“พัทยา” จ.ชลบุรี ไม่ได้มีดีแค่สถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลอย่างหาดพัทยา เกาะล้านที่มีหาดทรายให้เดินเล่นรับลมทะเลเย็นๆ ได้เล่นน้ำทะเลกันอย่างสนุกสนาน หรือจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวยามราตรีอันคึกคักไม่เงียบเหงา ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาท่องเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก
อยากจะบอกว่าที่เที่ยวที่พัทยาไม่ได้มีเพียงแค่สายลม แสงแดด และหาดทรายเท่านั้นที่ชวนเที่ยว แต่ว่าพัทยายังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหนึ่งแห่งที่น่าสนใจ เป็นสถานที่จัดแสดงมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม ที่เกี่ยวข้องกับเรือพระราชพิธีอันงดงามล้ำค่า ให้ทุกคนได้มาชื่นชมและภาคภูมิใจกับมรดกทางวัฒนธรรมอันดีงามของชาติไทย
สถานที่เที่ยวที่ว่านี้คือ “ศูนย์แสดงเรือพระราชพิธีจำลอง 4 มิติ” ก่อตั้งโดยคุณจิราเมศร์ โชคสุริยเกียรติ (สุเมธ รังสรรค์พิรุฬห์) ผู้ก่อตั้งเมืองจำลอง ได้มีแนวคิดริเริ่มและสร้างโครงการฯ นี้ขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 รวมแล้วใช้ระยะเวลานานถึง 16 ปีในการสร้างเรือพระราชพิธีจำลองขึ้นมา เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษาในปี 2554 และก็ต้องการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นแหล่งทัศนศึกษาแก่คนไทย เพื่อหวังปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนมีความรักและภาคภูมิใจในความเป็นไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างชาติที่มีความสนใจในศิลปวัฒนธรรมและประเพณีไทย
“ศูนย์แสดงเรือพระราชพิธีจำลอง 4 มิติ” แห่งนี้นำเสนอความรู้เกี่ยวข้องกับเรือพระราชพิธี ซึ่งเป็นพิธีที่สำคัญยิ่งในการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ เป็นกระบวนพยุหยาตราชลมารคที่แสดงให้เห็นถึงศิลปะและวัฒนธรรมอันสูงส่งของชาติไทย ที่สืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณกาล อันเป็นอารยธรรมและวัฒนธรรมที่มีหลักฐานว่ามีพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันยาวนานกว่า 300 ปีมาแล้ว
เมื่อมาเที่ยวที่นี่จะได้สัมผัสกับเรือพระราชพิธีที่งดงามมากมาย โดยภายใน “ศูนย์แสดงเรือพระราชพิธีจำลอง 4 มิติ” ได้แบ่งห้องจัดแสดงออกเป็นหลายโซน มีโซนห้องชมภาพยนตร์ 360 องศา ที่เมื่อเข้ามาภายในห้องนี้จะได้ชมภาพยนตร์ 4 มิติ ด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัย ในรูปแบบภาพยนตร์ Animation แสดงเรื่องราวความเป็นมาของเรือไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน ที่หาชมได้ยากแล้วในปัจจุบัน เป็นการชมภาพยนตร์ผ่านจอยักษ์ที่มองได้รอบตัวแบบ 360 องศา ชวนตื่นตาตื่นใจกับระบบแสง สี เสียง และกลิ่น ที่ชมแล้วได้อรรถรสจริงๆ
แล้วก็มีห้องนิวมัลติมีเดีย ที่จัดฉายภาพยนตร์มัลติมีเดีย ให้ได้ชมถึงความเป็นมาของเรือในยุคต่างๆ และยังได้รู้ถึงความสำคัญของตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ของเหล่าฝีพายบนเรือ เรียกว่า ได้รับความรู้กันอย่างเต็มที่ จากนั้นก็มาชมการจำลองกระบวนพยุหยาตราชลมารค ที่นำเสนอได้อย่างงดงามอลังการ เป็นการจำลองเรือพระราชพิธีต่างๆ จำนวน 52 ลำ ซึ่งเป็นงานประดิษฐ์ที่มีความวิจิตรงดงามเป็นอย่างมาก จากฝีมือการแกะสลักของอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย บุคคลดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2551
สำหรับกระบวนพยุหยาตราชลมารคจำลองนั้น ได้จำลองบรรยากาศให้เหมือนเรือลอยล่องอยู่กลางลำน้ำเจ้าพระยา ยามอรุณเบิกฟ้าฝั่งพระนคร และเคลื่อนลับจากขอบฝั่งธนบุรี พร้อมแสงดาวจากฟากฟ้า และแสงสีของกรุงเทพมหานครยามราตรี อีกทั้งยังมีเสียงกาพย์เห่เรืออันไพเราะสะเนาหูให้ได้ฟัง พร้อมกับเสียงบรรยาย ประวัติความเป็นมาของเรือพระราชพิธีต่างๆ ไว้อย่างครบครัน
รวมถึงยังมีการนำเสนอเรื่อราวต่างๆ ของเรือพระราชพิธีให้ได้รับรู้ และมีเรือพระราชพิธีจำลองที่งดงามล้ำค่า อย่างเช่นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์, เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ที่จำลองมาแบบเต็มรูปแบบ ให้ได้ชื่นชมและถ่ายรูปได้อย่างใกล้ชิด เรียกว่าหากได้มาเที่ยวที่ “ศูนย์แสดงเรือพระราชพิธีจำลอง 4 มิติ” แห่งนี้จะได้สัมผัสกับเรือพระราชพิธีต่างๆ ที่งดงามตระการตา และจะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมแห่งสายน้ำอันล้ำค่าของประเทศไทยเรา
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
“ศูนย์แสดงเรือพระราชพิธีจำลอง 4 มิติ” ตั้งอยู่ที่ 353/54 หมู่ 9 ถนนสุขุมวิท (ตรงข้ามพัทยากลาง ) อ.บางละมุง จ. ชลบุรี การเดินทาง จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นถนนมอเตอร์เวย์แล้วเลี้ยวเข้าถนนสุขุมวิท จากถนนสุขุมวิทวิ่งผ่านถนนพัทยาเหนือก่อนถึงพัทยากลางเลี้ยวซ้ายเข้าซอยสยามคันทรีคลับ ห่างจากปากทางสุขุมวิท 200 เมตร เลี้ยวขวาเข้าโครงการด้านหลังสนามฟุตบอล เปิดทุกวัน เวลา 10.00 - 20.00 น. บัตรเข้าชม คนไทย ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 150 บาท ต่างชาติผู้ใหญ่ 600 บาท โทร. 08-1865-5353 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.miniaturethairoyalbarge.com
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com