MGR Online - ชาวบ้านจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ ฟ้องศาลแพ่งเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท บริษัทเหมืองแร่ทองคำสร้างผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (27 พ.ค.) ที่ศาลแพ่ง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ถ.รัชดาภิเษก นายผดุงศักดิ์ เทียนไพโรจน์ และนายสมชาย อามีน ทนายความจากสภาทนายความ พร้อมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทอง จ.พิจิตร และ จ.เพชรบูรณ์ ประมาณ 30 คนได้ยื่นฟ้องบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลย เรื่องละเมิด ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 เรียกค่าเสียหายเป็นค่ารักษาพยาบาลการเจ็บป่วยมีสารพิษในร่างกาย, ค่าเสื่อมสุขภาพอนามัย, ค่าใช้จ่ายเพื่อดำรงชีพในครัวเรือน, ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวชาวบ้านผู้เสียหายซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และ ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ที่ประกอบอาชีพทำนาได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฟ้องคดีแบบกลุ่ม โดยยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย 1,588,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันถัดฟ้อง (27 พ.ค. 2559) และค่าเสียหายที่ชาวบ้านแต่ละรายได้รับผลกระทบอีก
นายผดุงศักดิ์ หัวหน้าทีมทนายความ กล่าวว่า ผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองมายื่นฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหาย รายละประมาณ 1,500,000 บาท โดยมีผู้เสียหายที่ร่วมกันยื่นฟ้องในสำนวนวันนี้แล้วกว่า 300 คน ซึ่งศาลนัดไต่สวนคำร้องว่าจะรับเป็นคดีแบบกลุ่มไว้พิจารณาหรือไม่ ในวันที่ 8 ก.ค.นี้ โดยรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ สว.2/2559 และในอนาคตคาดว่าจะมีผู้เสียหายทยอยมายื่นฟ้องเพิ่มอีกหลายคน
ด้านนายสมชาย อามีน ทีมทนายความ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่ามติ ครม.ไม่มีการต่ออนุญาตสัมปทานภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งสัญญาสิ้นสุดสัมปทานการแต่งแร่ของบริษัทได้หมดอายุในวันที่ 13 พ.ค. 2559 ซึ่งได้มีการต่ออายุออกไปอีก 7 เดือน จึงเกรงว่าอาจจะมีการเร่งการทำเหมืองทองมากกว่าปกติและเกิดผลกระทบ และหากมีสถานการณ์เช่นนั้นเกิดและมีข้อเท็จจริงเราอาจจะมีการขอศาลให้คุ้มครองชั่วคราวเพื่อป้องกันการได้รับผลกระทบดังกล่าว ในส่วนผู้เสียหายที่มาเรียกร้องในวันนี้เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อการทำเหมืองทอง มีผลการตรวจเลือดพบว่ามีโลหะในเลือดมากเกินปกติกว่า 400 คน แต่การฟ้องคดีแบบกลุ่มจะเป็นการฟ้องในลักษณะมีโจทก์เป็นตัวแทนเพียงคนเดียว ส่วนสุดท้ายแล้วหากศาลมีคำสั่งให้จำเลยชดใช้ ผู้เสียหายแต่ละคนจะได้ค่าเสียหายไม่เท่ากันแล้วแต่ศาลจะพิจารณาถึงผลกระทบของแต่ละคนที่ได้รับ
ในการฟ้องคดีในวันนี้เราไม่ได้ไปกล่าวหาว่าเหมืองทองดังกล่าวมีการปล่อยสารพิษเป็นอันตรายต่อชาวบ้าน แต่เราจะนำสืบถึงผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบให้ศาลเห็น และในท้ายฟ้องเราได้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้บริษัท อัคราฯ จ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจำนวน 50 ล้านบาทอีกด้วย ซึ่งในคดีที่มีลักษณะคล้ายกัน ศาลได้เคยมีคำพิพากษาสั่งให้มีการจ่ายเงินในลักษณะนี้มาก่อนแล้วด้วย