xs
xsm
sm
md
lg

เหมราชฯ ลุ้น Q4 ดันขายที่เข้าเป้า 1.2 พันไร่ คาดรายได้จากดำเนินงานต่ำกว่าปีก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เหมราชฯ” คาดรายได้จากการดำเนินงานในปีนี้ใกล้เคียง หรือลดลงจากปีก่อนที่ 8.8 พันล้านบาท ลุ้นครึ่งปีหลังขายที่ดินพุ่งดันเป้าทั้งปี 1.2 พันไร่ หลังมีสัญญาณดีจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ทุ่ม 2.4 พันล้านบาท ผุดโรงไฟฟ้า SPP 7 โรง ทยอยเสร็จปี 2560

นายเผ่าพิทยา สมุทรกลิน ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผน และนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) (HEMRAJ) เปิดเผยว่า บริษัทฯ มั่นใจว่ายอดขายที่ดินในครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบ 6 เดือนแรกปีนี้ที่ขายที่ดินได้เพียง 297 ไร่ ทำให้ยังคงเป้าหมายการขายที่ในนิคมฯ ปีนี้อยู่ที่ 1.2 พันไร่ เนื่องจากมีสัญญาณที่ดีจากการมีรัฐบาลใหม่ ทำให้ความเชื่อมั่นช่วงนี้ดีขึ้น ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่น และจีนกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง แต่ปัญหาเรื่องกฎอัยการศึกที่ทำให้นักลงทุนจากยุโรป และสหรัฐฯ ยังคงไม่เข้ามาลงทุน

“ขณะนี้นักลงทุนที่ชะลอการตัดสินใจลงทุนเริ่มกลับเข้ามา เป็นผลมาจากบีโอไอที่อนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุนโครงการต่างๆ ที่ค้างอยู่ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่จะออกมาจากภาครัฐ เชื่อว่าไตรมาส 4 นี้จะมียอดขายที่ดินเพิ่มขึ้นดันยอดขายให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ใหม่ 1.2 พันไร่”

ทำให้รายได้จากการดำเนินงานในปีนี้คาดว่าจะใกล้เคียง หรือลดลงเมื่อเทียบจากปีก่อนที่มีรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 8.8 พันล้านบาท แต่รายได้รวมจะต่ำกว่าปีก่อนที่มีรายได้รวม 1.2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปีนี้ไม่มีรายได้จากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนอสังหาริมทรัพย์ 4.7 พันล้านบาท เหมือนปี 2556 ปัจจุบัน บริษัทฯ มียอดขายที่ดินรอโอน (Backlog) จำนวน 1.1 พันไร่ ซึ่งจะมีการโอนในปีนี้ 70%

แม้ว่ายอดโอนที่นิคมฯ จะลดลงจากปีก่อน แต่บริษัทฯ มีรายได้อื่นๆ เพิ่มขึ้น ทั้งรายได้จากสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้น 13% ธุรกิจไฟฟ้ารับรู้เป็นกำไรสุทธิในปีนี้ 1.3-1.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 50% ส่วนรายได้จากโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่า คงใกล้เคียงปีก่อน เนื่องจากครึ่งปีแรกไม่ค่อยดี

นายเผ่าพิทยา กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ ได้ตั้งลงทุน 2,400 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) จำนวน 7 โครงการๆ ละ 125 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายไฟได้ภายในปี 2560 ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะร่วมกับพันธมิตรในประเทศ โดยบริษัทฯ จะถือหุ้นประมาณ 25% ในแต่ละโครงการ ใช้เวลาก่อสร้าง 2-3 ปี คิดเป็นการลงทุนเฉลี่ยปีละ 800 ล้านบาท
  

ส่วนปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดนั้น บริษัทได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อนิคมเหมราชฯ เนื่องจากน้ำในเขื่อนยังมีปริมาณไม่สูงมาก และปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสักยังแห้งอยู่เมื่อเทียบกับปี 2554


กำลังโหลดความคิดเห็น