xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองแถลงผลงาน 15 ปี รับคดีล่าช้าเหตุคู่กรณียื้อ เชื่อหลัง กม.บังคับคดีมีผลทำได้เร็วขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ศาลปกครอง” แถลงผลงาน 15 ปี พร้อมเร่งสางคดีเพื่อความเป็นธรรม มีมาตรฐาน “วิษณุ” รับคดีล่าช้าเหตุคู่กรณียื้อด้วยการขอเลื่อนยื่นชี้แจง ระบุยังไม่จำเป็นต้องมีแผนกคดีที่เกี่ยวกับเรื่องโทรคมนาคม มั่นใจหลัง กม.บังคับคดีมีผล ทำได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันปัดแสดงความเห็นคำสั่ง คสช.ให้เอกชนทำงานได้ก่อนทำรายงานสิ่งแวดล้อม เชื่อมีคดีถึงศาลแน่

นายปิยะ ปะตังทา รองประธานศาลปกครองสูงสุด ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานในการแถลงผลการดำเนินงานของศาลปกครองในรอบปี 2558 ที่ผ่านมาว่า โดยเปิดเผยว่าตลอดปีงบประมาณที่ผ่านมาศาลปกครองได้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญในการอำนวยความยุติธรรมข้อพิพาททางปกครอง โดยมุ่งเน้นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อการอำนวยความยุติธรรมของศาลปกครอง ดังเห็นได้จากผลสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อศาลปกครองโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า พบว่า ประชาชนเชื่อมั่นมากถึงร้อยละ 91.72

สำหรับผลการดำเนินงานที่สำคัญของศาลปกครองที่ผ่านมาในด้านการพิจารณาคดีและบังคับคดีปกครองตลอด 15 ปี ศาลปกครองมีคดีเข้าสู่การพิจารณา 115,018 คดี และพิจารณาแล้วเสร็จ 92,347 คดี คิดเป็นร้อยละ 80.29 แต่เฉพาะในปี 2558 ได้พิจารณาคดีแล้วเสร็จ 6,649 คดี และจากการที่ศาลได้เปิดแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 58 ขณะนี้มีผู้ยื่นฟ้องคดีในชั้นศาลปกครองชั้นต้นแล้ว 1 คดี ในด้านการบังคับคดีปกครอง จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 58 มีการเข้าสู่การบังคับดดีจำนวน 9930 คดี บังคับคดีได้แล้วเสร็จ7510 คดี คิดเป็นร้อยละ 75.63 และมีคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการบังคับคดีจำนวน 2,420 คดี คิดเป็นร้อยละ 24.37

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบจำนวนคดีกับจำนวนตุลาการเจ้าของสำนวนพบว่าตุลาการเจ้าของสำนวนในศาลปกครองชั้นต้นมีภาระคดีเฉลี่ย 166 คดีต่อคน และตุลาการเจ้าของสำนวนในศาลปกครองสูงสุดมีภาระคดีเฉลี่ย 577 คดีต่อคน ทำให้ศาลจำเป็นต้องเร่งรัดสรรหาตุลาการเพื่อรองรับกับปริมาณงานที่สูงขึ้น ในปี 2559 นี้ศาลปกครองได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการเพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐานการทำงานตามหลักธรรมาภิบาล โดยจะมีการเร่งรัดการพิจารณาคดีและการบังคับคดีให้รวดเร็วมากขึ้น มีการขยายการเข้าถึงของประชาชนโดยเตรียมเปิดศาลในภูมิภาคเพิ่มขึ้น เช่น ศาลปกครองนครสวรรค์ สุพรรณบุรี และอุดรธานี ตามลำดับ

ด้านนายนพดล เฮงเจริญ ตุลาการหัวหน้าคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองสูงสุด กล่าวหว่า ระหว่างการดำเนินการบังคับคดีซึ่งเป็นการบังคับให้ชดใช้เงินร้อยละ 10 การบังคับทั่วไปร้อยละ 14 ทั้งนี้จะต้องมีการบังคับคดีให้เพิ่มมากขึ้น โดยเวลานี้ สนช.ให้ความเห็นชอบกฎหมายที่เกี่ยวกับการบังคับแล้วก็มีจะผลว่าในบางคดีไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงที่สุด เช่น คดีขยะ คดีไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดความรำคาญต่อประชาชน ศาลก็จะสามารถสั่งบังคับคดีคือให้มีการแก้ไขปัญหานั้นได้เลยเมื่อมีคำพิพากษาในศาลชั้นต้นแล้ว ขณะเดียวกัน กฎหมายดังกล่าวยังสั่งปรับหน่วยงานรัฐที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาล่าช้าในอัตราไม่เกิน 5 หมื่นบาท รวมถึงกรณีเจ้าหน้าที่รัฐไม่เข้าใจ หรือแกล้งไม่เข้าใจเพื่อดึงเวลา จึงคิดว่าเมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้วการบังคับคดีจะดีขึ้น

ส่วนคดีคลองด่านที่ศาลมีคำพิพากษาให้รัฐชดใช้เอกชนนั้น ทราบว่ารัฐบาลได้มีการชำระงวดที่ 1 ให้เอกชนไปแล้ว ส่วนคดีก่อสร้างโรงแรมเมทัลในซอยร่วมฤดี คดียังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ ยังไม่ถึงที่สุด จึงไม่มีการบังคับคดี ขณะที่คดีห้วยคลิตี้ กรมควบคุมมลพิษได้มีการชดใช้ค่าเสียหายตามที่ศาลมีคำสั่งแล้ว ส่วนการฟื้นฟูก็ได้มีการส่งแผนให้ศาลได้พิจารณาหลังมีการเก็บตัวอย่างตลอด 2 ปีที่ผ่านมาแล้ว หลังจากนี้จะเป็นการกำหนดแผนปฏิบัติงานโดยศาลก็จะยังติดตามว่ามีการดำเนินการเป็นไปตามแผนหรือไม่

ส่วนกรณีที่ คสช.ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2559 ให้เอกชนที่รับสัมปทานโครงการขนาดใหญ่สามารถดำเนินโครงการได้ก่อนจะทำแผนประเมินสิ่งแวดล้อมนั้น นายสมชาย งามวงศ์ชน ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น โดยระบุว่าเป็นเรื่องหนักใจ เพราะเชื่อว่าจะต้องมีการฟ้องร้องเป็นคดี ซึ่งคำสั่งที่ออกมาถือว่าโดยชอบ แต่การกระทำเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป ขณะที่นายนพดล เฮงเจริญ เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวมีผลเฉพาะในบางเรื่องเท่านั้น เช่น กรณีขยะ ไฟฟ้า เป็นต้น

ด้านนายวิษณุ วรัญญู ตุลาการหัวหน้าคณะแผนกวินัยการคลังและการงบประมาณศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึงคดีที่เกี่ยวข้องแผนกดังกล่าวว่า ตั้งแต่ตั้งมาปีนี้ยังมีคดีเพียง 3-4 คดี ซึ่งก็สอดรับกับคดีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ส่งเรื่องมา และคิดว่าถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ก็จะสามารถควบคุมการทุจริตตั้งแต่น้ำ เนื่องจากแผนกดังกล่าวเป็นเรื่องการควบคุมเจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้ดำเนินการทุจริต ส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และโทรคมนาคม นั้นแม้จะมีมากในขณะนี้แต่ส่วนตัวก็เห็นว่ายังไม่มากพอที่ศาลจำเป็นต้องตั้งเป็นแผนกคดีแยกออกมา รวมทั้งขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริงแม้จะประสบปัญหา เรื่องความรู้ด้านเทคนิค แต่ตุลาการก็สามารถขอข้อมูลจากคู่ความหรือสั่งให้พยานผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นได้ “เรื่องเทคนิคทางโทรคมนาคมไม่เป็นอุปสรรค ปัญหา ซึ่งทางศาลปกครองเองก็ได้มีการส่งเสริมองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง มีการเปิดอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวเป็นครั่งแรกช่วงปลายเดือนนี้”

นายวิษณุยังกล่าวถึงการพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคมว่า เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสัญญาที่มีทุนทรัพย์สูง ทำให้คู่กรณีต่อสู้กันทุกวิถีทาง ทำให้เกิดความล่าช้าในการแสวงหาข้อเท็จจริง เพราะคู่กรณีมักจะใช้วิธีการเลื่อนขอยื่นคำให้การ ขณะที่ภาครัฐเองที่มีอัยการเป็นทนายก็มักมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากย้ายหน้าที่ ทำให้ผู้ที่เข้าทำหน้าที่แทนต้องเสียเวลาในการศึกษาคดี แต่ทั้งนี้ส่วนตัวก็ไม่อยากให้คดีดังกล่าวมีความล่าช้าเพราะไม่ใช่เพียงเรื่องผลของคดีเท่านั้นที่ส่งผลกระทบ แต่ผู้แพ้คดีเองก็ต้องเสียเงินในเรื่องของค่าดอกเบี้ย


กำลังโหลดความคิดเห็น