xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.วาง 3 มาตรการรับมือภัยแล้ง รับนิคมฯ ลำพูนเสี่ยงสุดเร่งหาน้ำป้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กนอ.วาง 3 มาตรการรับมือภาวะภัยแล้งในนิคมฯ เสี่ยงทั้งภาคเหนือและกลางเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนโดยเฉพาะนิคมฯ ลำพูนที่เสี่ยงสุด เร่งระดมขุดบาดาลจัดซื้อน้ำดิบจากเอกชนป้อน

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กนอ.ได้เตรียม 3 มาตรการรับมือภาวะภัยแล้งในปี 2559 ที่คาดว่าจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ให้ภาคการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลางให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในช่วง มี.ค.-เม.ย.นี้ ซึ่งประกอบด้วย 1. มาตรการการนำน้ำที่ใช้แล้วมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิล 2. มาตรการการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลสำรอง 3. มาตรการการนำน้ำจากแหล่งพื้นที่ใกล้เคียงมาเสริมให้กับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน นับว่ามีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากนิคมฯ ใช้น้ำจากแม่น้ำกวง ซึ่งรับน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำแม่งัดที่ปัจจุบันเหลือปริมาณน้ำในอ่างไม่ถึง 20% ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำรองมีเพียง 400,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยความต้องการใช้น้ำของนิคมฯ ดังกล่าวจะใช้น้ำปริมาณสูงกว่า 60,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากจำนวนสถานประกอบการ 75 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนญี่ปุ่น จำนวน 30 ราย

ล่าสุด กนอ.ได้ให้การต้อนรับ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสุนทร คุณชัยมัง ประจำสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะที่เดินทางไปร่วมประชุมรับฟังการเตรียมการรับมือภัยแล้งและติดตามสถานการณ์น้ำในนิคมฯ ภาคเหนือ โดยนายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนบรรยายสรุปการเตรียมความพร้อมรองรับภัยแล้งเฉพาะนิคมฯ ภาคเหนือ มีดังนี้
1. รักษาปริมาณน้ำ สำรองให้เต็มความจุอ่างน้ำดิบที่ 400,000 ล้านลูกบาศก์เมตร 2. สูบน้ำดิบจากแม่กวงได้วันละ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยคาดว่าสูบได้ถึงสิ้นเดือนมกราคม 2559 3. จัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประหยัดการใช้น้ำประปาโดยไม่ลดกำลังการผลิตของโรงงานที่ใช้น้ำในระดับ 10 อันดับแรก เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา 4. เริ่มใช้ระบบนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ (รียูส) เพื่อนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วมาเก็บไว้ในอ่างน้ำดิบ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ผลิตเป็นน้ำประปา การพัฒนาน้ำบาดาลสำหรับเป็นแหล่งน้ำสำรอง

นอกจากนั้น กนอ.ได้ประสานกรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการสำรวจและขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเห็นควรสำรวจและขุดเจาะบ่อบาดาลจำนวน 1 บ่อในเบื้องต้น เพื่อให้ทราบปริมาณน้ำที่ได้ โดย กนอ.กำหนดเป้าหมายให้สามารถเริ่มสูบน้ำบาดาลมาเก็บไว้ในอ่างน้ำดิบได้ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้ กนอ.อยู่ระหว่างทำสัญญาซื้อน้ำดิบจากบ่อเอกชนในบริเวณใกล้เคียง ปริมาณรวม 300,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำดิบให้นิคมฯ ภาคเหนือภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559
กำลังโหลดความคิดเห็น