xs
xsm
sm
md
lg

ต่างชาติพบ “สมคิด” ญี่ปุ่นจี้รถไฟ “ระยอง-มาบตาพุด” - ฝรั่งเศส” จีบร่วมเอฟทีเออียู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายโนะริโอะ ยะมะกุจิ รองประธานสภาการแลกเปลี่ยนมิตรภาพระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประธานคณะกรรมการการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจญี่ปุ่น-อาเซียนของ FEC พร้อมคณะ เข้าเยี่ยมคารวะรองนายกรัฐมนตรี
ต่างชาติเข้าพบ “รองสมคิด” สองคณะ ย้ำเศรษฐกิจไทยชะลอตัวแต่ไม่น่าวิตกกังวล เปิดช่องนักธุรกิจญี่ปุ่นร่วมสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เผยญี่ปุ่นถามเส้นทางรถไฟด้านตะวันออก สาย “ระยอง-มาบตาพุด” รองนายกฯ รับรถไฟเชื่อมเศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มดี ชู “โคลัมโบ-ทวาย” เชื่อมไทย-เอเชีย ด้าน “อธิบดีธนารักษ์ฝรั่งเศส” จีบไทยร่วมเวทีเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป

วันนี้ (4 มี.ค.) รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับผู้บริหารระหว่างประเทศสองคณะ โดยคณะแรกนายโนะริโอะ ยะมะกุจิ รองประธานสภาการแลกเปลี่ยนมิตรภาพระหว่างประเทศญี่ปุ่น (International Friendship Exchange Council : FEC) และประธานคณะกรรมการการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจญี่ปุ่น-อาเซียนของ FEC นำคณะ เข้าเยี่ยมคารวะ ทั้งนี้ FEC ถือเป็นองค์กรเอกชนที่ส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศ ด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม มีสมาชิกจากภาคอุตสาหกรรมชั้นนำและหลากหลาย โดยในวันนี้คณะจาก FEC ที่นำโดยนายโนะริโอะ ยะมะกุจิ ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ

ทั้งนี้ รองประธานสภาการแลกเปลี่ยนมิตรภาพญี่ปุ่นฯ ได้สอบถามเกี่ยวกับประเด็นที่อยู่ในความสนใจของภาคเอกชนญี่ปุ่น เช่นด้านสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและทิศทางในอนาคต ซึ่งนายสมคิดกล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว เช่นเดียวกับเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ไม่น่าวิตกกังวล ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น โดยให้ความสำคัญกับ 1) อุตสาหกรรมอาหาร การเกษตรและ Bio Economy 2) อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม 3) อุตสาหกรรม Hi-tech 4) อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ Animation บันเทิงและดนตรี (entertainment)

ในด้านการเกษตร ญี่ปุ่นต้องการทราบถึงแนวนโยบายของรัฐบาลต่อการการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งถือเป็น Primary industry ของไทย รวมถึงต้องการแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันในเรื่องนี้ นายสมคิดได้ย้ำว่า การพัฒนาภาคการเกษตรเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล โดยเน้นการยกระดับมูลค่าสินค้าเกษตร การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่า ต่อยอดสินค้าเกษตรในท้องถิ่น รวมถึงเน้นการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร และ Bio Economy ที่อาศัยผลผลิตทางการเกษตรเป็นพื้นฐาน เพื่อสร้างสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยสิ่งที่ประเทศไทยต้องการจากญี่ปุ่น คือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยได้เปิดช่องทางให้นักธุรกิจญี่ปุ่นที่สนใจสามารถประสานงานได้โดยตรงกับกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย

ด้านพลังงาน ทางญี่ปุ่นมีความสนใจด้านพลังงาน รวมถึงแนวทางการพัฒนาด้านพลังงานของไทยในอนาคต ซึ่งเดิมไทยใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติและปรับมาสู่การใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยแนวโน้มในอนาคตไทยยังคงให้ความสำคัญต่อพลังงานทดแทน แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะถูกลง เนื่องจาก ไทยคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

ในด้านเส้นทางรถไฟ ที่ญี่ปุ่นแสดงความสนใจและสอบถามเกี่ยวกับเส้นทาง ASEAN Economic Corridor รองนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า การพัฒนาเส้นทางดังกล่าวไม่เพียงแต่เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงเท่านั้น แต่เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจตลอดเส้นทาง พร้อมย้ำว่าเส้นทางด้านตะวันออก ผ่านระยอง-มาบตาพุด จะเป็นพื้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยและจะมีการยกระดับขึ้นไปอีกในอนาคต สำหรับเส้นทางสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจะเป็นเส้นทางที่นำไปสู่การพัฒนาเมืองในอนาคต และอยากให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาศึกษาเส้นทางนี้ให้มากขึ้น เพราะจะช่วยเกี่ยวกับการตัดสินใจด้านการลงทุนทางการค้าในอนาคตได้ โดยปัจจุบันมีหลายประเทศให้ความสนใจ ล่าสุดศรีลังกาได้แสดงความประสงค์ที่จะเชื่อมโยงจากโคลัมโบสู่ทวายซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงทางทะเลตลอดเส้นทางด้วย

มีรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายฌีล การาชง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย นำนายบรูโน เบซารด์ อธิบดีกรมธนารักษ์ และอดีตผู้ตรวจการด้านการเงินฝรั่งเศส เข้าเยี่ยมคารวะ จากนั้นมีการหารือในด้านความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสองประเทศ โดยนายสมคิดระบุว่าสองประเทศมีพลวัตอย่างต่อเนื่องในหลายมิติ และในปีนี้ ไทยและฝรั่งเศสได้ดำเนินความสัมพันธ์ครบรอบ 160 ปี ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยและฝรั่งเศสยังมีศักยภาพในหลายด้าน เช่น การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน วิจัยและนวัตกรรม การบิน เป็นต้น

รองนายกรัฐมนตรียังกล่าวขอบคุณฝรั่งเศสที่เชื่อมั่น และแสดงความสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ ของไทยและไทย ยังมีความมุ่งมั่นต่อนโยบายการค้าเสรี (FTA) ขณะนี้ให้ความสำคัญกับการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีในกรอบทวิภาคี โดยทราบว่าเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยได้ร่วมผลักดันเพื่อให้คณะกรรมการธิการยุโรปทบทวนและเปิดการเจราเขตเสรีทางการค้าไทย-สหภาพยุโรป (Thai-EU FTA) ในระดับเทคนิค ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี แสดงความขอบคุณสำหรับการสนับสนุน และหวังว่าการเจรจาระดับเทคนิคจะได้เริ่มในโอกาสแรกเพื่อประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

นายสมคิดยังกล่าวถึงภูมิภาคอาเซียนว่า ปัจจุบันได้รวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจ (AEC) และเป็นความร่วมมือหนึ่งที่สำคัญ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น สิ่งทอ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ประกอบกับปัจจุบันยังมีความร่วมมือในด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเชื่อมต่อทางคมนาคม รวมทั้งเศรษฐกิจ จึงเชิญชวนให้ฝรั่งเศสเข้าร่วมลงทุนในกิจการต่างๆ เพื่อร่วมกันเสริมสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายในอนาคตต่อไปซึ่งทางฝรั่งเศสได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วม


นายบรูโน่ เบซารด์ อธิบดีกรมธนารักษ์และอดีตผู้ตรวจการด้านการเงินสาธารณรัฐฝรั่งเศส เข้าเยี่ยมคารวะรองนายกรัฐมนตรี
กำลังโหลดความคิดเห็น