กฟผ.ยืนยันดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ย้ำศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพครอบคลุมพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เน้นรับฟังความคิดเห็นของชุมชน พร้อมตอบข้อกังวลชุมชนไม่ย้ายมัสยิด กุโบร์ อย่างแน่นอน
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม ในฐานะโฆษก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ความมั่นใจกรณีประชาชนในพื้นที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา กังวลเกี่ยวกับการย้ายมัสยิด โรงเรียนสอนศาสนา (ปอเนาะ) และสุสาน (กุโบร์) ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาว่า จะไม่รื้อ ย้าย หรือกระทำการใดให้ส่งผลกระทบต่อมัสยิด และสุสาน (กุโบร์) ในพื้นที่อย่างแน่นอน
“โครงการโรงไฟฟ้าเทพา และท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าเทพา ตั้งแต่ปี 2557 กฟผ. และชุมชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น หารือ และปรับปรุงแผนผังโครงการเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน โดยความเห็นชอบของทั้งสองฝ่าย” นายสหรัฐกล่าว
ทั้งนี้ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กฟผ.ไม่ได้จำกัดพื้นที่เพียง 5 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า แต่ครอบคลุมไปถึงพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น การศึกษาด้านคุณภาพอากาศ กฟผ. ได้ศึกษาครอบคลุมพื้นที่กว้าง 30 กิโลเมตร ยาว 30 กิโลเมตร หรือ 900 ตารางกิโลเมตร การศึกษาด้านสมุทรศาสตร์และชายฝั่ง การศึกษาด้านคมนาคมขนส่งทางบกและทะเล การศึกษาด้านการใช้น้ำและการระบายน้ำ ได้ทำการศึกษาครอบคลุมพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบตามหลักวิชาการ ซึ่งรวมถึงจังหวัดปัตตานีด้วย นอกจากนี้ยังได้มีมาตรการป้องกัน แก้ไขผลกระทบอย่างครบถ้วน ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
สำหรับการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กฟผ. และบริษัทที่ปรึกษาได้จัดขึ้นทั้งหมดจำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบและสุขภาพ (ค.1) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2557 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ครั้งที่ 2 การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในขั้นตอนการประเมิน และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ (ค.2) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์-10 มีนาคม 2558 และการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.3) ในวันที่ 27 และ 28 กรกฎาคม 2558
ในการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว กฟผ.ได้เชิญชุมชนในรัศมี 5 กิโลเมตร ตามกฎหมาย และยังได้เชิญประชาชนทั่วไป รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนเข้าร่วมฟัง โดยมีประชาชนจาก จ.ปัตตานีเข้าร่วมรับฟังจำนวน 31 คน และในจำนวนนี้ 2 ท่านได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในเวที คือ อาจารย์สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และ นายประยุทธ อาแว ประชาชนในพื้นที่หมู่ 2 ต.ท่าเรือ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งโครงการฯ ได้บันทึกความเห็น ข้อเสนอแนะ และสรุปประเด็นไว้ในรายงานผลการรับฟังความคิดเห็น นำเสนอพร้อมรายงานการศึกษา EHIA ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป