คนรัฐบาลอัดเอ็นจีโออย่าเข้าใจผิด! อย่าเชื่อการปลุกระดม ชี้คำสั่งยกเว้นอีไอเอไม่ได้ยกเลิกทั้งหมด ระบุรัฐเน้นสร้างทางรถไฟ เส้นทางเดิม สร้างถนนหรือโรงพยาบาลหรือกรณีเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการป้องกันภัยสาธารณะ ยกเคส “โรงงานเผาถ่านหิน-สัมปทานเหมืองทองเหมืองโปแตช” ก็ผ่านอีไอเอแต่มีปัญหา ด้านนักวิชาการ-ภาคประชาชน-นักขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมเชื่อรัฐกำลังขาดธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (9 มี.ค.) มีรายงานว่า จากคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2559 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยให้โครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดําเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้ โดยไม่ต้องรอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นั้น
ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบความคิดเห็นของนักวิชาการ ภาคประชาชน และนักขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมที่ติดตามคำสั่งฉบับนี้อย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มองว่า เรื่องนี้เรื่องใหญ่ที่สุด และถ้าเป็นจริงหากดำเนินการโครงการที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม รัฐบาลนี้ก็คงจะเข้าสู่การขาดธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม และเข้าสู่รูปแบบเผด็จการว่าอยากทำให้ได้ ทั้งนิตินัย และพฤตินัย เข้าไปเรื่อยๆ แทนที่จะทำแบบนี้ เสนอว่าก่อนออกแบบโครงการควรเพิ่มการปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งทางเทคนิค และผลกระทบเชิงสังคม และออกแบบโครงการจากกระบวนการปรึกษาหารือ ก่อนทำ EIA โครงการต่างน่าจะลดความขัดแย้งและผ่านเร็วขึ้น
“รัฐบาลคงอยากเร่งโครงการสำคัญเพื่อปฏิรูปประเทศ เช่น ระบบคมนาคม เลยเตรียมหาผู้รับเหมารอ แต่โครงการอื่นๆ อย่างเขื่อนที่พ่วงมานี่ ไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่นะครับ และจริงๆ แล้ว ที่ว่า EIA ช้านี่ มันช้าเพราะอะไร มีแก้ไข ส่วนใหญ่หน่วยงานเจ้าของโครงการเองที่เวลามีแก้ไขก็หายไปยาว แต่บ่นว่าขั้นตอนช้า”
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจดการน้ำอย่างบูรณาการ และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูป เขียนว่า คำสั่งนี้ไม่แก้ไขปัญหา สร้างความร้าวฉานในโครงการระหว่างรัฐกับประชาชน
น.ส.บุณยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์เพื่อผู้บริโภค และอดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดสมุทรสงคราม เขียนว่า เป็นการอวสาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากคำสั่งมาตรา 44 ฉบับที่ 9/2559 ให้สิทธิคณะรัฐมนตรี (ผู้ออกคำสั่งนี้) เปิดโอกาสให้เอกชนประมูลโครงการนั้นๆ ได้ (ทำลายทรัพยากรธรรมชาติได้) โดยไม่ต้องรอผ่าน EIA แม้ไม่ลงนามผูกพันสัญญา “แต่เอกชนก็สามารถดำเนินการได้ทันที เอวัง! และวังเวง”
นางสุนี ไชยรส อดีตรองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ชี้ว่ามาตรา 44 เรื่องนี้หนักมาก เพราะเปิดช่องให้ดำเนินโครงการได้รวดเร็วโดยไม่ต้องรอการศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ด้านแอดมิน “เพจเครือข่ายสลัม 4 ภาค” เขียนแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการออกคำสั่ง คสช.ที่ 9/2559 ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการทำโครงการขนาดใหญ่ที่จะกระทบต่อชุมชน โดยไร้กระบวนการศึกษาผลกระทบ หลังจากที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ไปรณรงค์และยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลถึงการออกคำสั่งต่างๆ ที่สร้างผลกระทบต่อคนจน แต่เอื้อผลประโยชน์ต่อนายทุนไปในหลายประเด็น วันนี้กลับต้องมาเพิ่มอีก คือเรื่องการอำนวยความสะดวกต่อการก่อสร้างโครงการต่างๆ ไม่ต้องรอกระบวนการ EIA ไม่ต้องศึกษาผลกระทบใดๆ ใช้ ครม.อนุมัติได้เลย ซึ่งเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างชัดเจน
นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ระบุถึงคำสั่งที่ 9/2559 ออกมาทำให้รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่ทำลายกฎหมายมากที่สุด คำสั่งที่ 9 ออกลายมาอีกแล้ว หลังจากคำสั่งที่ 3 และ 4 ได้ทำลายกฎหมายผังเมืองไปแล้ว ฉบับที่ 10 และต่อไปจะทำลายอะไรอีก
ท้ายสุด นายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิต เขียนว่า คำสั่ง คสช.มาตรา 44 ลดลัดขั้นตอน EHIA...ระวัง! สุมไฟความขัดแย้ง เมื่อวาน คสช.มีคำสั่งที่ 9/2559 ใช้ ม.44 ให้ ครม.สามารถอนุมัติให้ดำเนินการโครงการโดยไม่ต้องรอ ศึกษาผลกระทบฯ EHIA ก่อนหน้านี้ คสช.ก็คำสั่ง 2 ฉบับ ให้ยกเว้นการใช้กฎหมายผังเมืองและกฎหมายการควบคุมอาคาร และคำสั่งที่ยกเว้นการใช้กฎกระทรวงผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท มีผลเป็นการยกเลิกหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนตามกฎหมายหลายประการ คำสั่งล่าสุดนี้แม้จะไม่ถึงกับเป็นการยกเลิกการศึกษาผลกระทบด้านชุมชนสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไปเลยก็ตาม แต่ก็ส่อให้เห็นวิธีคิด คสช.ที่มองว่าขั้นตอนศึกษาผลกระทบฯ หรือ EHIA เป็นปัญหาและขัดขวางโครงการของภาครัฐ เพราะในระหว่างรอผล EHIA ครม.สามารถหาผู้รับเหมาและดำเนินการไปพลางก่อนได้
“คำว่า “พลางก่อน” นี่ล่ะครับจะทำให้ผู้รับเหมาเดินหน้าโครงการไปพร้อมๆ กับทำ EHIA เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเป็นประจำและเกิดความขัดแย้งมาแล้วไนหลายพื้นที่ คำสั่งนี้เท่ากับเอื้อให้นายทุนผู้รับเหมาที่เป็นเจ้าของโครงการทำทุกวิถีทางเพื่อจะได้ทำสัญญากับภาครัฐเพื่อก่อสร้างดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จโดยไม่สนไจ EHIA ลองนึกดูในระหว่างรอผลการศึกษาผลกระทบและมีชาวบ้านคัดค้านโครงการ อาจทำให้ผูรับเหมาเกิดแรงจูงใจในการทำสิ่งที่ผิดกฏหมายเพื่อให้ตัวเองได้งาน ความขัดแย้งความรุนแแรงในชนบท ในหัวเมืองอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงยากขึ้น ถ้าจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชารัฐให้เป็นจริง และมีส่วนร่วมกันทุกภาคฝ่าย ผมว่าคำสั่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่พึงปรารถนาแน่นอนครับ”
มีรายงานด้วยว่า นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เขียนในเฟซบุ๊กว่า “อย่าเข้าใจผิด!! อย่าเชื่อการปลุกระดม!! คำสั่ง คสช. เรื่องยกเว้นการทำอีไอเอหรือการศึกษาสภาพแวดล้อมนั้น ไม่ได้ยกเลิกทั้งหมดนะครับ เป็นเพียงยกเว้นไม่ต้องทำในบางกรณี เช่น การสร้างทางรถไฟ ซึ่งส่วนใหญ่ทำในเส้นทางแนวทางเดิม หรือการสร้างถนนหรือโรงพยาบาลหรือกรณีเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการป้องกันภัยสาธารณะ และอย่าเข้าใจว่าอีไอเอเป็นของวิเศษนะครับ โรงงานเผาถ่านหินที่ศาลเพิ่งเพิกถอนใบอนุญาตเพราะเป็นพิษร้ายแรงก็ได้อีไอเอ การได้สัมปทานเหมืองทองเหมืองโปแตสที่จะทำให้ทั้งประเทศฉิบหายก็ผ่านอีไอเอมาแล้วทั้งสิ้น ใครล่ะ กลุ่มไหนล่ะที่หากินกับการค้านไม่ค้านอีไอเอ!! ยังจะมีหน้าปลุกระดมถล่มรัฐบาลอีกหรือ”