ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในประเทศญี่ปุ่น เริ่มกระทบต่อภาคธุรกิจบริการ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ที่เปิดเพื่อรองรับชาวญี่ปุ่นในศรีราชา ชลบุรี หรือ Little Japan หลังชาวญี่ปุ่นที่อาศัยในพื้นที่ประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น จนเริ่มเห็นภาพร้านอาหาร สถานบันเทิงที่เคยมีมากกว่า 100 ร้าน ทยอยปิดให้บริการ เช่นเดียวกับภาพการแข่งขันของธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ที่ในปีหน้าจะแข่งขันเดือดด้านราคา และบริการเพื่อความอยู่รอด จากจำนวนห้องพักใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นถึงหมื่นยูนิต
นายกิตติศักดิ์ กิจโชคเจริญสกุล ประธาน กก.ตร.สภ.ศรีราชา ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาทำธุรกิจ และอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง เผยว่า มาตรการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่นในรอบปีที่ผ่านมา ด้วยการลดค่าเงินเยนเพื่อสนับสนุนให้การส่งออก และการท่องเที่ยวของประเทศญีปุ่นดีขึ้น กำลังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่อชาวญี่ปุ่นในเมืองศรีราชา ซึ่งถูกขนานนามว่า Little Japan ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ร้านอาหาร และสถานบันเทิงที่เปิดขึ้นเพื่อรองรับชาวญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ขณะนี้ต้องทยอยปิดให้บริการ เหตุเพราะชาวญี่ปุ่นในเมืองศรีราชา พากันประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น
“สิ่งที่จะเห็นในปีหน้าคือ ภาพของโครงการที่พักอาศัยต่างๆ ที่จะต้องเจอต่อภาวะการแข่งขันที่รุนแรง และต้องปรับแผนการดำเนินธุรกิจ งานบริการ และการดูแลความปลอดภัยเพื่อดึงดูดให้ชาวญี่ปุ่นยังคงเข้าพักอาศัย ไม่นับรวมในส่วนของโครงการใหม่ๆ ที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ด เพื่อหวังรองรับการเข้ามาของชาวญี่ปุ่นที่หากเสร็จพร้อมกันจะทำให้เมืองศรีราชา มีห้องพักเพิ่มขึ้นอีก 1 หมื่นห้อง จุดนี้จะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีต้นทุนสูงขึ้น ส่งผลต่ออัตราการสร้างผลกำไรที่ลดลง เพราะในวันนี้ชาวญี่ปุ่นมีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้นแล้ว” นายกิตติศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ เพราะในวันนี้เมื่อนักลงทุนญี่ปุ่นประสบปัญหาทางเศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่น และการชะลอตัวของตลาดรถยนต์ในประเทศไทย ก็ทำให้แผนขยายการลงทุนในไลน์ผลิตต่างๆ ต้องชะลอออกไป ส่งผลต่อการเดินทางเข้ามาของกลุ่มคนทำงานชาวประเทศญี่ปุ่นต้องชะลอตามไปด้วย
สอดคล้องต่อการให้ความเห็นของ มร.ชูอิจิ มิยาโน กรรมการผู้จัดการบริษัท ชู ทรานสปอร์ต จำกัด ซึ่งเปิดให้บริการรับให้คำปรึกษาด้านการลงทุนในประเทศไทยแก่ชาวญี่ปุ่น ที่เผยว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นจะซบเซา แต่นักลงทุนรายใหญ่โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์จากประเทศญี่ปุ่นก็ไม่มีแนวคิดที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากไทย เพียงแต่ผู้ประกอบการบางรายจำเป็นต้องเปลี่ยนไลน์การผลิตเพื่อให้สอดคล้องต่อตลาดรถยนต์ในประเทศไทย เช่นเดียวกับการมองว่า เมืองศรีราชา ยังคงเป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัยจากปัจจัยเรื่องความสะดวกด้านที่พัก ความปลอดภัย การมีร้านค้า ร้านอาหาร และสนามกอลฟ รวมทั้งสถานพยาบาลที่ครบครัน
แต่เมื่อถามว่าภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ซบเซามีผลต่อชาวญี่ปุ่นหรือไม่ คำตอบคือ มีผลกระทบบ้างแต่ไม่มากนัก เพราะชาวญี่ปุ่นมีพื้นฐานด้านการประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอยู่แล้ว ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง คือ กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารญี่ปุ่นในเมืองศรีราชาที่ส่วนใหญ่เป็นของชาวไทย ที่เห็นว่าในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวจาก 40 ร้าน เป็น 70-80 ร้าน และเมื่อรวมกับสถานบันเทิงก็พบว่ามีมากถึง 100 ร้าน ที่ขณะนี้ต้องทยอยปิดตัวลง เพราะชาวญี่ปุ่นได้ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป
“เดิมที่เดียวเราเคยเช็กจำนวนห้องพักในศรีราชาว่ามีประมาณ 1 หมื่นยูนิต แต่ในวันนี้หากโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ ที่กำลังขึ้นใหม่แล้วเสร็จ จะทำให้เมืองศรีราชามีจำนวนห้องพักเพิ่มเป็นเท่าตัว ขณะที่คนญี่ปุ่นที่อยู่ในพื้นที่จริงๆ มีแค่ 7 พันถึง 1 หมื่นคน จึงเชื่อว่านักลงทุนเหล่านี้จะได้รับผลกระทบแน่ๆ”
มร.ชูอิจิ ยังเผยอีกว่า ข่าวการเข้ามาลงทุนด้านห้องพัก และธุรกิจต่างๆ รวมทั้งการซื้อที่ดินขนาดใหญ่ในอำเภอศรีราชาของชาวญี่ปุ่นเพื่อลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีอย่างต่อเนื่องล้วนเป็นข่าวลือทั้งสิ้น เพราะเมืองศรีราชา สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว คือ เมืองสำหรับการอยู่อาศัย โดยขณะนี้ยืนยันได้ว่า ธุรกิจที่ชาวญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในศรีราชามีเพียง 2 ประเภท คือ เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และร้านอาหาร โดยกลุ่มทุนญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจด้านโรงแรมได้เข้าเทกโอเวอร์โรงแรมเดอะซิตี้ ศรีราชา และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์อีกแห่งใจกลางเมืองศรีราชาเท่านั้น ส่วนธุรกิจร้านอาหารที่เป็นของชาวญี่ปุ่น 100% ก็มีอยู่น้อยมาก และส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร
“ขณะนี้การลงทุนจากญี่ปุ่นที่เข้ามาในเมืองไทยขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ โดยบางบริษัทที่ยังคงสามารถสร้างผลกำไรได้ก็ขยายการลงทุนเพิ่ม แต่ธุรกิจที่ยังไม่สามารถสร้างผลกำไรได้ก็จะชะลอการลงทุนไปก่อน ซึ่งในวันนี้เมืองศรีราชา ไม่มีจำนวนนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาอาศัยลดลง เพียงแต่ไม่มีกลุ่มนักลงทุนใหม่เข้ามาพักเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น”
มร.ชูอิจิ บอกอีกว่า สิ่งที่ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นกังวลในขณะนี้ก็คือ การมีสหภาพแรงงานของคนไทยที่มักเรียกร้องในสิ่งที่สร้างความเสียหายให้แก่บริษัทฯ และอาจทำให้นักลงทุนบางรายเบื่อหน่ายถึงขั้นย้ายฐานลงทุน ส่วนการปรับขึ้นภาษีรถยนต์ในปีหน้าก็ทำให้ภาคการลงทุนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของกลุ่มทุนญี่ปุ่นมีความกังวลในระดับหนึ่ง แต่นักลงทุนก็ยังมั่นใจว่าเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ AEC แล้วการนำเข้า และส่งออกจะได้รับการยกเว้นภาษี และเชื่อว่าในปีหน้าเศรษฐกิจของไทยน่าจะดีขึ้น จึงยังมีความหวังกต่อการลงทุนในประเทศไทยอยู่
“อีกสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต้องการก็คือ ความชัดเจนของรัฐบาลว่าจะทำงานต่อเนื่องในระยะยาว หรือจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ตอนนี้ชาวญี่ปุ่นในบางส่วนคนข้างเป็นกังวลเรื่องการเลือกตั้งในประเทศไทย เพราะการเลือกตั้งทุกครั้งมักมีปัญหา จึงอยากได้ความมันชัดเจนว่าหากรัฐบาลทหารจะบริหารประเทศก็ให้บริหารในระยะยาวไปเลยเพื่อจะได้รู้ว่าเศรษฐกิจจะเดินไปในทิศทางใด อย่างไรก็ดี ขณะนี้ชาวญี่ปุ่นมีความเห็นเป็นหลายส่วน บางส่วนก็บอกว่าการบริหารประเทศของรัฐบาลทหารในยุคนี้โอเคแล้ว แต่บางคนก็บอกว่า ทหารอาจทำธุรกิจไม่ได้ เพราะยังกังวลเรื่องสิทธิทางการค้า” มร.ชูอิจิ กล่าว