xs
xsm
sm
md
lg

ผ่านแผนโด๊ปเขตศก.พิเศษ จีบญี่ปุ่นลงทุน รถไฟขนสินค้าเชื่อมทวาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - ครม.เห็นชอบนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษรวมกลุ่มซูเปอร์คลัสเตอร์ ทั้งมาตรการลดหย่อนภาษีสูงสุด 15% และสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น พิจารณาให้ถิ่นที่อยู่ถาวรสำหรับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับนานาชาติ อนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม “สมคิด”จีบญี่ปุ่นลงทุนรถไฟขนส่งสินค้าสายมาบตาพุด-กาญจนบุรี หวังเชื่อมต่อไปยังเขตศก.พิเศษทวาย เตรียมควงเอกชนไทยบุกญี่ปุ่นเดินทางไปโรดโชว์ ปลายต.ค.นี้หรือต้นพ.ย.

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในรูปแบบคลัสเตอร์ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้เป็นซูเปอร์คลัสเตอร์ หรือ สำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ในพื้นที่ 9 จังหวัด ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถสร้างความแข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นได้ทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพราะการรวมกลุ่มอยู่ในพื้นที่เดียวกันจะจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมลดต้นทุนทางการผลิต และเสริมศักยภาพซึ่งกันและกันได้มากขึ้น

กลุ่มอุตสาหกรรมซูเปอร์คลัสเตอร์ ประกอบด้วย ยานยนต์และชิ้นส่วน/ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม/ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม/ ดิจิทัล/ Food Innopolis / และ Medical Hub ในพื้นที่ 9 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครราชสีมา เชียงใหม่ และภูเก็ต

โดยอุตสาหกรรมที่เป็น ซูเปอร์คลัสเตอร์ จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี โดยการยกเว้นสิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อน 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปี สำหรับกิจการเพื่ออนาคตที่มีความสำคัญสูงกระทรวงการคลังจะพิจารณายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 10-15% ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับนานาชาติที่ทำงานในพื้นที่ที่กำหนด ทั้งคนไทยและต่างชาติ

ส่วนคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอื่นที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย เกษตรแปรรูป ซึ่งจะแบ่งตามภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนล่างภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนคลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งกระจายตามภูมิภาคที่เหมาะสม โดยกลุ่มนี้จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-8 ปี และลดหย่อน 50%เพิ่มเติมอีก 5 ปี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร

ด้านสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษี ทั้งซุปเปอร์คลัสเตอร์และกลุ่มอื่นจะได้รับสิทธิเหมือนกัน คือ จะพิจารณาให้ถิ่นที่อยู่ถาวร สำหรับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับนานาชาติ และอนุญาตให้ต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม

อย่างไรก็ตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับสิทธิประโยชน์เหล่านี้ มีเงื่อนไขว่าจะต้องร่วมมือกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ที่อยู่ในคลัสเตอร์ เพื่อสนับสนุนบุคลากรและยกระดับเทคโนโลยี และต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในสิ้นปี 2559 และต้องเริ่มดำเนินการภายในสิ้นปี 2560 เพื่อเร่งรัดให้เกิดการลงทุนโดยเร็ว แต่ในกรณีที่มีความจำเป็น เช่น เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ พิจารณาผ่อนปรนตามความเหมาะสมได้.

*** ดึงญี่ปุ่นลงทุน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในระหว่างการพบปะนักลงทุนญี่ปุ่นประมาณ 500 รายที่กระทรวงอุตสาหกรรมจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ก.ย. ว่า ได้เสนอผ่านฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยและนักลงทุนญี่ปุ่นว่าไทยพร้อมที่จะสนับสนุนให้ญี่ปุ่นลงทุนสร้างเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าโดยเฉพาะในเส้นทางตั้งแต่กาญจนบุรี -ราชบุรี-เพชรบุรี-ลาดกระบัง-แหลมฉบัง -มาบตาพุด และเส้นนี้ยังเชื่อมต่อไปยังเขตศก.พิเศษทวาย ซึ่งกระทรวงคมนาคมกำลังศึกษารายละเอียดอยู่

“ไทยเองต้องการเชื่อมการค้าและการลงทุนจากตะวันออกและตะวันตก หรือ”อีสต์-เวสต์คอริดอร์” ซึ่งมี 2 ระดับในไทยคือเส้นบน ผ่านมุกดาหาร ภาคอีสาน ไปยังเขตศก.แม่สอด จ.ตากไปเชื่อมเมียนมาร์ ส่วนเส้นล่างกาญจนบุรี ราชบุรี ลาดกระบัง-มาบตาพุดซึ่งเส้นล่างอยากให้ญี่ปุ่นทำแต่ก็อยู่ที่ตัดสินใจ ช่วงปลายเดือนต.ค.หรือต้นพ.ย.ผมเองจะพานักลงทุนไทยไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นและคงจะไปถามเรื่องนี้ต่อเพราะถ้าญี่ปุ่นไม่สนใจทางไทยเองก็พร้อมที่จะลงทุนเองแต่เห็นว่าญี่ปุ่นมีความสนใจทำรถไฟฟ้าความเร็วสูงแล้วลองมาพิจารณารถไฟขนสินค้าเส้นนี้ดูผมว่ามันมีศักยภาพมากกว่ารถไฟความเร็วสูงอีกเพราะโรงงานส่วนใหญ่ก็เป็นของญี่ปุ่นอยู่แล้ว”นายสมคิดกล่าว

ทั้งนี้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนไทยมีมูลค่าสูงถึง 40% ของมูลค่าลงทุนทั้งหมด และเข้ามาอย่างต่อเนื่องแบ่งเป็น 3 ระลอกและในระยะนี้ถือเป็นระลอกที่ 3 โดยไทยนั้นมีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการลงทุนใหม่เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศโดยแบ่งเป็น 3 แนวทางสำคัญได้แก่ 1. จะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นมูลค่าสูง นวตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น และสร้างให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรม(Cluster) และผนวกเข้ากับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)จะออกนโยบายต่างๆ มาจูงใจให้เป็นไปตามเป้าหมาย

2.การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคนี้และอื่นๆ ตั้งแต่จีน เชื่อมลงไปยังสิงคโปร์ และไปยังพม่าและอินเดีย รัฐบาลไทยจึงลงทุนระบบคมนาคม(ลอจิสติกส์)ที่จะเชื่อมต่อกับประเทศรอบข้างเหล่านี้ทั้งหมดและหนึ่งในเส้นทางดังกล่าวที่ไทยต้องการให้เกิดก็คือเส้นทางที่ได้เสนอญี่ปุ่นให้ดำเนินการครั้งนี้โดยอนาคตเชื่อมั่นว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางของตลาดการค้าและการส่งออกสำคัญในการเชื่อมโยงในภูมิภาคนี้

3.รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(SMEs) โดยได้ทยอยออกแพคเกจในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและเห็นว่าSMEs ญี่ปุ่นสามารถที่จะมาเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับSMEs ไทยได้เป็นอย่างดีโดยได้มอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมและบีโอไอหาคู่ค้าที่ดีให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นเพื่อให้เกิดการจับคู่ธุรกิจในการที่จะพัฒนาระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ไปด้วยกันในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น