xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.รับนโยบาย “บิ๊กโย่ง” เร่งทำความเข้าใจโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กฟผ.” สนองนโยบาย “อนันตพร” เร่งทำความเข้าใจโรงไฟฟ้าถ่านหิน ย้ำภาคใต้มีความจำเป็นต้องผลิตไฟเพิ่มเหตุความต้องการเพิ่มขึ้นกว่าภาคอื่นๆ กระทรวงพลังงานยื่นรายชื่อตั้งคณะกรรมการไตรภาคีแล้วหวังทุกอย่างจะเดินตามแผน


นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยในงาน “ASEAN Power Week 2015” ว่า พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เน้นย้ำให้ กฟผ.ให้ข้อมูลที่ชัดเจนเรื่องความจำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ และโรงไฟฟ้าเทพา จังหวัดสงขลา เพราะขณะนี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้เพียงพอต่อความต้องการใช้ ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่

ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟฟ้า (PDP2015) ได้มีการจัดทำบนสมมติฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจตลอดแผนขยายตัว 3-4% ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้จะเติบโต 2.9% แต่ในข้อเท็จจริงที่ผ่านมากลับพบว่าภาคใต้มีการใช้ไฟที่สูงเฉลี่ยปีละ 5-6% เนื่องจากมาจากการเติบโตภาคการท่องเที่ยวแสดงให้เห็นว่าไฟฟ้าภาคใต้ไม่เพียงพอและที่ผ่านมาต้องส่งป้อนจากสายส่งมาจากภาคกลางและซื้อไฟจากประเทศเพื่อนบ้าน

“ข้อเท็จจริงคือ ปี 2562 กำลังการผลิตไฟในภาคใต้จะไม่เพียงพอจึงมีการนำเอาโรงไฟฟ้าถ่านหินมาเพิ่มและมองในเรื่องความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงของประเทศที่จะกระจายความเสี่ยงจากที่พึ่งก๊าซฯเป็น 70% ให้ลดลงมา” ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าว

สำหรับการตั้งคณะกรรมการไตรภาคีเพ่อรับฟังความคิดเห็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ล่าสุดกระทรวงพลังงานได้ส่งรายชื่อไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยคณะกรรมการไตรภาคีจะประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ ภาคประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกระทรวงพลังงาน โดยแต่ละกลุ่มจะส่งรายชื่อเข้าร่วมรวมกับนักวิชาการ 5-7 คน คาดว่าน่าจะหารือได้ในเร็วๆ นี้โดยแนวทางดังกล่าวจะควบคู่ไปกับการเดินหน้าการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) คาดว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (คชก.) จะประชุมเดือนตุลาคมนี้

“เราก็ยังหวังว่า EHIA จะผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติภายในไตรมาส 1 ปีหน้า ซึ่งหากล่าช้ากว่านี้อาจทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าไม่เสร็จตามแผนที่จะเริ่มผลิตไฟฟ้าปี 2562 เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินต้องใช้เวลาก่อสร้างถึง 4 ปี” นายสุนชัยกล่าว

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของ ปตท.ต้องทำแผนรองรับความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น โดยต้องยอมรับว่าหากใช้ก๊าซแอลเอ็นจีทั้งหมด ต้นทุนค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งตัดสินใจ คือ จะจัดการอย่างไรกับสัมปทานปิโตรเลียมเอราวัณ/บงกชที่จะหมดอายุปี 2565-2566 ซึ่งมีสัดส่วนถึง 50% ของความต้องการก๊าซของไทย หากไม่เร่งตัดสินใจจะส่งผลทำให้ไทยต้องนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นและกระทบค่าไฟฟ้าภาคประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น