xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองหนุน “ศาลสิ่งแวดล้อม” แต่ค้านมาใช้กับคดีทางปกครอง “รสนา” ขอพิจารณาเร็ว - เป็นธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รสนา โตสิตระกูล (ภาพจากแฟ้ม)
ศาลปกครองจัดเสวนาตั้ง “ศาลสิ่งแวดล้อม” ในศาลยุติธรรม รองประธานศาลปกครองไม่เกี่ยงรวบคดีแพ่ง - อาญา แต่ค้านรวมถึงคดีทางปกครอง ยืนยันควรอยู่ในอำนาจพิจารณาศาลปกครอง ด้าน “รสนา” ชี้อยู่ศาลใดก็ได้แต่ขอพิจารณาเร็ว - ให้ความเป็นธรรมประชาชน

วันนี้ (19 ต.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ สำนักงานศาลปกครอง ร่วมกับ มูลนิธิคอนราดอาเดนาวร์ประจำประเทศไทย จัดสัมมนาวิชาหัวข้อ “ผลกระทบจากการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย” เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนต่อกรณีข้อเสนอจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยภายในงานมีการวิพากษ์วิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม และวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลกระทบของการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศ

โดย นายชาญชัย แสวงศักดิ์ รองประธานศาลปกครองคนที่ 2 กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมและวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ... ให้มีสถานะเป็นศาลชำนาญการพิเศษ เป็นศาลชั้นต้นอยู่ในระบบศาลยุติธรรม พิจารณาทั้งคดีแพ่ง อาญา และปกครอง ซึ่งศาลปกครองเห็นว่าศาลยุติธรรมก็มีงานที่จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับคดีแพ่ง คดีอาญา ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว และถือว่าเหมาะสม แต่ในส่วนของคดีปกครองทางสิ่งแวดล้อมควรจะอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง เพราะโดยรัฐธรรมนูญและระบบศาลคู่ ให้คดีปกครองอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

ขณะที่ นายสนิท อักษรแก้ว รองประธานคณะกรรมการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนช. กล่าวว่า กฎหมายเป็นแค่เครื่องมือหนึ่ง แต่สิ่งที่เราขาดคือทำอย่างไรให้ประชาชนมีจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรป่าไม้ แต่ปัจจุบันก็จะเห็นเมื่ออะไรเป็นสมบัติส่วนรวมก็จะมีคนพยายามเอาไปเป็นสมบัติส่วนตัว ซึ่งหากประชาชนมีแนวคิดอย่างนี้จะมีสักกี่ศาลก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ คิดว่าการให้การศึกษาเรื่องนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทั้งนี้ ประชาชนในชนบทจริง ๆ ไม่รู้ว่ากฎหมายออกมาอย่างไร เขาไม่เข้าใจ แต่ถ้าเราสามารถปลูกฝังตั้งแต่เด็กให้รู้จักรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ กฎหมายก็จะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง แต่หากจะมีศาลสิ่งแวดล้อมขึ้นมาจะต้องมีผู้ที่เชี่ยวชาญมาตัดสิน

ด้าน นางคะนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตอนนี้คนที่ทำลายป่า ก็มีการดำเนินการแค่คดีบุกรุก แต่ต้องคิดไปไกลว่าการทำลายป่า คือ การทำลายระบบนิเวศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกคน โดยเราต้องมีวิธีคิดแบบนี้ ไม่ใช่แค่การบุกรุกพื้นที่ป่าแล้วจบไป ทั้งนี้ในฐานะประชาชนต้องเข้าถึงความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นความเป็นธรรมที่ไปถึงคนในอนาคตด้วย ทำให้คดีสิ่งแวดล้อมมีความเฉพาะตัว แต่ปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมยังไม่มีการปรับปรุง การมีศาลขึ้นมาก็จะเป็นแค่การเพิ่มกระบวนการ

ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมจริง ๆ ควรแก้ที่การบริหาร หรือการออกกฎหมาย เพราะตนมองว่าศาลเป็นเหมือนปลายทางของปัญหา เพราความยุติธรรมบางครั้งอาจไม่ใช่แค่กฎหมาย อาจจะเริ่มจากการจัดการที่ถูกต้อง และที่ผ่านมา การพิจารณาคดีของศาลปกครองหลายเรื่องจะยึดคำสั่งของหน่วยงานรัฐว่าเป็นเรื่องภายใน ประชาชนจึงไม่มีสิทธิฟ้องร้อง แต่บางคดีเป็นคดีที่มีความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคดีสิ่งแวดล้อมจะอยู่ในศาลใด แต่อยากให้คดีสิ่งแวดล้อมพิจารณาอย่างรวดเร็ว และต้องตัดสินโดยให้ความเป็นธรรมกับประชาชน และคิดว่าในคดีสิ่งแวดล้อมควรพิจารณาคดีด้วยระบบไต่สวน ไม่ควรใช้ระบบกล่าวหา


กำลังโหลดความคิดเห็น