐที่เริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้น และการใช้นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะที่ปัจจัยที่ต้องจับตา คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
ขณะที่ นายไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการสภาธุกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า เม็ดเงินต่างชาติที่ไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทยช่วงนี้เป็นเงินระยะสั้น เนื่องจากนักลงทุนเห็นการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทยค่อนข้างโดดเด่น ขณะที่นักลงทุนระยะยาวยังมีความกังวลในพื้นฐานเศรษฐกิจไทย โดยยังรอความชัดเจนเกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากทั้ง 2 ปัจจัยถูกปลดล็อก เม็ดเงินลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในไทยอีกเป็นจำนวนมาก
ส่วน นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยคณะกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด ประเมินว่า ในปี 2559 กำไรต่อหุ้น หรือ EPS ของบริษัทจดทะเบียนอยู่ที่ 89.38 บาท เพิ่มจากปี 2558 ที่อยู่ที่ 68.65 บาท ซึ่งระดับการทำกำไรดังกล่าวน่าจะช่วยขับเคลื่อนตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ระดับหนึ่ง
ส่วนเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ เชื่อว่าน่าจะทยอยกลับเข้ามา แต่เม็ดเงินจะไม่มากเท่ากับ 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยขณะนี้สถานะการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในไทยยังต่ำ อยู่ที่ร้อยละ 30 เท่านั้น ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี สำหรับดัชนีเป้าหมายสิ้นปี 2559 อยู่ที่ระดับ 1,451 จุด